Swing Dance วัยไหน ๆ ก็เต้นสวิงให้สนุกและได้สุขภาพ
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 68 | คอลัมน์ Exclusive Sport
เพราะการเต้นที่ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวไปทิศทางใดล้วนแล้วแต่เป็นการออกกำลังกายในทุกส่วนของร่างกายทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งผลให้หัวใจสูบฉีดโลหิตมาเลี้ยงกล้ามเนื้อและอวัยวะทุกส่วน แต่มากกว่าสุขภาพร่างกายแล้วการเต้นยังได้ความสุขทางใจและความสนุกสนานจากเสียงเพลงอีกด้วย วันนี้นิตยสาร TRUST จึงพาไปเปิดฟลอร์การเต้นอีกครั้ง แต่อาจเป็นการเต้นที่หลายคนยังไม่เคยคุ้น นั่นคือ Swing Dance ที่กำลังย้อนกลับมาเป็นที่นิยม ด้วยความเพลิดเพลินกับสเต็ปง่าย ๆ แต่สนุกได้ยาว ๆ และได้สุขภาพอย่างแน่นอน
ทำความรู้จักเต้นย้อนยุค Swing Dance
Swing Dance กำเนิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 1920-1950 เป็นการเต้นที่ถูกพัฒนาจากการเต้นรำกับดนตรีแจซประเภทสวิงมาเป็น Street Dance ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ชาวอเมริกันและแอฟริกัน ถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนผิวขาวและคนผิวดำได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เต้นด้วยกันแบบไม่มีเส้นแบ่งแยก โดยเพลงที่ใช้เต้นในยุคแรกเริ่มก็จะเล่นจากวงดนตรีสดในจังหวะสนุกสนาน สำหรับ Swing Dance เข้ามาให้คนไทยวาดลวดลายเต้นสวิงกันราว ๆ 50 ที่แล้ว ถึงวันนี้ก็ยังอาจดูแปลกใหม่สำหรับวัฒนธรรมคนไทยหรือเอเชียในการจับมือคนแปลกหน้าบนฟลอร์เต้นรำแล้วเต้นสนุกไปพร้อม ๆ กัน แต่นี่คืออีกเสน่ห์ของ Swing Dance ที่หลายคนกลับชื่นชอบเพราะได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกับคนไม่รู้จักแต่กลับสนุก ผ่อนคลาย และมีความสุขกับเสียงดนตรีไปด้วยกัน
พร้อมออกลีลาเต้นสวิงให้สนุกสุดเหวี่ยง
ปัจจุบัน Swing Dance ยังคงไว้ด้วยลักษณะเด่นของความเท่าเทียมในการเต้นรำกับเพลงที่สนุกและไม่มีกฎเกณฑ์แบบแผนอะไรมากมาย ทำให้การเต้นสวิงไม่จำกัดตัวเลขอายุของผู้เต้น แทบทุกฟลอร์ของ Swing Dance มีนักเต้นตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงรุ่นใหญ่ระดับคุณน้าหรือคุณอา คุณลุง และคุณป้า ท่าร่วมวงเต้นจับคู่และเปลี่ยนคู่ไปอย่างสนุกสนานด้วยหลักพื้นฐานที่ต้องเรียนรู้ ได้แก่
Bounce การขยับตัวให้เข้ากับจังหวะเพลง พร้อมโยกตัวไปตามเสียงเพลง
Rock Step เป็นการก้าวแบบร็อก คือ ก้าวไปข้างหลังหนึ่งก้าวพร้อมถ่ายน้ำหนัก โดยเวลาเต้นเข้าคู่กัน ฝ่ายที่เป็นคนนำ (Lead) จะเริ่มก้าวด้วยเท้าซ้าย ส่วนฝ่ายที่เป็นคนตาม (Follow) จะก้าวด้วยเท้าขวา หาก Lead ขยับไปซ้าย Follow ก็จะขยับไปทางขวาตามจังหวะเพลง เรียกว่าคนสองคนสื่อสารผ่านร่างกายที่ได้สัมผัสกันไปพร้อมเสียงเพลง
Connection คือการเชื่อมโยงทั้งกายและใจระหว่างคู่เต้น
สำหรับ Swing Dance มีหลากหลายท่าเต้นให้สนุกไปตามจังหวะเพลง อาทิ Lindy Hop, East Coast Swing, The Charleston ฯลฯ
Swing Dance ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพ
นอกจากความสนุกแล้ว Swing Dance ยังเป็นการเต้นออกกำลังกายที่ช่วยบริหารร่างกายและสมอง นั่นเพราะระหว่างการเต้น สมองตื่นตัวตลอดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพของสมองในด้านการจดจำ การวางแผน และการจัดการ ส่งไปยังระบบประสาทและกล้ามเนื้อผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย จึงเป็นอีกการออกกำลังกายที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมได้ พร้อมไปกับลดความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากระหว่างการขยับร่างกายเต้นรำจะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นเพราะต้องสูบฉีดเลือดให้ทัน กลายเป็นอีกกระบวนการที่ฝึกให้หัวใจแข็งแรง
Swing Dance ยังเป็นการออกกำลังกายที่เผาผลาญพลังงานได้ดีถึง 300-500 กิโลแคลอรี่ต่อ 1 ชั่วโมง เช่นเดียวกับการเต้นทั่วไป อาทิ แอโรบิก เต้นซุมบ้า เต้นฮิปฮอป ลีลาศ ฯลฯ มากไปกว่านั้น การเต้นยังสร้างความแข็งแรงให้ปอดเพราะเกิดการแลกเปลี่ยนออกซิเจนให้ร่างกาย เพิ่มปริมาตรความจุปอดให้มากขึ้น ทำให้หายใจได้ลึกขึ้น ช่วยให้ระบบทางเดินหายใจทำงานมีประสิทธิภาพเต็มที่ขึ้น
ที่สำคัญไปกว่านั้น Swing Dance ดีต่อใจ เพราะสร้างความสนุกและความสุขจากการเต้นรำไปตามจังหวะเสียงเพลง ลดความเสี่ยงโรคซึมเศร้า อีกทั้งบางคนยังได้เพื่อนใหม่และสังคมใหม่ของกลุ่มคนที่มีแพสชันเดียวกันอีกด้วย ดังที่ทีม Swing Dance ของ Jelly Roll Dance Club บอกว่า “กลุ่มนักเรียนและกลุ่ม Social Dance ของที่นี่มีตั้งแต่วัยรุ่น 15-16 ปี ไปจนถึงรุ่นใหญ่วัยเกษียณที่หัวใจยังสนุกกับการเต้น Swing Dance มารวมตัวเต้นด้วยกัน โดยแต่ละคนไม่รู้จักและเป็นคนแปลกหน้ากัน แค่ทุกคนออกมาจาก Comfort Zone ก็เต้นสนุกสุดเหวี่ยงกับ Swing Dance ได้ทุกครั้ง”
ปัจจุบัน Swing Dance มีคอมมูนิตี้อยู่ทั่วโลกรวมถึงบ้านเราที่เริ่มได้รับความนิยมและได้รับการพูดถึงในกระแสวงกว้างมากขึ้น ผ่านตามสถานที่ที่ถูกเรียกว่า Public Space ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ถนนเยาวราช หรือหัวลำโพง กลายเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำให้บรรยากาศกรุงเทพฯ กลับมาสนุกคึกคักอีกด้วย