วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากถึง 0.5% จากระดับ 5.25 – 5.5% สู่ระดับ 4.75 – 5% ซึ่งถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าตลาดคาด
โดยในรายงานการประชุม Fed ได้กล่าวถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงและได้ปรับคาดการณ์ตัวเลขอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในครั้งนี้ เริ่มให้น้ำหนักไปที่เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน มากกว่าประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ได้ทยอยลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนเข้าใกล้เป้าหมายของ Fed ที่ระดับ 2%
ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ การลงทุนยังคงมีความท้าทายจากหลายประเด็นที่อาจส่งผลให้ตลาดหุ้นกลับมามีความผันผวนที่มากขึ้น ทั้งการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่กำลังใกล้เข้ามา รวมถึงเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มที่สามารถฝ่าฟันและรอดพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ ก็คือหุ้นกลุ่ม Healthcare จากเหตุผล 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
หุ้นกลุ่ม Healthcare ได้อานิสงส์เชิงบวกจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ด้วยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เข้าสู่วัฏจักรขาลงอย่างชัดเจน ถือเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเช่นหุ้น ทั้งในแง่ของต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มลดลงและ Valuation ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ย จากการศึกษาข้อมูลผลตอบแทนหุ้นรายอุตสาหกรรมในช่วง 6 เดือนหลังจากที่ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปี 2019 พบว่า หุ้นกลุ่ม Healthcare สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้ในระดับที่สูงถึง 13% ในขณะที่ตลาดหุ้น S&P500 ปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยราว 12% เท่านั้น
ผลประกอบการของหุ้นกลุ่ม Healthcare ทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ปัจจุบัน Bloomberg ประเมินความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเกิด Recession อยู่ในระดับที่สูงถึง 30% ในสถานการณ์ดังกล่าว หุ้นกลุ่ม Defensive อย่างเช่นกลุ่ม Healthcare จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากผลประกอบการของหุ้นกลุ่ม Healthcare มีการเติบโตที่แข็งแกร่งและไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงวิกฤต Dot-com ปี 2000 และวิกฤต Subprime ปี 2008 ที่กำไรต่อหุ้น (EPS) ของหุ้นกลุ่ม Healthcare เติบโตได้ +5.6% และ +13.2% ตามลำดับ สวนทางกับผลกำไรของบริษัทในดัชนี S&P500 ที่หดตัวลงในช่วงเวลาเดียวกันถึง -19.5% และ -14% ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่ม Healthcare สร้างผลตอบแทน Outperform ตลาดในช่วงวิกฤตทั้งสองครั้งถึง 6% และ 10%
หุ้นกลุ่ม Healthcare มักจะสร้างผลตอบแทนชนะตลาดในปีที่มีการเลือกตั้งสหรัฐฯ
นักลงทุนส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นกลุ่ม Healthcare ในปีที่มีการเลือกตั้งสหรัฐฯ เนื่องจากมีความกังวลว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอาจมีนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของหุ้นกลุ่มนี้ ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการปรับลดราคายา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาย้อนกลับไปในปีที่มีการเลือกตั้งสหรัฐฯ นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 1996 จนถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2020 พบว่า หุ้นกลุ่ม Healthcare (ดัชนี MSCI World Healthcare Index) สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงถึงประมาณ 18.2% ในช่วง 12 เดือนหลังจากที่มีการเลือกตั้งสหรัฐฯ เอาชนะผลตอบแทนของดัชนีตลาดหุ้นโลก (ดัชนี MSCI World Index) ที่ปรับตัวขึ้นโดยเฉลี่ยเพียง 15.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน คิดเป็นการ Outperform ตลาดราว 2.4% สะท้อนให้เห็นว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่ได้ลดทอนศักยภาพของหุ้นกลุ่ม Healthcare ลง อย่างที่นักลงทุนส่วนใหญ่มีภาพจำ
หุ้นกลุ่ม Healthcare มีการเติบโตของกำไรที่โดดเด่นกว่าตลาด
นักวิเคราะห์ใน Bloomberg Consensus คาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม Healthcare จะเติบโตได้อย่างโดดเด่นถึง +13.5% YoY ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า สูงกว่าการเติบโตของบริษัทในดัชนี S&P500 ที่มีแนวโน้มจะขยายตัวราว +11.2% YoY โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากนวัตกรรมการรักษารูปแบบใหม่จากการเข้ามาของเทคโนโลยี AI การอนุมัติยาตัวใหม่จาก FDA รวมถึงการควบรวมกิจการภายในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งมักจะผลักดันราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องปรับตัวขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด
ดังนั้น ในไตรมาส 4 ปีนี้ ที่ตลาดยังเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ การถือหุ้นคุณภาพสูงอย่างกลุ่ม Healthcare อยู่ในพอร์ต มีโอกาสที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาด อีกทั้งยังช่วยลดความผันผวนให้กับพอร์ตการลงทุนได้อีกด้วย
บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™
Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้