ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในปี 2023 โดยเฉพาะในเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และยุโรป อย่างไรก็ตาม ยังมีเศรษฐกิจ “High Potential” บางประเทศที่ยังเติบโตสวนทางกับสภาวะดังกล่าวได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้นับตั้งแต่ต้นปี 2023 ตลาดหุ้นของประเทศ High Potential เหล่านี้ เริ่ม “Outperform” หรือมีการปรับตัวขึ้นที่โดดเด่นกว่าตลาดหุ้นประเทศอื่น ๆ หนึ่งในนั้น คือ ตลาดหุ้นเวียดนาม
นับตั้งแต่ปรับตัวลงไปทำจุดต่ำสุดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ตลาดหุ้นเวียดนามได้ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วถึง 20% จากจุดต่ำสุด ภายในระยะเวลาเพียงแค่สองเดือนเศษจนเข้าสู่ “ภาวะกระทิง” (Bull Market) อีกครั้ง คำถามสำคัญของนักลงทุนในวันนี้ คือ เรายังเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามทันหรือไม่ และมีปัจจัยใดบ้างที่สนับสนุนตลาดหุ้นเวียดนามให้ปรับตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้
1. ภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง : ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2023 จะยังเติบโตได้สูงถึง 6.2% นับเป็นการเติบโตที่สูงสุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีโมเมนตัมต่อเนื่องจากปี 2022 ที่ GDP เวียดนามขยายตัวถึง 8% สูงสุดในรอบ 25 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายของธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ที่ 4.5% ส่งผลให้แบงก์ชาติเวียดนาม มีความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดที่น้อยลง
2. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มชะลอตัวลง : ในปี 2022 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 4% มาอยู่ที่ระดับ 6% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับช่วง Pre-COVID เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินดองและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่มีทิศทางอ่อนตัวลงในปีนี้ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะผ่อนคันเร่งชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปที่ระดับราว 5% จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 4.25 – 4.5% ประเด็นดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางเวียดนามสามารถชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม Fed ได้ ซึ่งจะส่งผลให้แรงกดดันต่อตลาดหุ้นและการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามผ่อนคลายลงเมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา
3. ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวตามการเปิดประเทศของจีน : เวียดนามถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ของจีน เนื่องจากเวียดนามมีพรมแดนติดกับจีนและมีจุดเด่นทางด้านการท่องเที่ยว ทำให้เวียดนามจะได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มหลั่งไหลเข้ามา หากพิจารณาไปช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศเวียดนามมีทั้งหมด 18.8 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือ นักท่องเที่ยวจีน คิดเป็นสัดส่วนถึง 32% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด หรือประมาณ 6 ล้านคน ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวของเวียดนามจึงถือได้ว่าได้รับประโยชน์จากประเด็น China Reopening ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกไปยังภาคการบริโภคภายในประเทศที่ดีขึ้นตามลำดับ
4. การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น : เวียดนามถือเป็นประเทศที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงถึงราว 6% ของ GDP เทียบกับค่าเฉลี่ยการลงทุนภาครัฐของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่อยู่ในระดับเพียงแค่ 2.3% ของ GDP
ในปี 2022 ที่ผ่านมา การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐของเวียดนามทำได้เพียงแค่ 55% ของงบประมาณที่ตั้งไว้เท่านั้น ถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 77% ของเป้างบประมาณ ทำให้ในปี 2023 รัฐบาลเวียดนามมีแนวโน้มที่จะกลับมาเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อาทิ การขยายความจุของสนามบิน การสร้างทางด่วนเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคภายในประเทศ
ในด้านการลงทุนภาคเอกชนของเวียดนาม ยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ยังหลั่งไหลเข้าเวียดนามอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากความได้เปรียบด้านค่าแรงที่ต่ำ ข้อตกลงการค้าเสรีและสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐให้กับต่างชาติ นอกจากนี้ เวียดนามยังได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์ “China +1” หรือ การกระจายฐานการผลิตออกจากจีนของบริษัทชั้นนำของโลก ที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีนเป็นฐานการผลิตหลัก หลังจากที่เผชิญปัญหาขาดแคลนพลังงานและการใช้นโยบาย Zero-COVID อย่างเข้มงวดในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่นับวันทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
5. Valuation ต่ำสุดในรอบ 10 ปี : แม้ตลาดหุ้นเวียดนามจะปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดมาแล้วกว่า 20% แต่หากเราพิจารณาไปที่ Valuation ด้วยอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรล่วงหน้า (Forward PE) ปี 2023 จะพบว่า ตลาดหุ้นเวียดนามยังซื้อขายอยู่ที่ระดับ “Deep Discount” โดยมี Forward PE เพียงแค่ 10 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปีและยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 14.6 เท่าเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากตลาดหุ้นเวียดนามกลับไปซื้อขายที่ Forward PE ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยระยะยาว ตลาดหุ้นเวียดนามจะมี Upside ที่สูงถึง 40% ทั้งนี้ Bloomberg Consensus ยังคาดการณ์ว่า กำไรของบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามจะเติบโตได้สูงถึง 15% YoY ในปี 2023 สวนทางกับตลาดอื่น ๆ ที่มีทิศทางชะลอตัวลง
ในปี 2023 เราเชื่อว่า กลยุทธ์การลงทุนในประเทศ “High Potential” ที่เศรษฐกิจยังมีอัตราการขยายตัวที่สูง สวนกระแสการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนมีการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่งกว่าประเทศอื่น และที่สำคัญคือ มี Valuation ของหุ้นที่อยู่ในระดับต่ำ จะเป็นการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างงดงามให้กับนักลงทุน
======================
บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Make Money Make Healthy ของ TNN