“ลาวัณย์ อุปอินทร์” ศิลปินในราชสำนัก สู่ศิลปินแห่งชาติ
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 40 | คอลัมน์ People
ด้วยเส้นและสีที่ประกอบเป็นภาพพอร์เทรตซึ่งถ่ายทอดบุคลิกเฉพาะของแต่ละบุคคลออกมาได้อย่างไร้ที่ติ คือ จุดเด่นของผลงานภาพเหมือนฝีมือ อาจารย์ลาวัณย์อุปอินทร์ ศิลปินหญิงคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2559 ผลงานกว่า 200 ภาพ ตลอดช่วงชีวิตของอาจารย์ซึ่งได้จัดแสดงงานครั้งล่าสุดอยู่ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นเสมือนคำบอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่ผ่านทั้งร้อนหนาวมายาวนานกว่า 80 ปี
จากเด็กหญิงผู้หลงรักการวาดการ์ตูน สู่ลูกศิษย์ ครูผู้ช่วย และเป็นล่ามให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ทั้งยังเป็นผู้หญิงคนแรกของเมืองไทยที่จบปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอาจารย์ผู้หญิง 1 ใน 2 คนของมหาวิทยาลัยศิลปากรในยุคปี พ.ศ. 2502 ร่วมกับสุวรรณี สุคนธา ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นจิตรกรผ่านการสอนศิลปะทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม แต่ความภูมิใจยิ่งใหญ่สูงสุดในชีวิตของอาจารย์ลาวัณย์ คือ การได้ถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในฐานะศิลปินในราชสำนัก
บนเนื้อที่ 100 กว่าตารางวาในซอยวังเดิม 3 ย่านบางกอกใหญ่ คือ บ้านหลังกะทัดรัดของอาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ ห้องทำงานที่องศาของแสงแดดผ่านกระจกลงมากระทบเกิดแสงเงาที่อบอุ่น ฝีมือการดีไซน์ของลูกสาวคนเล็ก องค์อร อุปอินทร์ ช่างภาพมือดีที่ตอนนี้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในฝรั่งเศส เสียงเนิบช้าของอาจารย์ลาวัณย์เล่าว่า “ปกตินั่งทำงานในห้องนี้ตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงห้าโมงเย็น แต่ตอนนี้ยุ่งกับนิทรรศการ (นิทรรศการภาพเขียน “ลาวัณย์ อุปอินทร์” และ “สมโภชน์ อุปอินทร์” ซึ่งจัดอยู่ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ) เลยไม่ค่อยได้เขียน” อาจารย์ลาวัณย์เคยจัดแสดงผลงานเดี่ยวมาทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกคือในปี พ.ศ. 2508 ที่บางกะปิแกลเลอรี ครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2556 ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และครั้งนี้ อาจารย์กล่าวติดตลกและตรงไปตรงมาตามสไตล์ตัวเองว่า “คือดิฉันกลัวว่าจะตายไปเสียก่อนเลยอยากจะจัดแสดงอีกหนหนึ่ง ซึ่งคงเป็นครั้งสุดท้าย ต่อไปนี้คงไม่จัดเองเวลาใครเขาแสดงแล้วมาชวนร่วมแสดงคงอย่างนั้นมากกว่า” โดยงาน
“คือตอนนั้นดิฉันจัดรายการสอนวาดเขียนอยู่ 3 รายการที่ช่อง 4 บางขุนพรหม ค่อนข้างเป็นที่รู้จักสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงเป็นแฟนรายการเขียนรูปประกอบละครเราก็ดีใจมาก ตั้งแต่นั้นพอมีงานอะไรพระองค์ท่านก็รับสั่งให้เราเข้าไปในวัง”
