แม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่การเติบโตการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในจีนยังคงเพิ่มขึ้นสวนทางกับเศรษฐกิจโลก
โดย BloombergNEF ประเมินว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ทั่วโลกมีการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเม็ดเงินลงทุนจากประเทศจีนที่ราว 5.46 แสนล้านดอลลาร์ ทิ้งห่างอันดับสองอย่างสหภาพยุโรปราว 3 เท่า และเป็นตัวเลขที่สูงกว่าในสหรัฐฯ ราว 4 เท่า ขณะที่ข้อมูลจาก EIA ประเมินว่าในช่วงปี 2022-2027 จีนจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นสองเท่าจากช่วงปี 2016-2021 คิดเป็นราว 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ทั่วโลก
นอกจากนี้ ความแข็งแกร่งด้านการผลิตและห่วงโซ่อุปทานยังช่วยสนับสนุนให้บริษัทจีนขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยบริษัทชั้นนำระดับโลก 8 ใน 10 เป็นบริษัทสัญชาติจีน ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทาน
ประกอบกับความตั้งใจในการเปลี่ยนผ่านไปสู่นโยบายด้านพลังงานสีเขียวของประเทศจีนผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปีต่อเนื่องมากว่า 2 ทศวรรษของจีนทำให้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาราคาหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดของจีนที่อยู่ในดัชนี Solactive China Clean Energy ปรับเพิ่มขึ้นถึง 120% (+31% CAGR) สูงกว่าผลตอบแทนจากดัชนี CSI300 และดัชนี MSCI China ที่ให้ผลตอบแทน 0.5% และ -20% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีจะปรับตัวขึ้นมามากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ช่วงนี้ระดับราคาหุ้นพลังงานจีนยังไม่สูงนัก เพราะการปรับตัวของหุ้นจีนที่ผ่านมาส่งผลให้ FWD PE (NTM) ของดัชนี Solactive China Clean Energy ปรับตัวลงมาที่ 18x (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปี ที่ 22.6x) และสัดส่วนกว่า 99% ของบริษัทในดัชนีมีผลกำไรเป็นบวกในปีที่ผ่านมาสะท้อนภาพความแข็งแกร่งของผลประกอบการสวนทางกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
จากการเป็นผู้นำด้านพลังงาสะอาดของจีน การสนับสนุนธุรกิจพลังงานสะอาดโดยรัฐบาลจีน ผสานกับปัจจัยหนุนระยะยาวจากข้อตกลงปารีสที่รัฐบาลทั่วโลกมีข้อตกลงร่วมกันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจะช่วยสนับสนุนการเติบโตบริษัทด้านพลังงานหมุนเวียนในจีน และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวให้กับการลงทุนในธีมพลังงานสะอาดจีนได้
บทความโดย ยศรวี จงแสงทอง AFPTTM
Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้