ปีทองตลาดหุ้นเวียดนาม Country winner ปี 2024
เข้าสู่โค้งสุดท้ายของไตรมาส 1 ปี 2024 ตลาดหุ้นหลายแห่งทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย ยังเดินหน้าทำ New high อย่างต่อเนื่อง ทำให้การเข้าลงทุนในระดับราคาปัจจุบันเริ่มมีความเสี่ยง (Downside risk) ที่สูงขึ้นจาก Valuation ที่เริ่มตึงตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการในปีนี้สูงเป็นลำดับต้นๆของโลกและยังซื้อขายบน Valuation ที่ต่ำใกล้เคียงกับช่วง COVID-19 นั่นก็คือ “ตลาดหุ้นเวียดนาม” ซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสจะสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมเป็น “Country winner” ในปี 2024 จากเหตุผลดังต่อไปนี้
1. อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ สวนทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก
ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยหลายประเทศทั่วโลกยังทรงตัวในระดับที่สูงสุดในรอบทศวรรษ แตกต่างจากเวียดนามที่อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงตั้งแต่ปีที่แล้ว มาอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปีที่ระดับ 4.5% โดยธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ยังได้ส่งสัญญาณเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปี 2024 ปัจจัยดังกล่าวส่งผลบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในเงินฝาก และพันธบัตรรัฐบาลในเวียดนามมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนรายย่อยในเวียดนามมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดหุ้นที่ให้ ผลตอบแทนสูงกว่า นอกจากนี้ ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำยังส่งผลบวกต่อการลงทุนภาคเอกชน ตลอดจนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เคยประสบปัญหา สภาพคล่องในปี 2022 ให้กลับมาฟื้นตัวได้ ทั้งในแง่ของต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการที่ลดลงและกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภค ที่เพิ่มขึ้น
2. ภาครัฐยังมีขีดความสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ต่างจากประเทศอื่น
การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐฯจำนวนมหาศาลในหลายประเทศ เพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงเกิดวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นข้อจำกัดในปัจจุบันของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดจากกรณีของสหรัฐฯ ยุโรป หรือไทยเองก็ตาม
ในทางตรงกันข้าม เวียดนามมีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ต่ำเพียงแค่ 37% ต่อ GDP ทำให้รัฐบาลยังมีขีดความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกมาก ผ่านทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลเวียดนามได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนภาครัฐในปี 2024 นี้ไว้ที่ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นการเติบโต +37% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการลดภาษีการบริโภค (VAT) ลงจาก 10% เป็น 8% เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวขึ้น
3. ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความกังวลเป็นอย่างมากให้กับนักลงทุนในปี 2024 ทั้งความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯในช่วงปลายปีนี้ กรณีพิพาทระหว่างจีนกับไต้หวัน รวมถึงนโยบายรัฐบาลจีนที่มีความเข้มงวดจน ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 2023 ลดลงแตะระดับ ต่ำสุดในรอบ 30 ปีและเป็นแรงหนุนให้กระแส “China Plus One” หรือการกระจายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น
เวียดนามถือเป็นประเทศที่ได้อานิสงส์จากประเด็นดังกล่าว สะท้อนจากตัวเลข FDI ที่เติบโตถึง 32% แตะระดับ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2023 ที่ผ่านมา เนื่องจากพรมแดนที่ติดกับจีน ค่าแรงที่ถูก ตลอดจนการมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 16 ฉบับ มากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศ ในกลุ่มอาเซียน ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นเป้าหมายของต่างชาติในการเข้ามาลงทุนแบบ FDI โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและรองเท้า รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่าง Semiconductors ที่ได้เริ่มมีบริษัทระดับโลกอย่าง Nvidia วางแผนเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม เพื่อยกระดับเวียดนามเป็น “The New Tech Hub of Asia”
4. พร้อมอัพเกรดสถานะรับ Fund flows ต่างชาติ
การเลื่อนสถานะขึ้นเป็นตลาดหุ้น Emerging markets ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นภายในช่วงปลายปี 2024 หรือต้นปี 2025 โดยปัจจุบันตลาดหุ้นเวียดนามถือเป็น “พี่ใหญ่” ในกลุ่มตลาดหุ้น Frontier markets ด้วยสัดส่วนที่มากถึง 35% ในดัชนี FTSE Frontier Index ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามกำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการพัฒนาระบบชำระราคาหลักทรัพย์ให้มีความเป็นสากล ตลอดจนปลดล๊อคข้อจำกัดการซื้อขายหุ้นแบบ Pre-funding ซึ่งเป็นข้อจำกัดสุดท้ายที่ทำให้เวียดนามยังไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นตลาดหุ้น EM ได้ หากกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้น คาดว่าทาง FTSE จะเป็นสถาบันแรกที่พร้อมจะประกาศเปลี่ยนสถานะให้เวียดนามเป็นตลาดหุ้น Emerging markets ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีแรงหนุนจากกระแสเงินทุนต่างชาติกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ การเข้ามามีส่วนร่วมของนักลงทุนต่างชาติจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้นเวียดนาม ทำให้ตลาดมีเสถียรภาพมากขึ้นและนำไปสู่ Valuation ที่สูงขึ้นในระยะยาว
5. Valuation ยังต่ำใกล้เคียง COVID-19
แม้ตลาดหุ้นเวียดนามมีการปรับตัวขึ้นมา +12% ในปีที่แล้วและอีก +8% ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ แต่ Valuation ยังอยู่ระดับที่ “ถูกใกล้เคียงกับ ช่วง COVID-19” สะท้อนจากค่า Forward P/E ปี 2024 ที่ระดับ 10 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ระดับ 12 เท่าถึงราว 20% ทั้งนี้ Bloomberg consensus ประเมินอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในเวียดนามไว้ที่ +28% YoY ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่โดดเด่นที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลก โดยการเติบโตของผลประกอบการได้รับแรงหนุนทั้งจากกลุ่มธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยี รวมถึงกลุ่ม Consumer ที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว
ดังนั้น ปี 2024 ตลาดหุ้นเวียดนามจึงถือเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่มีโอกาส Outperform ตลาดหุ้นโลกได้ ทั้งจากปัจจัยด้าน “Fundamental” ที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียน รวมถึงแรงหนุนจากปัจจัยด้าน “Fund flows” จากนักลงทุนรายย่อยในประเทศจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงแรงหนุนจากเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติในอนาคต เมื่อมีการประกาศอัพเกรดสถานะเวียดนามขึ้นเป็น Emerging markets
โดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT
Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้