โอกาสทองลงทุนหุ้นเวียดนาม The Rising Star of Asia
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 61 | คอลัมน์ Wealth Manager Talk
ครึ่งแรกของปี 2022 ถือเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญความผันผวนในระดับที่สูงมาก โดยได้รับผลกระทบจากประเด็นสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ทำให้ราคาน้ำมันและราคาอาหารพุ่งทะยานสูงขึ้นและนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อด้านต้นทุน (Cost Push Inflation) ที่ลุกลามไปหลายประเทศทั่วโลก บรรดาธนาคารกลางต่าง ๆ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องเร่งเดินหน้าดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบผ่านมาตรการ Quantitative Tightening (QT) เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้กลับมาลดลงสู่ระดับเป้าหมาย ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในระยะข้างหน้า เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนหลายตลาดเข้าสู่ภาวะตลาดหมี (Bear Market) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวน เรายังคงมองหา “โอกาสที่ซ่อนอยู่ในวิกฤติ” และหนึ่งในโอกาสการลงทุนครั้งสำคัญที่ปรากฏตัวขึ้นท่ามกลางวิกฤติในครั้งนี้ก็คือ ตลาดหุ้นเวียดนาม
ปัจจุบันเวียดนามถือเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย IMF ได้มีการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามไว้สูงถึงระดับ 6% ในปี 2022 และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในระดับ 7.2% ในปี 2023 ปัจจัยหลักที่สนับสนุน GDP ของเวียดนามให้เติบโตได้อย่างโดดเด่นก็คือ การบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่เวียดนามมีจำนวนประชากรมากถึง 99 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียน โดยประชากรส่วนใหญ่กว่า 76% ยังอยู่ในวัยแรงงานและมีอายุเฉลี่ยเพียง 32.5 ปีเท่านั้น ทำให้พลังการบริโภคภายในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามให้เติบโตได้ในระยะยาว
ในด้านของการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน รัฐบาลเวียดนามได้มีการตั้งเป้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศด้วยเม็ดเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ไปจนถึงปี 2025 ในการสร้างทางด่วน สนามบิน ท่าเรือ ทางรถไฟ และโรงไฟฟ้า เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต เพิ่มการจ้างงานในประเทศและดึงดูดเม็ดเงินลงทุน FDI ให้เข้ามาลงทุนในเวียดนาม ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็มีโมเมนตัมของการขยายตัวที่ดีทั้งในภาคนิคมอุตสาหกรรม ภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนภาคการขนส่งและโลจิสติกส์
ในมิติของภาคการค้าระหว่างประเทศ เวียดนามกำลังก้าวขึ้นมาแซงจีนในฐานะโรงงานการผลิตแห่งใหม่ของโลก ด้วยการผลิตและส่งออกสินค้าที่อยู่ในความต้องการของตลาดโลก อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า และรองเท้าแบรนด์เนม
โดยได้รับอานิสงส์จากความได้เปรียบด้านค่าแรงที่ถูกและระดับการกีดกันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ต่ำ ทำให้บริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง Apple Google Samsung Intel Panasonic LG Foxconn Sharp ย้ายมาตั้งฐานการผลิตในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การที่เวียดนามได้ทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ถือเป็นปัจจัยที่สร้างความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งนี้ เวียดนามได้เริ่มมีการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวแล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของ GDP เวียดนามให้มีการฟื้นตัวขึ้นด้วย
ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของเวียดนามกลับยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมของเวียดนามขยับขึ้นเพียง 2.86% YoY เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับที่ยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam) ที่ 4% ส่งผลให้ SBV ยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพต่อไปได้ โดยไม่มีแรงกดดันที่จะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยอัตราดอกเบี้ยของเวียดนามยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 4% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อและถือว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี
ภาพรวมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนามส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่มที่อิงกับภาพการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก (Domestic Play) ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มธนาคาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มเทคโนโลยี
● Vietcombank ธนาคารอันดับ 1 ของเวียดนาม ซึ่งให้บริการทางด้านการเงินแบบครบวงจรทั้งการปล่อยสินเชื่อ บัตรเครดิต บริการการซื้อขายหุ้น รวมถึง Digital Banking
● Vinhomes บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ในเวียดนามและเป็นบริษัทในเครือของ Vingroup หนึ่งในบริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม
● Mobile World บริษัทค้าปลีกอันดับ 1 ของเวียดนามที่ให้บริการจำหน่ายทั้งโทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงขายอาหารสดในลักษณะร้านแบบมินิมาร์ท
