Digital Service ที่เริ่มต้นจากคำว่า “TRUST” เบญจ เบญจรงคกุล CEO บริษัท เบรนเนอร์จี้ จำกัด
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 61 | คอลัมน์ New Generation
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา COVID-19 บอกอะไรเราบ้าง…
นอกจากประเด็นสำคัญเรื่องสุขภาพ COVID-19 ยังส่งสัญญาณเตือนภาคธุรกิจถึงความเปลี่ยนของโลกว่า เราไม่สามารถทำงานเหมือนเดิมได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในวันที่ “ดิจิทัล” ไม่ได้เป็นแค่ “ทางเลือก” แต่เป็น “ทางรอด” และโอกาสใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า
ปลายปี 2561 บริษัท เบรนเนอร์จี้ จำกัด (Brainergy) ก่อตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหวังช่วยให้องค์กรในประเทศไทยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงาน เพื่อเป็น “ดิจิทัลโซลูชัน” ที่ตอบโจทย์กลุ่มธุรกิจตั้งแต่ขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี จนถึงสตาร์ทอัพ
วันนี้เราได้คุยกับ “เบญ – เบญจ เบญจรงคกุล” ซีอีโอ บริษัท เบรนเนอร์จี้ จำกัด ซึ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่แรกกับทิสโก้ ก่อนจะออกผจญภัยในสายงานวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจและโลกของดิจิทัล จากนั้นจึงกลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัวภายใต้กลุ่มเบญจจินดา กระทั่งก้าวขึ้นมารับบทบาทแม่ทัพใหญ่แห่งเบรนเนอร์จี้
จากก้าวแรก สู่ความท้าทายที่เบรนเนอร์จี้ (Brainergy)
“ผมเรียนจบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัย Seattle University ประเทศสหรัฐอเมริกา พอกลับมาเมืองไทยก็เริ่มทำงานที่แรกกับทิสโก้ โดยทำในส่วนของ Investment Banking Analyst ระหว่างนั้นมีโอกาสตามหัวหน้าไปพบปะพูดคุยกับผู้บริหารหลายท่าน ทำให้ได้เห็นมุมมองการขับเคลื่อนธุรกิจที่น่าสนใจ เรียกได้ว่า ทิสโก้เป็นโรงเรียนแห่งแรกในชีวิตการทำงานของผม”
หลังจากทำงานที่ทิสโก้ได้ราว 2 ปี คุณเบญจมองว่าเขาควรจะมีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจเพิ่มเติม จึงตัดสินใจไปฝึกงานกับ Boston Consulting Group บริษัทด้านการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก จากนั้นได้ย้ายไปทำงานที่บริษัทเอคเซนเชอร์ (Accenture) ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ซึ่งถึงแม้เจ้าตัวจะมีประสบการณ์การทำงานมาแล้วกว่าสามปี แต่กลับขอเริ่มงานในตำแหน่งระดับพนักงานทั่วไปหรือ Entry-level เนื่องจากต้องการที่จะเรียนรู้ทุกอย่างโดยละเอียดตั้งแต่เริ่มต้น
“ตอนนั้นผมสนใจด้านเทคโนโลยีมาก และเป็นจังหวะที่ดีด้วย เพราะเป็นช่วงที่ธนาคารใหญ่หลายแห่งเริ่มทำโปรเจกต์ดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน เป็นช่วงที่ได้เปิดโลกเยอะมาก ทำงานที่เอคเซนเชอร์ได้ประมาณ 5 ปี คุณพ่อ (สมชาย เบญจรงคกุล) ก็ขอให้กลับมาช่วยธุรกิจครอบครัวในกลุ่มเบญจจินดาที่บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (United Information Highway) โดยผมรับหน้าที่ดูแลด้านกลยุทธ์และ Digital Transformation
ด้วยความที่บริษัทเราดำเนินธุรกิจมานาน ทำให้โครงสร้างองค์กรค่อนข้างเป็นไซโล (Silo) มีเลเยอร์ใต้ผู้บริหารเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีไฟหลายคน เราจึงคุยกับคนกลุ่มนี้ว่า ถ้าใครสนใจก็ยกมือมาฟอร์มทีมปั้นโปรเจกต์ใหม่ ๆ ด้วยกัน ที่ผ่านมาก็มีทั้งสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ก็ทำให้บริษัทได้โมเมนตัมในการทำสิ่งใหม่ ๆ”
