นับตั้งแต่ปี 2022 ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับตัวเป็นขาขึ้นอย่างรวดเร็วแตะระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ อันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก จนทำให้ “ตราสารหนี้” ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ กลับมาให้ผลตอบแทนสูงจนเรียกได้ว่าเป็นการลงทุนแบบ “Low Risk High Return” ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอย (Recession) ในระยะข้างหน้า นักลงทุนควรมีวิธีเลือกกองทุนตราสารหนี้อย่างไร เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีและจำกัดความเสี่ยงในการลงทุน ทาง TISCO Wealth มีหลักการคัดเลือกกองทุนตราสารหนี้ 3 ข้อง่าย ๆ ดังนี้
1. Credit rating หรืออันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ที่กองทุนนั้น ๆ ลงทุนอยู่ ซึ่งโดยปกติกองทุนตราสารหนี้มักมีการกระจายสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้หลากหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน หรือตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง แต่ในภาพใหญ่เราสามารถแบ่งตราสารหนี้ออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ
1.1 กลุ่ม Investment grade (IG) ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ระหว่าง AAA ถึง BBB- โดยตราสารหนี้กลุ่มนี้มักจะเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง อันเนื่องมาจากฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ที่สูงของผู้ออกตราสาร ทำให้มีความเสี่ยงในการลงทุนค่อนข้างน้อย
1.2 กลุ่ม High yield (HY) ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือระหว่าง BB+ ไปจนถึงระดับต่ำสุดที่ D ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ออกตราสารหนี้มีฐานะการเงินอ่อนแอและมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ (Default) ที่มากกว่ากลุ่ม IG ทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกลุ่ม IG อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้กลุ่ม HY มักจะให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ากลุ่ม IG เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่สูงกว่าเช่นเดียวกัน
จากข้อมูลในอดีตนับตั้งแต่ปี 2000 การลงทุนในตราสารหนี้กลุ่ม IG มักให้ผลตอบแทนชนะกลุ่ม HY ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทุกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น ช่วงวิกฤต Dot-com ปี 2000 วิกฤต Subprime ปี 2008 และวิกฤต COVID-19 ปี 2020 ที่ตราสารหนี้กลุ่ม IG สร้างผลตอบแทนได้ +5.31% +7.09% และ +1.24% ตามลำดับ ในขณะที่ ตราสารหนี้กลุ่ม HY ติดลบ -4.47% -2.57% และ -11.15% ในช่วงเวลาเดียวกัน
2. Yield to maturity หรืออัตราผลตอบแทนที่คำนวณถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนตราสารหนี้ เนื่องจากกองทุนตราสารหนี้มักมีการลงทุนตราสารหนี้หลากหลายประเภท ซึ่งมีอายุและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน ดังนั้น Yield to maturity จึงเป็นตัวเลขที่สะท้อนผลตอบแทนที่แท้จริงในภาพรวมของกองทุนตราสารหนี้ ที่นักลงทุนใช้เปรียบเทียบและคัดเลือกกองทุน
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วทั้ง สหรัฐฯ ยุโรป และสหราชอาณาจักร ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทย นักลงทุนจึงควรเน้นการลงทุนประเภท “Global Bond” ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกที่กระจายการลงทุนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยปัจจุบันกองทุนประเภท Global Bond มี Yield to maturity โดยเฉลี่ยที่สูงถึง 5%-6% เทียบกับกองทุนตราสารหนี้ของไทย ซึ่งมี Yield to maturity โดยเฉลี่ยที่ต่ำเพียงแค่ราว 2%-3% เท่านั้น
3. Duration หรืออายุเฉลี่ยของตราสารที่กองทุนนั้น ๆ ถือลงทุนอยู่ ซึ่งโดยทั่วไป หากตราสารหนี้ที่กองทุนถือลงทุนมีอายุคงเหลือโดยเฉลี่ยที่ยาว กองทุนนั้นก็จะมีค่า Duration ที่สูง และทำให้ราคาของกองทุนตราสารหนี้มักจะมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยที่มาก
แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ และมีแนวโน้มกลับมาอยู่ในทิศทางขาลงในอนาคต ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง นักลงทุนจึงควรเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีค่า Duration สูง เพื่อโอกาสในการรับส่วนต่างกำไร (Capital gain) เพราะราคาตราสารหนี้มักจะปรับตัวขึ้นสวนทางกับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง นอกจากนี้ ราคาของตราสารหนี้ที่มีค่า Duration สูง มักจะสร้าง Capital gain ได้มากกว่าตราสารหนี้ที่ Duration ต่ำ เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง
เรามองว่าการเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดี และจำกัดความเสี่ยงในช่วง Recession ควรเลือกกองทุนประเภท “Global bond” ที่มี Credit rating โดยรวมอยู่ในระดับ Investment grade (IG) ขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ และมี Yield to maturity ที่สูงเกิน 5% เพื่อรับผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ของไทย ตลอดจน มีอายุเฉลี่ยของตราสาร (Duration) สูง 5 ปีขึ้นไป เพื่อรับส่วนต่างกำไรในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่จะกลับมาเป็นขาลงในอนาคต
บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™
Wealth manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรกที่ Facebook : TNN Wealth