จากประเทศที่ถือกำเนิดเชื้อไวรัส COVID-19 จนถึงตอนนี้ ประเทศจีนยังถือเป็นประเทศที่มีการควบคุมการระบาดของ COVID-19 เข้มงวดที่สุดในโลกจากดัชนี Stringency Index หรือ ดัชนีมารตรการควบคุมโรคระบาด ที่จัดทำโดย Our World in Data ณ วันที่ 6 พ.ย. 2022 นั่นคือ นโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid Policy) ของรัฐบาลจีน ส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงต่ำกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้จาก 5.5% แต่ปัจจุบันผ่านไป 3 ไตรมาสของปีนี้เติบโตได้เพียง 3% YoY เท่านั้น และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงตลาดหุ้นจีนตกต่ำหากอ้างอิงด้วยดัชนี MSCI China Index ที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี นอกจากนี้ ภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 นโยบายควบคุม COVID-19 ที่ยังเน้นให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนมาก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งดูเผิน ๆ เหมือนว่าตลาดหุ้นจีนยังมีแรงกดดันจากนโยบาย Zero-COVID แน่นอน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากแนวทางนโยบายการควบคุมภายหลังการประชุม กลับมีท่าทีผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นสวนทางกับรูปแบบในอดีต โดยความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่เพิ่มเร่งตัวขึ้นในช่วงหลังการประชุม แต่ Stringency Index กลับลดลง ทั้ง ๆ ที่อดีตที่ผ่านมา เมื่อมีการแพร่ระบาดมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจะต้องเร่งควบคุมทันทีและทำให้ Stringency Index เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่ามาตรการที่ผ่อนคลายส่งผลต่อความคาดหวังว่าจีนอาจกลับมาเปิดประเทศ (Reopening) ในเร็ว ๆ นี้ โดยครั้งนี้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจเชื่อว่า มีความเป็นไปได้มากกว่าทุกครั้ง ซึ่ง Goldman Sachs คาดว่า จีนอาจ Reopening ได้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2023 ด้วย 3 ปัจจัย ดังนี้
1) ระบบสาธารณสุขจีนมีความพร้อมมากขึ้น ทั้งการแจกจ่ายวัคซีนแก่ผู้สูงอายุ ที่สามารถแจกจ่ายวัคซีนบูสเตอร์แก่คนจีนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปเฉลี่ยต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. – 4 พ.ย. อยู่ที่ 1.38 แสนคนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากวันที่ 28 ก.ย. – 12 ต.ค. ถึงราว 900% หรือการอนุมัติใช้วัคซีน mRNA จาก BioNTech ให้แก่ต่างชาติที่ทำงานในจีน ซึ่งมีบริษัท Fosun Pharma เป็น Partner อยู่แล้วอาจมีแนวโน้มให้คนจีนสามารถใช้ mRNA ได้ในอนาคต อีกทั้งมีวัคซีน mRNA ที่พัฒนาโดยบริษัทจีนอย่าง Walvax และ Stermina ซึ่งอยู่ในช่วงการวิจัยระยะที่ 3 แล้ว 2) มาตรการกักตัวคล่องตัวขึ้น โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนลดระยะกักตัว และสนับสนุนการทำ Home Isolation เช่น ลดระยะเวลากักตัวของผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศลง 2 วัน ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสามารถทำ Home Isolation และลดระยะเวลากักตัว 2 วัน เช่นเดียวกับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเพื่อทดแทนการกักตัวในพื้นที่ที่รัฐบาลจัดไว้ 3) การประชุมสองสภาของจีนที่จัดขึ้นช่วงเดือน มี.ค. ปี 2023 ที่มีคณะกรรมการกรมการเมืองประจำพรรคคอมมิวนิสต์ชุดใหม่ที่เลือกไปเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งปี 2023 จะมีกิจกรรมกีฬาขนาดใหญ่โดยเฉพาะ Asian Games ครั้งที่ 19 โดยคาดว่าอาจมีการประกาศแนวทางการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมภายในประเทศที่ต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น
ส่วนในภาพของการลงทุนจากเดิมที่ตลาดหุ้นจีน MSCI China ปรับลดลงแรงจากผลกระทบของมาตรการ Zero-COVID ที่เข้มงวดนำมาสู่การปรับประมาณการกำไรลดลงกว่า 24% นับจากต้นปี 2022 จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแอ อาจพลิกกลับมาฟื้นตัวตามมาตรการที่ผ่อนคลายก็เป็นได้ โดยในช่วง 10 วันที่ผ่านมาเริ่มมีการปรับประมาณการกำไรขึ้น 2% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดในปีนี้ และด้วยระดับ Forward P/E ปัจจุบันเพียง 10.8 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ถึง 24% หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ย่อมนำมาสู่การปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และทำให้โอกาสสร้างผลตอบแทนจากทิศทางการเปิดประเทศของจีนเป็นไปได้สูงมากขึ้นอีกด้วย
จากข้อมูลข้างต้นบ่งชี้ว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในจีนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ด้วยปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบสาธารณสุข แนวโน้มทิศทางของการผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID เพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมระยะข้างหน้าที่จะจัดขึ้นภายในจีน รวมถึง Valuation ในปัจจุบันยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตอยู่มากและเริ่มมีการปรับประมาณการกำไรขึ้น ปัจจัยเหล่านี้อาจนำไปสู่แนวทางการ Reopening และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ลงทุนในการสร้างผลตอบแทนการลงทุนด้วยการหันกลับมาเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นจีนอีกครั้ง
แผนภาพที่ 1: จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ และดัชนีมาตรการความเข้มงวดของประเทศจีน
ที่มา : Our World in Data, TISCO Wealth Advisory; data as of 15 Nov 2022
======================
บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Financial Planning ของ กรุงเทพธุรกิจ