ครั้งนี้รวบรวมผลงานในชีวิตของอาจารย์ลาวัณย์ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับจ้างเขียน แต่มักจะเขียนภาพพอร์เทรตผู้ที่อาจารย์ชื่นชมศรัทธา เช่น ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ คุณเสนีย์ เสาวพงศ์คุณทองใบ ทองเปาด์ ฯลฯ โดยได้ อิศร์ อุปอินทร์ ลูกชายคนโตซึ่งเป็น 1 ใน 5 สไตลิสต์ชื่อดังของเมืองไทยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดนิทรรศการ
ภาพเขียนล่าสุดในห้องทำงาน ที่ขณะนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ คือ พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อถามถึงความรู้สึกของการได้ชื่อว่าเป็นศลิปนิในราชสำนักอาจารย์ลาวัณย์ตอบเสียงกลั้วหัวเราะว่า “ไม่มีใครมาตั้งหรอกค่ะ มีคนมาเรียกกันเอง เพราะเหน็ ว่าดิฉันมีโอกาสไปถวายงานทั้งสองพระองค์อยู่หลายปี”
อาจารย์เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าไปถวายงานว่า “ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2507 – 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานศิลปกรรมแห่งชาติ ดิฉันเป็นอาจารย์อยู่ที่ศิลปากร ได้มีงานร่วมแสดงอยู่ด้วย เป็นภาพพอร์เทรตคุณแม่ (ม.ร.ว.อบลออ ดาวราย) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทอดพระเนตรรูปนี้แล้วรับสั่งกับท่านหวาน-หม่อมเจ้าการวิกจักรพันธุ์ว่าชอบสวยดีท่าทางดูเป็นคุณหญิงคุณนายดี
ท่านหวานทูลถามว่าทรงอยากรู้จักคนเขียนไหม แล้วก็มาตามดิฉันไปพอไปถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ตรัสว่า ‘อ้าว ฉันคิดว่าผู้ชายเขียนไม่คิดว่าเป็นผู้หญิง แล้วก็เป็นอาจารย์ลาวัณย์ด้วย ฉันเป็นแฟนอาจารย์อยู่นะ’ คือตอนนั้นดิฉันจัดรายการสอนวาดเขียนอยู่ 3 รายการที่ช่อง 4 บางขุนพรหม ค่อนข้างเป็นที่รู้จัก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงเป็นแฟนรายการเขียนรูปประกอบละคร เราก็ดีใจมาก ตั้งแต่นั้นพอมีงานอะไรพระองค์ท่านก็รับสั่งให้เราเข้าไปในวัง แล้วสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯก็ทรงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่าชอบฝีมืออาจารย์ลาวัณย์ ภายหลังในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีพระราชดำรัสให้ดิฉันเขียนภาพพระบรมวงศานุวงศ์ 4 ภาพ จากรูปขนาดโปสการ์ดเป็นสีซีเปียที่พระราชทานมา คือ ภาพสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ สมเด็จพระราชบิดากรมหลวงสงขลานครินทร์ และเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย ในปี พ.ศ. 2513” ซึ่งปัจจุบันภาพทั้งหมดอยู่ในวังสวนจิตรลดา
“พอวาดภาพเสร็จ ทรงพระราชทานเงินให้ 5 หมื่นบาท สมัยก่อนเยอะมากนะคะ ตอนนั้นราคาทองบาทละ 400 เท่านั้น ดิฉันจึงได้เอาเงินมาปลูกบ้านหลังนี้” อาจารย์ยังเล่าอีกว่า เมื่อถวายงานแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทอดพระเนตรแล้วพระราชทานคำแนะนำทรงพอพระทัย
