ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง และกำลังเข้าสู่ภาวะ Recession การลงทุนในหุ้นจึงต้องเลือกหุ้นกลุ่มที่สามารถช่วยลดความเสี่ยง มีปัจจัยเร่งจากเหตุการณ์ที่นักลงทุนให้ความสนใจ และมีการเติบโตที่ชัดเจนในระยะยาวอย่างการลงทุนในธีม Megatrends 3D ซึ่งประกอบไปด้วย Demographics, Decarbonization และ Deglobalization ซึ่งในที่นี้ จะขอกล่าวถึงกลุ่ม Decarbonization ที่น่าจับตามองในตอนนี้
Decarbonization ถือเป็นเป้าหมายที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และจีน เนื่องจากต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องมลพิษ สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy) อย่างยั่งยืนในอนาคต
ขณะเดียวกัน ด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการจัดหาพลังงาน ราคาน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้วิกฤตการขาดแคลนพลังงานทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปที่ต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียจำนวนมาก จึงต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งทำให้หลายประเทศต่างตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ โดยมีการเร่งการลงทุนและพัฒนาการใช้พลังงานสะอาด ที่มีต้นทุนการผลิตถูกลงตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ดังแผนภาพที่ 1) ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า และสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ
แผนภาพที่ 1: ต้นทุนการผลิตพลังงานสะอาดถูกลงอย่างมีนัยสำคัญด้วยเทคโนโลยี
ที่มา : International Renewable Energy Agency (IRENA)
ล่าสุด สหภาพยุโรป (EU) ได้เสนอแผน REPowerEU มูลค่า 2.1 แสนล้านยูโร (ราว 2.21 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มีเป้าหมายว่า ภายในสิ้นปีนี้ จะลดการใช้ก๊าซจากรัสเซียทั่วทั้ง EU ลงกว่า 66% และจะเลิกพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียโดยสิ้นเชิงก่อนปี 2027 โดยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ขณะที่สหรัฐฯ เอง ก็ได้ผ่านร่างกฎหมาย Inflation Reduction Act ที่มีเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานกว่า 369,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้ง ยังมีเป้าหมายในการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emission Targets) ในหลายประเทศตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ภายในปี 2050 และจีนภายในปี 2060 ซึ่งคาดว่า จะเร่งการใช้พลังงานสะอาดในทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ทางสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) คาดว่า กำลังการผลิตพลังงานสะอาดระหว่างปี 2019 – 2024 จะขยายตัวถึง 50% และการลงทุนด้านพลังงานสะอาดจะเกิน 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2022 ซึ่งคิดเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของการเติบโตด้านการลงทุนในพลังงานทั้งหมด โดยการลงทุนในพลังงานสะอาดสูงสุดปีนี้อยู่ที่จีนจำนวน 380,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วย EU ที่ 260,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสหรัฐฯ ที่ 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ
ปัจจุบัน ส่วนแบ่งของพลังงานสะอาดคิดเป็น 26% ของพลังงานไฟฟ้าโลก โดย IEA คาดว่า ส่วนแบ่งของพลังงานสะอาดจะเพิ่มเป็นกว่า 30% ของพลังงานไฟฟ้าโลก ภายในปี 2024 จากต้นทุนทางเทคโนโลยีที่ลดลง และความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น และคาดว่า ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดทั่วโลกจะเติบโต 1,200 กิกะวัตต์ (GW) เทียบเท่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของสหรัฐฯ
หากดูในแง่ของ Valuation ของหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดก็ยังไม่แพง โดย Forward P/S of S&P Global Clean Energy Index (as of Oct 18, 2022) อยู่ที่ประมาณ 1.76 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีเล็กน้อยที่ 1.79 เท่า และสามารถทำผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น ย้อนหลัง 3 ปีที่ราว 68% ในขณะที่ดัชนี S&P 500 Energy Index และดัชนี MSCI World Energy ซึ่งเป็นพลังงานแบบดั้งเดิมให้ผลตอบแทนราว 49% และ 24% ตามลำดับ
รวมถึงหลายบริษัทในกลุ่มพลังงานสะอาด ก็ได้รับอานิสงส์จากการขาดแคลนพลังงานของประเทศทางฝั่งยุโรปเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น บริษัท Enphase Energy ผู้ผลิตแผงโซลาร์แบบ Microinverter ได้รับรายได้จากยุโรปใน Q2’22 เพิ่มขึ้นกว่า 69% QoQ เช่นเดียวกับบริษัท Solaredge Technologies ผู้ผลิต Inverter สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ของโลก มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 52% QoQ อยู่ที่ 727.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จะเห็นได้ว่า วิกฤตด้านพลังงานและการรุกรานยูเครนของรัสเซียกำลังกระตุ้นให้หลายประเทศตระหนักถึงการลงทุนในพลังงานสะอาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนต่อหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดที่ราคาหุ้นยังไม่แพง และเป็นหนึ่งใน Megatrends 3D ของโลกที่มีโอกาสเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดในอนาคต อีกทั้งยังตอบโจทย์สำหรับแผนการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณอีกด้วย
======================
บทความโดย วิภาดา ศุภกุลวณิชย์ AFPT Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Global Wealth Strategy ของ กรุงเทพธุรกิจ