ปัจจุบันนอกจากคนไทยจะหันมาใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้นแล้ว การวางแผนเรื่องการทำประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ และประกันสุขภาพ ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นกัน สะท้อนจากสถิติการชำระเบี้ยประกันภัยตั้งแต่ปี 2011 – 2020 ที่มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.68% ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับสังคมไทย อย่างเช่น การสร้างหลักประกันยามเจ็บป่วยและไม่สร้างภาระให้แก่ลูกหลานเมื่อยามชรา ทำให้ลูกหลานมีเงินเหลือไปเก็บออมหรือลงทุนมากขึ้นได้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การลงทุนต้องพิจารณาและศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจลงทุนฉันใด การซื้อประกันก็ต้องพิจารณาให้ดีฉันนั้น เพื่อให้เบี้ยประกันที่เราจ่ายไปไม่สูญเปล่าและสามารถสร้างความคุ้มครองให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้
ก่อนเลือกประกันต้องดูว่าเรามีความคุ้มครองอะไรแล้วบ้าง
สิ่งสำคัญก่อนที่จะตัดสินใจซื้อประกันประเภทใดก็ตาม คือ การรวบรวมข้อมูลความคุ้มครองที่ตนเองมี ณ ปัจจุบันก่อนตัดสินใจ เพื่อไม่ให้ประกันเหล่านั้นไปทับซ้อนกับความคุ้มครองที่มีอยู่เดิมหรือคุ้มครองมากจนเกินจำเป็นและนำงบประมาณไปใช้กับความคุ้มครองส่วนอื่นที่ขาดไปหรือไปลงทุนเพิ่มเติมได้
โดยทั่วไปแล้วมนุษย์เงินเดือนมักมีสวัสดิการประกันกลุ่มจากบริษัทนายจ้าง ซึ่งอาจคุ้มครองทั้งด้านสุขภาพและอุบัติเหตุ โดยครอบคลุมทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก อย่างประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่มนุษย์เงินเดือนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิหรือเครือข่ายของสถานพยาบาลนั้นๆ อีกทั้งยังได้รับเงินช่วยเหลือสำหรับการคลอดบุตรและกรณีทุพพลภาพอีกด้วย โดยต้องจ่ายเงินสบทบมาไม่น้อยกว่า 15 เดือน และ 6 เดือนตามลำดับ จากนั้นเมื่อเราเก็บรวบรวมข้อมูลความคุ้มครองที่มีอยู่เดิมเรียบร้อยแล้ว จึงตัดสินใจเลือกแบบประกันที่สนใจต่อไป
วงเงินคุ้มครองของประกันที่มีอยู่เพียงพอหรือไม
แต่หากจำเป็นต้องรักษาโรคเหล่านี้ ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลจะสูงมาก ทั้งนี้หากมีงบประมาณที่จำกัด แต่ยังต้องการความคุ้มครองสุขภาพสำหรับการรักษาโรคร้ายแรงต่างๆ ในวงเงินสูง และยังสามารถใช้ประโยชน์ความคุ้มครองจากสวัสดิการนายจ้างหรือบริษัทต้นสังกัดที่มีอยู่แล้ว อาจพิจารณาแบบประกันสุขภาพที่มี “ความรับผิดส่วนแรก” ได้ เพื่อเป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกันสุขภาพ และยังได้ความคุ้มครองในวงเงินเท่าที่ตนเองต้องการโดยยังสามารถใช้สวัสดิการที่มีอยู่ควบคู่ไปได้อีกด้วย
ข้อดีของประกันสุขภาพที่มีความรับผิดส่วนแรก
ความรับผิดส่วนแรก (Deductible) ในด้านของประกันสุขภาพ หมายถึง ให้ผู้เอาประกันภัยออกค่าใช้จ่ายในการรักษาไปก่อน โดยหากค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ บริษัทผู้รับประกันภัยจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มเติมให้กับผู้เอาประกันภัย วิธีนี้จะช่วยให้ผู้เอาประกันสามารถประหยัดค่าเบี้ยประกันสุขภาพได้มากขึ้น หากมีวงเงินความรับผิดส่วนแรกมาก
เช่น หากแผนประกันสุขภาพสำหรับผู้เอาประกันเพศชายอายุ 34 ปีของบริษัท A มีวงเงินคุ้มครองสุขภาพแบบเหมาจ่ายปีละ 500,000 บาท ค่าเบี้ยปกติ 12,936 บาทต่อปี หากต้องการเลือกให้มีความรับผิดส่วนแรกวงเงิน 20,000 บาท ค่าเบี้ยจะลดลงเหลือ 9,216 บาท ซึ่งประหยัดค่าเบี้ยไปได้ราว 30% และหากเลือกความรับผิดส่วนแรก 50,000 บาท ค่าเบี้ยประกันจะเท่ากับ 6,708 บาท จะประหยัดค่าเบี้ยประกันไปได้ราว 50% อีกด้วย ซึ่งหากผู้เอาประกันภัยมีสวัสดิการจากนายจ้างก็สามารถนำมาใช้ในส่วนของความเสียหายส่วนแรกได้ และยังสามารถมาเบิกกับประกันสุขภาพที่ทำเพิ่มไว้ หากค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาเกินสวัสดิการที่ได้รับอีกด้วย
ในปัจจุบันทั้งมนุษย์เงินเดือน รวมถึงบริษัทเอกชนต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับหลักประกันสุขภาพมากขึ้น จึงเกิดสวัสดิการต่างๆ มากมาย อย่างไรก็ดีด้วยค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ลูกจ้างจึงจำเป็นต้องทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมไว้ ซึ่งการตัดสินใจเลือกแบบประกันที่มีความรับผิดส่วนแรก จะช่วยให้สามารถบริหารค่าเบี้ยประกันที่จ่ายออกไป หรือสามารถเพิ่มหลักประกันให้กับตนเองและครอบครัวได้อีกด้วย
ภาพที่ 1: สถิติเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2563
ที่มา: สมาคมประกันชีวิตไทย
==================================================
เผยแพร่ครั้งแรกในบทความ Health is Wealth กรุงเทพธุรกิจ