ที่ใช้สีได้ดีแต่ทรงทักว่าสายตาอาจารย์เอียงหรือเปล่า “ดิฉันก็กราบทูลพระองค์ท่านว่าไม่ได้มีปัญหาสายตาเอียง แต่ก็ทูลถามพระองค์ท่านว่าทำไมทรงคิดว่าหม่อมฉันสายตาเอียง พระองค์ท่านรับสั่งว่าทุกรูปที่อาจารย์เขียน จมูกกับปากดูผิดปกติหน่อยๆ เราก็ยังคิดว่าสายตาปกติดแต่ท่านทรงตงิ มาเราก็พยายามแกง้านจนกระทั้งมาตอนอายุมากแล้วไปทำแว่นสายตา หมอบอกว่าสายตายาวแล้วก็ยังเอียงอีกข้าง (หัวเราะ) คือพระองค์ท่านทรงมีสายพระเนตรที่แม่นมาก และบอกเรามาเป็นสิบปีแล้ว”
หลังจากนั้นอาจารย์ลาวัณย์ยังได้ถวายงานให้กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ โดยวาดภาพเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศจากภาพเล็กๆ สีซีเปียที่พระองค์ท่านทรงค้นเจอซึ่งอาจารย์กล่าวว่างานชิ้นนี้ถือเป็นมาสเตอร์พีซเลยก็ว่าได้ เพราะต้องค้นคว้าเพิ่มเติมให้ได้รายละเอียดของภาพอย่างครบถ้วนปัจจุบันภาพนี้ติดตั้งอยู่ที่พระตำหนักวิมานเมฆ และอาจารย์ยังได้วาดภาพอื่นๆ ถวายอีกหลายภาพ รวมทั้งภาพพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่สเก็ตซ์จากพระองค์จริงแล้วมีแบ็คกราวน์เป็นทะเลซึ่งภาพนี้แขวนประดับอยู่ที่วังไกลกังวล
เมื่อถามถึงการวาดภาพบุคคลในแนวทางของอาจารย์ลาวัณย์อย่างแรกเลยบุคคลนั้นต้องเป็นบุคคลที่น่ายกย่องและศรัทธา ก่อนวาดภาพอาจารย์ลาวัณย์มักจะต้องรู้จักและได้พูดคุยกับคนๆ นั้นก่อนเสมอเมื่อถามถึงภาพวาดในหลวงรัชกาลที่ 9 อาจารย์เล่าว่า “ดิฉันเคยตามเสด็จฯ เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระองค์ท่านเป็นเวลา 3 ปีเต็มๆ มาหยุดไปก็เมื่อมีลูก สมัยนั้นไปไหนพระองค์ท่านก็โปรดให้ตามเสด็จฯ ไปด้วย ทรงเรียกดิฉันว่าอาจารย์ตลอดจนคนในวังก็พากันเรียกอาจารย์หมด” อาจารย์ยังได้เล่าหนึ่งในเหตุการณ์ตามเสด็จที่ประทับใจว่า “มีอยู่หนหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปทรงแจกผ้าห่มให้ชาวเขาที่เชียงใหม่ดิฉันก็ตามเสด็จฯ ไปด้วย เราเห็นได้เลยว่าพวกชาวเขาเทิดทูนพระองค์ท่านมากๆ พอเขาได้รับพระราชทานผ้าห่มจากพระองค์ท่านแล้ว
เขาก็ก้มลงกอดแทบพระบาทของพระองค์ท่าน ภาพที่เราเห็นในขณะนั้นเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก คือไม่ได้ร้องไห้นะแต่น้ำตามันไหลออกมาเอง” ดังนั้นแต่ละภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่อาจารย์วาดจึงสื่อถึงความรู้สึกเหล่านั้นออกมาทุกประการ “พระองค์ท่านทรงทำทุกอย่างเพื่อประชาชน ทรงมีพระเมตตาที่พวกเราทุกคนสัมผัสได้เมื่อพระองค์ท่านสวรรคต ข้างในดิฉันมันโหวงไปหมด แต่ไม่ร้องไห้เลยน้ำตามันคงตกใน…” และด้วยเหตุที่ได้ตามเสด็จฯ อยู่หลายปี อาจารย์จึงมีผลงานเขียนรูปถวายอยู่ตามพระตำหนักต่างๆ อยู่มากมายพอสมควร เป็นสิริมงคลและเป็นเกียรติประวัติในชีวิตการทำงาน