เกษียณต้องรอด! มีเงินเหลือใช้ เจ็บป่วยโรคร้ายก็จ่ายไหว ด้วยแผนการเงินตอบโจทย์ชีวิตวัยเกษียณ
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 63 | คอลัมน์ Exclusive
นิตยสาร TRUST ฉบับที่แล้วได้นำเสนอวิกฤตการณ์ทางการเงินของคนไทยในวัยเกษียณ ซึ่งขาดแคลนทั้งเงินและการวางแผนสุขภาพเพื่อดูแลตัวเองในระยะยาว จนกดทับให้ช่วงบั้นปลายชีวิตต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ “เกษียณไม่รอด” ฉบับนี้เราจะมาแก้ปมปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้คนไทยมีเงินเหลือใช้ หมดห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพและโรคร้าย ด้วยแผนการเงินที่มีศักยภาพสำหรับชีวิตวัยเกษียณที่ดีกว่าเดิม
จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยของ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” แต่กลับขาดการวางแผนทางการเงินที่ดี ทำให้ชีวิตในวัยเกษียณไม่มีรายได้เพียงพอที่จะดูแลตัวเองได้อย่างมีคุณภาพนั้น นับเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต่างตระหนัก และพยายามหาแนวทางแก้ไข ดังนั้น นิตยสาร TRUST ฉบับนี้ จึงได้สัมภาษณ์ผู้บริหารจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หน่วยงานที่มีภารกิจในการเป็นแหล่งระดมเงินทุน สร้างความมั่งคั่ง รวมไปถึงให้ความรู้และสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชนคนไทย และธนาคารทิสโก้ สถาบันการเงินที่ให้ความสำคัญต่อการวางแผนเกษียณแบบเมกะเทรนด์ ซึ่งมีศักยภาพสำหรับการสร้างความมั่งคั่งทางสุขภาพและการเงิน ในระยะยาว ถึงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ
การเงินของคนไทยอยู่ในภาวะเปราะบาง
คุณพรรณวดี ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เล่าถึงผลสำรวจจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าในปี 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 12.5 ล้านคน มากกว่าเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ที่มีจำนวน 11.1 ล้านคน โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพารายได้จากคนอื่น มีเพียงผู้สูงอายุ 1.5% เท่านั้น ที่สามารถสร้างเงินออมเป็นรายได้หลักเพื่อดูแลตนเองหลังเกษียณ ไม่เพียงเท่านี้ จากการคำนวณพบว่า หากผู้สูงอายุต้องการมีชีวิตที่ประคองตัวอยู่ได้ในอนาคต ก็ควรจะเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณขั้นต่ำ 4,186,064 บาท หรือมีเงินใช้วันละ 500 บาท หรือเดือนละ 15,000 บาท ไปอีก 20 ปี อย่างไรก็ตามจากการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของสังคมไทยอย่างรวดเร็วและรุนแรงทั้งจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เทคโนโลยีดิสรัปชัน และวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้สถานการณ์การเงินของคนไทยอยู่ในภาวะเปราะบาง ดังนั้น การจะมีเงินในระดับที่อยู่รอดได้ในวัยเกษียณ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด
ประกอบกับพฤติกรรมการวางแผนการเงินของคนไทย ก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งความเป็นอยู่ในวัยเกษียณด้วย จากการสำรวจการออมของครัวเรือนในประเทศไทย ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนไทยที่ไม่มีการออมมีสัดส่วนอยู่ที่ 25.9% ทั้งยังมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 88.2% ต่อจีดีพี ในไตรมาส 2/2565 และจากผลการสำรวจทักษะทางการเงินปี 2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า คนไทยมีทักษะทางการเงินอยู่ที่ 71% สูงกว่าการสำรวจครั้งก่อนในปี 2561 (66.2% ) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินครั้งล่าสุดของ OECD ในปี 2563 (60.5%) แต่เมื่อพิจารณาในองค์ประกอบ ซึ่งคะแนนทักษะทางการเงินมาจาก 3 องค์ประกอบ ได้แก่ “ความรู้ทางการเงิน” “พฤติกรรมทางการเงิน” และ “ทัศนคติทางการเงิน” พบว่า “ความรู้ทางการเงิน” เป็นด้านที่คนไทยอ่อนที่สุด โดยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 62.9% ด้านพฤติกรรมทางการเงินอยู่ที่ 71.1% ขณะที่ด้านทัศนคติทางการเงินอยู่ที่ 82.0% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงที่สุด จะเห็นได้ว่าความรู้ทางการเงินนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเตรียมพร้อมเพื่อการเกษียณและนี่จึงเป็นภารกิจสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะต้องเร่งให้ความรู้ทางการเงินให้แก่คนไทยเพื่อให้มีเงินใช้เพียงพอในช่วงหลังเกษียณ
“เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ช่วยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของคนได้ดีขึ้นทำให้ชีวิตยืนยาว แต่มีประเด็นปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างของสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องปรับกลยุทธ์ในการให้ความรู้ โดยให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินหลังเกษียณสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น” คุณพรรณวดีระบุ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับสูตรวางแผนการเงินหลังเกษียณ
คุณพรรณวดีกล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า20 ปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นให้ความรู้ด้านการวางแผนการเงินภายใต้แนวคิด “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” โดยให้ความสำคัญกับคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็น ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบ นักศึกษา และยังเน้นกลุ่มคนวัยทำงานที่เริ่มมีรายได้ ผ่านองค์ความรู้และเครื่องมือวางแผนการเงินต่างๆ อาทิ SET e-Learning หลักสูตรออนไลน์ครอบคลุมเนื้อหาด้านการเงินและการลงทุน กว่า 100 หลักสูตร แอปพลิเคชัน Happy Money และ SET Fin Quizz พิชิต Fin Gap แบบทดสอบความรู้ทางการเงินและชุดความรู้ทักษะพื้นฐานทางการเงินการลงทุน ประกอบด้วย Infographics คลิปความรู้ และบทความ ซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.set.or.th/happymoney
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ จึงควรผลักดันให้เกิดการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ ซึ่งจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุที่มีเงินออมเป็นรายได้หลัก มีเพียง 1.5% และมีแหล่งรายได้หลักมาจากการทำงาน 32.4% (จากรายงานการสํารวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2564) นั่นหมายถึง คนกลุ่มนี้ต้องการความรู้ในการบริหารจัดการด้านการเงินของตนเองภายหลังเกษียณด้วย ขณะที่วิธีการบริหารจัดการเงินจะแตกต่างจากการวางแผนการเงินก่อนเกษียณ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงปรับหลักสูตรการให้ความรู้ด้านการวางแผนการเงินหลังเกษียณ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้สูงอายุหรือที่เรียกว่า Silver Age มากขึ้น
โดยหลักสูตรการให้ความรู้ต้องเน้นตั้งแต่การเปลี่ยนแนวคิด รวมถึงการวางแผนการเงินหลังเกษียณ เพราะการออมในช่วงวัยทำงานอาจไม่เพียงพอ ต่อจากนั้นจึงเข้าสู่การสำรวจตัวเอง ความต้องการใช้เงินหลังเกษียณว่า มีเป้าหมายอย่างไร เงินที่มีเพียงพอหรือไม่แล้วจึงวางแผนบริหารเงินหลังเกษียณ โดยต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพด้วย เพราะยิ่งอายุยืนยาวขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็ยิ่งสูงขึ้น
“แนวทางจัดสรรเงินออมหลังเกษียณ ต้องแบ่งเงินเป็น 3 ก้อน ‘ก้อนที่หนึ่ง’ สำหรับทยอยนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ‘ก้อนที่สอง’ ใช้สำหรับการดูแลสุขภาพทั้งการเงินและสุขภาพกายให้มีความมั่นคง และ ‘ก้อนที่สาม’ ต้องวางแผนการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งต้องมีการบริหารจัดสัดส่วนพอร์ตลงทุนที่เหมาะสม เพื่อก้าวสู่ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข” คุณพรรณวดีกล่าว
ทิสโก้ชู Hybrid Advisory ช่วยวางแผนการเงิน
เพื่อให้การวางแผนการเงินมีประสิทธิภาพและช่วยให้คนไทยมีเงินใช้เพียงพอและดูแลตัวเองในยามเกษียณได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ในฝั่งของธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) จึงได้เดินหน้าการวางแผนการเงินภายใต้แนวคิด Megatrends Retirement Planning หรือการวางแผนเกษียณแบบเมกะเทรนด์ ซึ่งเน้นให้คำแนะนำในด้านการวางแผนการลงทุนหุ้นกลุ่มเมกะเทรนด์ รวมถึงประกันที่มีศักยภาพคุ้มครองด้านการรักษา และดูแลให้มีรายได้สม่ำเสมอตลอดช่วงเวลาหลังเกษียณ ผ่านการวางแผนการเงินแบบ “Hybrid Advisory” โดยคุณณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า เป็นการผสมผสานการทำงานระหว่าง“เครื่องมือ” ทั้งแอปพลิเคชัน TISCO My Wealth ที่ธนาคารทิสโก้ได้พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความสะดวกให้แก่ลูกค้าในด้านการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ จากหลากหลายบริษัทพันธมิตร ร่วมกับการทำงานของ “คน” โดยลูกค้าที่ใช้บริการจะได้รับคำแนะนำเชิงลึกยิ่งขึ้นผ่านเจ้าหน้าที่ธนกิจบุคคล (RM) ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจด้านการวางแผนเกษียณให้ดียิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ ธนาคารทิสโก้ยังได้ผลักดันให้เกิด Mastery Model ซึ่งเป็นโมเดลที่ธนาคารทิสโก้พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ธนกิจบุคคลนำไปใช้สำหรับช่วยให้ลูกค้าสามารถวางแผนทางการเงินให้ตรงกับความต้องการ ทั้งในด้านกองทุนคุณภาพที่เน้นธุรกิจแห่งอนาคต (Megatrends Investment) ซึ่งเป็นหุ้นที่เติบโตต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 5 ปี ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก
นอกจากนี้ Mastery Model ยังสามารถช่วยวางแผนปกป้องความเสี่ยงหลังเกษียณที่สอดรับกับกระแสโลก (Megatrends Protection) ผ่านการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีรายได้สม่ำเสมอตลอดช่วงหลังเกษียณที่จ่ายผลประโยชน์ยาวนานถึง 99 ปี ตามอายุขัยเฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งยังสามารถช่วยวางแผนประกันสุขภาพและประกันคุ้มครองโรคร้ายแรง ที่จะทำหน้าที่ในการปกป้องความมั่งคั่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายหลักในวัยเกษียณมักจะเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นมากกว่า 9% ต่อปี ได้อีกด้วย
“การวางแผนการเงินแบบ Hybrid Advisory ซึ่งผสมผสานการทำงานของทั้งเครื่องมือและคนภายใต้แนวคิด Megatrends Retirement Planning จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายระยะยาวหลังเกษียณได้ เพราะปัจจุบันการออมเงินของวัยทำงานเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างน้อยอีก 20 ปีข้างหน้า จะไม่เพียงพออย่างแน่นอน เนื่องจากในอนาคตคนเราจะมีอายุที่ยืนยาวขึ้น 90 – 100 ปี ซึ่งย่อมต้องตามมาด้วยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ที่ปรับขึ้นอย่างน้อย 9% ต่อปี และหากมีโรคร้ายแรงร่วมด้วย ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงที่จะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น ธนาคารทิสโก้ จึงเห็นว่าควรต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงิน โดยเรามุ่งมั่นว่าจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ให้ทุกคนเข้าสู่วัยเกษียณได้อย่างมีความสุข” คุณณัฐกฤติกล่าว
เจาะลึกตัวอย่างวางแผนเกษียณด้วย Hybrid Advisory
เพื่อยกตัวอย่างการทำงานของ Mastery Model ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนเกษียณให้เห็นภาพอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น คุณศิวกร ทองหล่อ ที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ ได้อธิบายว่า Mastery Model จะใช้ข้อมูลจาก 3 ส่วนเข้ามาช่วยในการวางแผนได้แก่ 1. เป้าหมายการใช้เงินหลังเกษียณของแต่ละคน 2. ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ กรณีเกิดโรคร้ายแรง ซึ่งมีการคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งกรณีการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน และ 3. การวางแผนการเงินที่จะไปให้ถึงเป้าหมายผ่านการลงทุนและซื้อประกันสุขภาพ โดย Mastery Model จะช่วยคำนวณเงินที่ต้องใช้หลังเกษียณตามข้อมูลของแต่ละบุคคล ยกตัวอย่าง นาย A (นามสมมติ) เริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่ อายุ 40 ปี เงินเดือน 50,000 บาท เงินเดือนในวันเกษียณอายุ 60 ปี อยู่ที่ 132,665 บาท หากต้องการมีเงินใช้จนถึงอายุ 90 ปี โดยมีเงินใช้เดือนละ 100,000 บาท บวกกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่อยากสำรองไว้อีก 8,000,000 บาท ยอดเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณเพื่อให้เพียงพอกับการใช้จ่ายตลอดชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 35 ล้านบาท
หากนาย A วางแผนการออมแบบเดิม เช่น สมมติให้พอร์ตการลงทุนแบบเดิมทั้งเงินออมภาคบังคับ และออมแบบสมัครใจ ที่มีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 5% ต่อปี นาย A จะมีเงินออม ณ วันเกษียณอยู่ที่ประมาณ 14 ล้านบาท เท่ากับว่า นาย A ยังขาดเงินที่ต้องใช้ให้เพียงพอตลอดชีวิตอีกถึง 21 ล้านบาท ซึ่ง Mastery Model จะเข้ามาช่วยคำนวณและแนะนำวิธีวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพได้ตามเป้าหมายของแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ ระหว่างทางหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น เช่น การเจ็บป่วย หรือมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่ทำให้เงินหมดก่อน โมเดลนี้ก็จะมีคำแนะนำว่าจะวางแผนอย่างไร รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้การวางแผนการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนการวางแผนการเงินผ่าน Mastery Model ได้อย่างสะดวกและง่ายดาย โดยมีเจ้าหน้าที่ธนาคารทิสโก้คอยให้คำแนะนำ
“Mastery Model ของธนาคารทิสโก้ เป็นเสมือนเนวิเกเตอร์นำทางไปสู่การวางแผนเกษียณของลูกค้าอย่างมีเป้าหมาย ไปตามเส้นทางตามแผนที่ที่วางไว้ โดยไม่หลงทาง เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการวางแผนเกษียณอย่างมีคุณภาพ และสร้างความสุขในการใช้ชีวิตหลังเกษียณให้กับลูกค้าของธนาคารทิสโก้ในแบบ Happy Retirement”