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดบริษัทใหม่ในกลุ่มเบญจจินดา หนึ่งในนั้นคือ “เบรนเนอร์จี้” บริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจและก้าวไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยในช่วงแรกคุณเบญจรับบทบาท Management Committee ก่อนจะเข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่เมื่อช่วงปลายปี 2564 พร้อมกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่รออยู่ข้างหน้า
Digital Transformation และคำว่า “TRUST” ในโลกธุรกิจ
คุณเบญจเล่าถึงเส้นทางการทำธุรกิจของเบรนเนอร์จี้ว่า “เราเริ่มต้นจากการทำ Digital Solution ให้กับบริษัทภายในกลุ่ม สมัยก่อนมีนโยบายเรื่องใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ เราจึงพัฒนาสิ่งนี้ขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์แรก จากนั้นก็ปรับตัวเองเป็น Service Provider จัดทำและนำส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้สรรพากรแทนลูกค้า”
นั่นคือที่มาของผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิ SmartTAX ระบบจัดทำและนำส่งข้อมูลภาษีอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานที่กรมสรรพากรกำหนด SmartFLOW ระบบการจัดการและขออนุมัติเอกสารออนไลน์ และ SmartSIGN ระบบลงลายมือชื่อดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
“เบรนเนอร์จี้ปรับองค์กรมาโดยตลอด เราพยายามค้นหาตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่คืออะไร จนได้คำตอบเป็นคำว่า “TRUST” เพราะสิ่งที่เราทำคือการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับระบบการทำงาน โดยใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือ ยกตัวอย่างเวลาเซ็นเอกสารในองค์กร ถ้าเป็นบริษัทเปิดใหม่มีพนักงาน 10 คนอยู่ในห้องเดียวกัน การประสานงานทุกอย่างจะง่ายมาก แต่พอเป็นองค์กรขนาดใหญ่ การขออนุมัติสักเรื่องต้องผ่านให้ผู้บริหารหลายคนพิจารณาเพื่อเซ็นรับทราบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเอกสารจะวนไปมา ถ้าคนที่เกี่ยวข้องไม่เข้าออฟฟิศจะทำอย่างไร รวมไปถึงลายเซ็นที่ผ่านการลงนามมีการตรวจสอบได้จริงหรือเปล่า
สำหรับการทำงานที่ผ่านมาพบว่า ในบริษัทมีการใช้กระดาษเยอะมากไปกับงานเอกสารที่ต้องให้ผู้บริหารลงนาม แล้วยังมีเอกสารที่ต้องพรินต์ออกมาแนบรายละเอียดประกอบ รวมถึงขั้นตอนที่ต้องให้ผู้บริหารลงนามอนุมัติเอกสารจะใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการจนกว่าจะจบกระบวนการ เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดไอเดียในการคิดผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อแก้ไขการทำงานให้มีความสะดวกและปรับกระบวนการทำงานให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ที่สำคัญสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน”
ลบ “Pain Point” ขององค์กรด้วยดิจิทัลโซลูชัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Pain Point ที่หลายองค์กรประสบคือ ความวุ่นวายในการจัดการเอกสาร ความยุ่งยากในการทำข้อมูลภาษี ความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ และการดำเนินงานที่ล่าช้า วิธีทำงานของเบรนเนอร์จี้จึงเป็นการมองเข้าไปที่ปัญหาหรือจุดอ่อนเหล่านี้ในธุรกิจของลูกค้า จากนั้นจึงนำ Digital Solution เข้าไปจัดการ คุณเบญจได้หยิบยกเคสที่ผ่านมาของแคมเปญภาครัฐที่ให้ลูกค้าขอใบเสร็จรับเงินไปลดหย่อนภาษี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับร้านค้าต่าง ๆ คือจะเห็นการต่อคิวยาวเพื่อรอรับใบเสร็จ เนื่องจากต้องใช้เวลาออกเอกสารที่ค่อนข้างนาน