● FPT บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ซึ่งให้บริการทางด้านเครือข่ายโทรคมนาคมและส่งออก Software โดยบริษัทมีคู่ค้าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกทั้ง Microsoft, IBM, Xiaomi และ Unilever
ด้วยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีแนวโน้มสดใส ทำให้นักวิเคราะห์ใน Bloomberg Consensus คาดการณ์ว่า กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในเวียดนาม (EPS Growth) จะเติบโตได้สูงถึง +22.8% YoY ในปี 2022 และเติบโตต่อเนื่องอีก +25.7% YoY ในปี 2023 (แผนภาพที่ 1)
แผนภาพที่ 1: อัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเวียดนาม
ที่มา: Bloomberg, TISCOASSET
นับจากต้นปี 2022 ตลาดหุ้นเวียดนามได้ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดราว 20% โดยการปรับฐานในครั้งนี้เป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน การ Lockdown ในประเทศจีนและความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมถึงปัจจัยภายในประเทศเวียดนามเอง ที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเวียดนามได้มีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทที่ทำการปั่นราคาหุ้นและนำเงินจากการออกหุ้นกู้ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามเผชิญแรงเทขายและเกิดการ Force Sell จากบัญชี Margin ของนักลงทุนรายย่อย
อย่างไรก็ตาม เรามองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงแค่ปัจจัยชั่วคราวและได้รับการแก้ไขไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว หลังจากที่รัฐบาลเวียดนามประกาศปลดประธาน ก.ล.ต. และผู้อำนวยการตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ออกจากตำแหน่ง รวมถึงดำเนินคดีกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่มีการเอารัดเอาเปรียบนักลงทุนรายย่อย ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามยังได้ประกาศเป้าหมายอย่างชัดเจนถึงความต้องการที่จะยกระดับมาตรฐานความโปร่งใสของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นและปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนรายย่อย ซึ่งมาตรการที่เด็ดขาดเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปูทางให้ตลาดหุ้นเวียดนามได้รับการ Upgrade ขึ้นจาก Frontier Market เป็น Emerging Market ภายในปี 2025 อีกด้วย
ปัจจุบัน Valuation ของตลาดหุ้นเวียดนามได้ปรับตัวลดลงมาซื้อขายอยู่ในกรอบล่างในรอบ 5 ปี สะท้อนจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนข้างหน้า (Forward PE) ที่ประมาณ 11.7 เท่า (ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิถุนายน 2022) ถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวประมาณ -2S.D. และใกล้เคียงกับในช่วงวิกฤติ COVID-19 ปี 2020 (แผนภาพที่ 2)
แผนภาพที่ 2: อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิในช่วง 12 เดือนข้างหน้า (Forward PE) ของตลาดหุ้นเวียดนาม
ที่มา: Credit Suisse
หากมองย้อนหลังกลับไปในอดีตช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นเวียดนามปรับฐานลงจนระดับ Forward PE ต่ำกว่า 12 เท่า มักจะเป็นจังหวะในการลงทุนที่ดีและสามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่สูงกว่า 30% ในช่วง 1 ปีต่อมา ยกตัวอย่างเช่น
● ปี 2013: ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลดลง -25% จากวิกฤติภาคธนาคารและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัว หลังจากนั้น 1 ปี ตลาดหุ้นเวียดนามกลับมาปรับตัวขึ้นได้ +35%
● ปี 2016: ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลดลง -18% จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หลังจากนั้น 1 ปี ตลาดหุ้นเวียดนามกลับมาปรับตัวขึ้นได้ +35%
● ปี 2020: ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลดลง -34% จากวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลังจากนั้น 1 ปี ตลาดหุ้นเวียดนามกลับมาปรับตัวขึ้นได้ +80%
แม้ว่าในครั้งนี้ตลาดหุ้นเวียดนามจะเผชิญความท้าทายจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง แต่ด้วยแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามที่ยังคงแข็งแกร่ง สถานะทุนสำรองระหว่างประเทศที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงระดับหนี้สาธารณะและหนี้สินต่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เราเชื่อว่าตลาดหุ้นเวียดนามมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออกค่อนข้างน้อยและมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งตามศักยภาพการเติบโตระยะยาวของประเทศ
นอกจากนี้ ในแง่ของการบริหารพอร์ตการลงทุน ตลาดหุ้นเวียดนามยังถือเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์การกระจายความเสี่ยงให้กับนักลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนสูงได้เป็นอย่างดี เนื่องจากตลาดหุ้นเวียดนามมีค่าความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นอื่น ๆ ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ สะท้อนจากค่า Correlation กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลาดหุ้นจีน และตลาดหุ้นไทยที่อยู่ในระดับเพียงแค่ 0.39 0.22 และ 0.26 ตามลำดับ ดังนั้น เราจึงมองว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นทั่วโลกในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสทองครั้งสำคัญในการเข้าลงทุนตลาดหุ้นเวียดนาม The Rising Star of Asia