Biotechnology เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับที่ 14 (China’s 14th Five-Year Plan) แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 และแผนพัฒนา Healthy China 2030 ซึ่งจีนตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำระดับโลกด้านการผลิตยารักษาโรคด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ (Innovative Drugs)
ภายใต้แผนดังกล่าว จีนมีเป้าหมายให้บริษัทยากว่า 100 บริษัท มีผลิตภัณฑ์ยาที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมถึงสนับสนุนการทำวิจัยพัฒนา (R&D) ยาจีนและยาที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechology)
ทั้งนี้ ในปี 2025 จีนคาดหวังให้ยารักษาโรคของจีนสามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นได้
ข้อมูลจาก IQVIA บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพของสหรัฐฯ รายงานว่า ในปี 2016 อุตสาหกรรมยาของจีนได้แซงหน้าญี่ปุ่น ขึ้นเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมยาที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และคาดว่า ภายในปี 2024 จีนจะสามารถแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมยาใหญ่ที่สุดในโลกได้ ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ GlobalData พบว่า ในปี 2018 ตลาดยาในจีนมีมูลค่า 132 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่า จะพุ่งสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า สู่ระดับ 209 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2022 ตลาดยาที่กำลังเฟื่องฟูของจีนได้ดึงดูดให้มีผู้ร่วมลงทุน (Venture Capital) และนักลงทุนมาลงทุนกันเป็นจำนวนมาก โดยในเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว บริษัทยาสัญชาติอเมริกันอย่าง Eli Lilly ได้ทำข้อตกลงมูลค่า 255 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับบริษัท Junshi Biosciences เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Biotechnology ในเซี่ยงไฮ้ เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนายาและการรักษาโรค COVID-19 ด้วยแอนติบอดี (Antibody Treatment) ซึ่งผลการทดลองระยะที่ 3 พบว่า แอนติบอดีช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรค COVID-19 ได้ถึง 70% ขณะที่บริษัท Biotech ที่เป็นรายใหญ่ของโลก ได้แก่ Amgen (AMGN), AstraZeneca (AZN), Pfizer, Merck, Novartis และ Gilead Sciences (GILD) ก็ต่างให้ความสนใจกับการลงทุนในบริษัท Biotechnology ของจีนเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น ในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว บริษัท Amgen ได้ประกาศถือหุ้นมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของบริษัท BeiGene ในปักกิ่ง ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงที่ว่า BeiGene จะขายยาสามตัวของ Amgen ในจีน และที่สำคัญกว่านั้นคือ BeiGene จะช่วย Amgen ในการพัฒนายารักษามะเร็งตัวใหม่กว่า 20 ชนิด
ถัดมาเป็นบริษัท Pfizer ที่ได้ทำข้อตกลงกับบริษัท CStone Pharmaceuticals ของจีน มูลค่า 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ในการถือหุ้นสัดส่วน 9.9% ของบริษัท CStone Pharmaceuticals ที่จดทะเบียนในฮ่องกง เพื่อได้รับสิทธิ์ในยารักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immuno-oncology Medicines) รวมถึงใบอนุญาตพิเศษในการจำหน่ายยารักษามะเร็งของ CStone ในจีน และล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัท Novartis ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท BeiGene โดยจ่ายเงินล่วงหน้ากว่า 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการพัฒนาและทางการค้ากับสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น สำหรับใช้ Tislelizumab ของ BeiGene ที่ได้รับการอนุมัติในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin และมะเร็งท่อปัสสาวะระยะลุกลาม ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าเงินลงทุนทั้งหมดจาก Novartis ที่จ่ายให้กับ BeiGene นั้น อาจสูงเกินกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ หากดูในแง่ของ Valuation ปัจจุบันของหุ้นกลุ่ม Biotechnology ในจีน ถือว่ายังอยูในระดับที่สมเหตุสมผล โดย Forward 12-Month PE of S&P China A300 – Pharmaceutical & Biotechnology Index (CSSPPHBX) ตัวแทนหุ้นกลุ่ม Biotechnology ในจีน อยู่ที่ระดับ 26.9 เท่า ซึ่งมีค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ประมาณ 25.2 เท่า (As of May 7, 2021)
จะเห็นได้ว่า Biotechnology ของจีน เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และช่วยผลักดันให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นผู้นำนวัตกรรมในการผลิตยารักษาโรคได้ในอนาคต รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนของภาครัฐฯ และการร่วมลงทุนของภาคเอกชนต่างประเทศ ประกอบกับราคาหุ้นที่ยังไม่แพง มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวให้แก่นักลงทุนได้อีกด้วย
===================================
Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้