“เราเคยจับเวลากลุ่มลูกค้าร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าในการออกใบกำกับภาษีหนึ่งแผ่น ปรากฏว่าบางแห่งใช้เวลานานถึง 15 – 20 นาที ซึ่งเท่ากับว่าคุณเสียโอกาสในการขายของไปเกือบ 20 นาที เราจึงนำบริการและ Solution ของ SmartTAX เข้าไปช่วยแก้ปัญหา ต่อจากนี้ลูกค้าไม่ต้องมานั่งกรอกข้อมูลเองแล้ว สามารถกรอกข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของตัวเอง จากนั้นจะได้รับเอกสารที่เป็น Digital Copy และนำไปใช้งานได้ทันที
อีกหนึ่งบริการที่เบรนเนอร์จี้ทำเรียกว่า Digital Onboarding ให้นึกถึงธุรกิจที่ลูกค้าต้องยืนยันตัวตนผ่านสาขา ทุกคนต้องเคยเจอกับการรอคิวและการอนุมัติของระบบและขั้นตอนที่ใช้เวลานาน เราจึงเสนอวิธีการทำงานผ่านการทำช่องทางดิจิทัล คล้ายกับธนาคารที่มีแอปพลิเคชัน Mobile Banking แต่เราใช้ระบบ Digital Document ลูกค้าสามารถกรอกข้อมูลจากที่ไหนก็ได้ ขณะเดียวกันร้านค้าก็ทำแคมเปญให้ลูกค้ากรอกข้อมูลจากที่บ้านได้เลย
ในส่วนของ Digital Onboarding ถ้าเลือกรูปแบบการให้บริการพื้นฐาน เราก็พร้อมต่อเซอร์วิสเข้ากับระบบการทำงานของลูกค้าและพร้อมให้บริการภายใน 5 นาที โดยกระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมายด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งท้ายที่สุดจะวนกลับมาว่า เมื่อลูกค้าได้รับบริการที่ดี ร้านค้าจะมีโอกาสเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อกระบวนการจัดการมีประสิทธิภาพดีขึ้น ก็ช่วยให้คุณลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ”
Cloud & Cyber Security และก้าวต่อไปของเบรนเนอร์จี้
ในวันที่ข้อมูลมากมายได้รับการบันทึกไว้ในโลกออนไลน์ กลุ่มเบญจจินดาจึงให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นลำดับต้น ๆ เช่นกัน
“ในกลุ่มเบญจจินดา เราทำเรื่อง Cyber Security มาพักใหญ่แล้ว จนกระทั่งปีที่ผ่านมามีการปรับโครงสร้างองค์กร จึงแยกธุรกิจที่ทำเรื่องนี้ออกมาเป็นบริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด (Cyber Elite) โดยให้บริการด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) นอกจากนี้ยังมีบริษัท คลาวด์ เอชเอ็ม จำกัด (Cloud HM) ให้บริการคลาวด์สำหรับองค์กรชั้นนำในประเทศ ซึ่งปีที่ผ่านมา Cloud HM ได้รับรางวัล Multi-Cloud Management จากประเทศสิงคโปร์ โดยทั้งสองบริษัทให้บริการทั้งกับลูกค้าและบริษัทในเครือเบญจจินดา ซึ่งเบรนเนอร์จี้เองก็อยู่ในความดูแลที่ได้มาตรฐานของทั้งสองบริษัทนี้”
กับคำถามสุดท้ายถึงก้าวต่อไปของเบรนเนอร์จี้ คุณเบญจทิ้งท้ายไว้ว่า “จากเดิมที่เราคิด Solution และติดตั้งระบบดิจิทัลให้กับลูกค้า แต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราได้ปรับเปลี่ยน (Transform) ตัวเองคือ ทุกผลิตภัณฑ์ของเราต้องเป็นเซอร์วิสที่ครบวงจร สามารถให้บริการได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ที่สำคัญคือช่วยลูกค้าได้อย่างยั่งยืน
ทุกครั้งที่ตัดสินใจทำงานด้วยกัน เราไม่ได้มองตัวเองเป็นแค่คู่ค้า แต่เป็นเหมือนพาร์ตเนอร์ที่เข้าไปถามแบบเพื่อนว่า “คุณมีอะไรให้เราช่วยบ้าง” เพราะทุก Solution และบริการที่สร้างขึ้นมา เพื่อรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างแท้จริง”
ความประทับใจต่อทิสโก้
“ผมใช้บริการของทิสโก้ตั้งแต่ตอนทำงานเมื่อปี 2012 ทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกประทับใจ ทิสโก้เหมือนเป็นบ้านของการลงทุน จุดเด่นของทิสโก้คือการมีผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เฉพาะด้าน รู้ลึกรู้จริง และมีมุมมองการลงทุนที่รอบด้าน ตลอดจนการให้บริการที่มีคุณภาพ ซึ่งพี่ ๆ ทีมงานมักจะแนะนำสิ่งดี ๆ เหมือนผมเป็นพี่น้อง ที่พร้อมจะไปด้วยกัน ไม่มีทิ้งกันแน่นอน”