การประกาศยกเลิกกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2023 เป็นต้นไป นับว่าเป็นการประกาศเร็วกว่าที่หลายคนคาดไว้ เนื่องจากก่อนหน้านี้นโยบายการควบคุมโรคระบาดจีน (Zero-COVID) เป็นหนึ่งในมาตรการที่เข้มงวดมากที่สุดในโลก จากข้อมูลการจัดลำดับโดย Our World in Data และปัจจุบันก็ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่เรื่อย ๆ ซึ่งแนวทางที่เปลี่ยนไปอาจมีปัจจัยหลักมาจาก 2 ส่วนควบคู่กัน คือ ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจช่วงที่มีการ Lockdown และพัฒนาการด้านสาธารณสุขที่มีความพร้อมมากขึ้น
สำหรับด้านเศรษฐกิจนั้น ตั้งแต่จีนมีการใช้นโยบาย Zero-COVID เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ Omicron ด้วยการ Lockdown เป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจแย่ลงต่อเนื่องหลายเดือน โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอย่าง GDP ที่พลาดเป้าหมาย ทำได้เพียง 3% เท่านั้นใน 3 ไตรมาสแรก จากเป้าหมายทั้งปี 2022 ที่ +5.5% ดังนั้น วิธีการที่จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ใหม่อีกครั้ง จำเป็นต้องมีการคลาย Lockdown และการเปิดเมืองก่อนเป็นลำดับแรก แต่ต้องมากับการจัดการระบบสาธารณสุขจีนให้สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมากหลังเปิดเมือง ไม่เช่นนั้นผลลัพธ์ของการเปิดเมืองอาจทำไปสู่ระบสาธารณสุขที่ล่มสลายได้ เช่น คนป่วยเสียชีวิตเพราะบุคลากรการแพทย์ดูแลไม่ทั่วถึง หรือ โรงพยาบาลล้นจนกระทบต่อผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล โดยหากไม่ได้รับการรักษาที่มีคุณภาพอาจส่งผลต่อชีวิตได้ เป็นต้น ซึ่งดูเหมือนว่าระบบสาธารณสุขจีนมีความพร้อมมากขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นจุดเปลี่ยนของนโยบาย Zero-COVID ที่สามารถเปิดประเทศได้
ประการแรก คือ สัดส่วนการรับวัคซีนของประชากรจีนที่สูงขึ้น และเริ่มมีการใช้วัคซีนบูสเตอร์โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดย ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2022 สัดส่วนการรับวัคซีนบูสเตอร์อยู่ที่ประมาณ 68.75% เพิ่มขึ้นจากกลางเดือนมีนาคม 2022 ที่มีสัดส่วนการรับบูสเตอร์เพียง 50% เท่านั้น และภายในเดือนมกราคม 2023 รัฐบาลจีนตั้งเป้าว่าผู้ที่อายุระหว่าง 60 – 79 ปี จะต้องรับบูสเตอร์ให้ถึง 95% อย่างไรก็ตาม แม้เป้าหมาย 95% อาจเป็นไปได้ยาก แต่ก็มีโอกาสที่สัดส่วนนี้จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เพราะวัคซีนที่มีในปัจจุบันช่วยให้คนจีนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น การอนุมัติวัคซีนแบบสูดดมของ Cansino เมื่อต้นเดือนกันยายน เพื่อลดข้ออ้างของประชากรจีนบางส่วนที่กังวลการใช้เข็มฉีดยา ซึ่งช่วยให้อัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นทันทีถึงจุดสูงสุดที่กว่า 3 ล้านโดสต่อวันในช่วงนั้น หรือ สนับสนุนหน่วยงานเคลื่อนที่เพื่อบริการวัคซีนตามบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่ออกจากบ้านไม่สะดวก เป็นต้น
ประการที่สอง คือ ยารักษาโรคเมื่อป่วย COVID-19 มีเพียงพอต่อการรักษาเพื่อรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่อาจมีมากขึ้นหลังจากการเปิดเมือง ปัจจุบันยาประเภทรับประทานที่คนจะเข้าถึงได้ง่ายที่จีนใช้รักษาคือ Paxlovid โดย Pfizer ที่ได้รับการอนุมัติไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 และมีการร่วมมือกับบริษัท Zhejiang Huahai เพื่อให้สามารถผลิตภายในประเทศจีนไว้รองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2022 จีนมีการประกาศอนุมัติใช้ยารักษา COVID ตัวใหม่ คือ Azvudine ซึ่งนับเป็นผู้ผลิตสัญชาติจีนรายแรกที่ได้รับอนุมัติ โดยในด้านของกำลังการผลิต Paxlovid คาดว่า จะผลิตได้ทั้งหมด 120 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2022 และ Azvudine คาดว่าจะผลิตได้สูงสุดถึง 3 พันล้านโดสต่อปี ซึ่งจากประมาณการของ Goldman Sachs คาดว่า หากจีนเปิดประเทศเต็มรูปแบบและเชื้อที่มีการระบาดยังไม่มีการกลายพันธุ์ อาจต้องใช้ยารับประทานราว 70 ล้านโดสต่อปี ซึ่งน่าจะเพียงพอหากเทียบกับกำลังการผลิตข้างต้น
ประการสุดท้ายคือจำนวนเตียงทั้งหมดของโรงพยาบาลในประเทศจีนเพื่อรองรับผู้ป่วยสูงอายุ ราว 6.7 เตียงต่อประชากร 1 แสนคน ขณะที่สหรัฐอเมริกา และ อังกฤษ ซึ่งมีจำนวนเตียง 2.87 และ 2.46 ต่อประชากร 1 แสนคนตามลำดับ ทั้ง ๆ ที่จำนวนผู้สูงอายุในประเทศทั้งสองอยู่ที่ 16.7% และ 18.9% มีมากกว่าจีนที่เพียง 13.1% เท่านั้น ถือว่าจำนวนเตียงมีปริมาณที่เพียงพอเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม จำนวนเตียงผู้ป่วยฉุกเฉิน (ICU) มีน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศจีนผ่อนคลาย Lockdown ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วย ICU อาจควบคุมได้ถ้ามีการแจกจ่ายวัคซีนเป็นไปตามแผนและยารักษาโรคที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้สามารถลดอาการป่วยหนักจนถึงระดับที่จำเป็นต้องเข้า ICU
การประกาศยกเลิกการกักตัวและใช้เพียงผลตรวจ PCR เป็นลบสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจีน อาจถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายควบคุมโรคระบาดของจีนที่มีท่าทีผ่อนคลายอย่างชัดเจน ทั้งนี้ อาจไม่เหมือนกับช่วงก่อนที่จีนมีการปรับนโยบายกลับไปกลับมาเมื่อมีการระบาดเพิ่มขึ้น สาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่พลาดเป้าหมายที่วางไว้อย่างมากจนทำให้ผลกระทบเริ่มไม่คุ้มค่ากับการระบาดที่น้อยลง ประกอบกับระบบสาธารณสุขของจีนที่พร้อมให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับเชื้อโรคได้ เช่น วัคซีน ยารักษาที่เข้าถึงง่าย รวมถึงเตียงในโรงพยาบาลที่เพียงพอ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนสามารถกลับมาเปิดประเทศร่วมกับชาติอื่น ๆ ได้อีกครั้ง
แผนภาพที่ 1: สัดส่วนประชากรจีนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปและรับวัคซีนบูสเตอร์
ที่มา : International Renewable Energy Agency (IRENA)
======================
บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Health is Wealth ของ กรุงเทพธุรกิจ