ท่ามกลางโลกที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในทุกๆ อุตสาหกรรม ทั้งเทคโนโลยี 5G, Internet of Things, AI & Machine Learning และ Blockchain ตลอดจนการมุ่งหน้าเข้าสู่การสร้างโลกเสมือนจริงอย่าง Metaverse สิ่งที่กำลังเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวของบรรดา Megatrends เหล่านี้ ก็คือ “การโจรกรรมทางไซเบอร์” ที่นอกจากจะสร้างมูลค่าความเสียหายที่เป็นตัวเงินให้กับบรรดาองค์กรแล้ว ยังรวมถึงความเสียหายในแง่ของชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กร ซึ่งไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเงินได้อีกด้วย
จากบทวิจัยของ Canalys บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีชั้นนำชี้ว่า ค่าเฉลี่ยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา กลุ่มองค์กรที่ตกเป็นเหยื่อของการโจรกรรมทางไซเบอร์และมีการรั่วไหลของข้อมูลมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บริษัทกลุ่ม Technology & Data Analytics (คิดเป็น 28%) บริษัทกลุ่ม Healthcare (คิดเป็น 16%) และ Government (คิดเป็น 14%) โดยมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการโจรกรรมทางไซเบอร์ทั่วโลกได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2015 ขึ้นมาแตะระดับ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2020 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสการ Work from Home ทั่วโลกและการใช้งานเทคโนโลยีที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ผลสำรวจความเห็นของบรรดา CIO (Chief Information Officer) ในสหรัฐฯ ซึ่งจัดทำโดย Citi Research พบว่า CIO ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบ Cyber Security มาเป็นอันดับที่หนึ่ง โดยองค์กรเหล่านี้ต้องการเร่งลงทุนในระบบ Cyber Security ด้วยการว่าจ้างบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาติดตั้งและวางระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ มากกว่าที่จะใช้ทีม In-house IT ของบริษัทในการพัฒนาระบบดังกล่าวเอง ทั้งนี้ จากการประมาณการณ์ของ Cybersecurity Ventures บริษัทวิจัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ชั้นนำระดับโลก คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบ Cyber Security ขององค์กรทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2021 ไปแตะระดับ 4.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2025 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 15% ต่อปี
เห็นได้ชัดเจนว่า โลกยุคดิจิทัลในอนาคต นอกจากบริษัทต่างๆ จะต้องพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่แล้ว บริษัทยังจำเป็นต้องมีระบบการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับองค์กรด้วย ด้วย Unstopable Trend ของการทำ Digital Transformation ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้บริษัทผู้ให้บริการพัฒนาและจำหน่ายระบบ Cyber Security เป็นผู้ได้รับประโยชน์และกลายเป็นธุรกิจเทคโนโลยีดาวรุ่งที่มีความโดดเด่นและแตกต่างจากหุ้นเทคโนโลยีทั่วไปที่นักลงทุนควรจับตามองด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
การเติบโตของรายได้ที่โดดเด่น
ในช่วงระหว่างปี 2020 ถึงปี 2022 รายได้ของบริษัทกลุ่ม Cyber Security สามารถเติบโตได้ถึง 26% แบบเฉลี่ยทบต้น ถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าบริษัทในดัชนี Nasdaq 100 ที่เติบโตได้ที่ระดับ 15% แบบเฉลี่ยทบต้นเท่านั้น ทั้งนี้ ในปี 2022 นักวิเคราะห์ใน Bloomberg Consensus ยังคาดการณ์ว่ารายได้ของธุรกิจ Cyber Security จะเติบโตได้สูงถึง 22% เมื่อเทียบกับปีก่อน
การรับรู้รายได้ที่สม่ำเสมออันเนื่องมาจากต้นทุนในการเปลี่ยนย้าย (Switching Costs)
เนื่องจาก Business Model ของบริษัทในกลุ่ม Cyber Security มักจะมีรายได้หลักด้วยกันสองประเภท หนึ่งคือ รายได้จากการขายอุปกรณ์ (Hardware) ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และสองคือ รายได้จากการให้เช่าใช้ Software แบบ Subscription ที่ลูกค้าจะต้องจ่ายค่าเช่าใช้ Software เป็นรายเดือน/รายปีให้กับบริษัทผู้ให้บริการระบบ Cyber Security หลังจากที่ติดตั้งระบบเสร็จ ด้วยลักษณะสินค้าและบริการที่ “มีความจำเป็น” ต่อองค์กร รวมถึงต้นทุนในการเปลี่ยนย้าย (Switching Costs) ที่สูง ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบใหม่ ต้นทุนทางด้านเวลาในการฝึกสอนพนักงาน ทำให้ลูกค้ามักจะมีการใช้บริการซ้ำและไม่เปลี่ยนไปใช้บริการเจ้าอื่นโดยไม่จำเป็น ส่งผลให้บริษัทผู้ให้บริการระบบ Cyber Security มีรายได้ที่สม่ำเสมอ หรือที่เรียกว่า “รายได้ที่เกิดขึ้นประจำ” (Recurring Income) เป็นสัดส่วนหลักในโครงสร้างรายได้
ความสามารถในการทำกำไรที่สูงกว่าบริษัทเทคโนโลยีทั่วไป
สะท้อนจากอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของบริษัทกลุ่ม Cyber Security โดยเฉลี่ยที่สูงถึงระดับ 77% สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจในการต่อรองกับลูกค้าที่สูง การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมที่ไม่รุนแรง รวมถึงความสามารถในการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพกว่าหุ้นเทคโนโลยีทั่วไป อย่างเช่น บริษัทในดัชนี Nasdaq 100 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับเพียง 47% เท่านั้น
ความเสี่ยงในการลงทุนที่ต่ำกว่าบริษัทเทคโนโลยีประเภทอื่นๆ
เนื่องจากธุรกิจ Cyber Security ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ในระยะ “Early Majority” ซึ่งเป็นระยะที่สินค้าและบริการเริ่มติดตลาด อันเนื่องมาจาก Demand ที่สูง รวมถึงมี Adoption Rate หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้งานขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริษัทในอุตสาหกรรมมีการเติบโตของรายได้ที่สูง และทำให้การลงทุนในหุ้นกลุ่ม Cyber Security มีความเสี่ยงในการลงทุนที่ต่ำกว่าบริษัทเทคโนโลยีประเภทอื่นๆ ที่ธุรกิจกำลังอยู่ในช่วง Early Stage ซึ่งยังเป็นช่วงที่รายได้ของธุรกิจยังมีความไม่แน่นอน
จะเห็นได้ว่า Cyber Security ถือเป็นอีกหนึ่ง Future Trend of Technology ที่มีความสำคัญต่อโลกยุคดิจิทัลที่กำลังขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากการที่บรรดาองค์กรต่างๆ ทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Data Security และหันมาเร่งลงทุนในระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ อีกทั้งยังเป็นหุ้นกลุ่มที่รายได้มีการเติบโตสูงและมีความสามารถในการทำกำไรที่ดีกว่าหุ้นเทคโนโลยีทั่วไป ทำให้เรามองว่าหุ้นกลุ่ม Cyber Security เป็นหุ้นเทคโนโลยีดาวเด่นที่นักลงทุนควร Install เข้าพอร์ตการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมในปี 2022
===================================
บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™
Wealth Manager ธนาคารทิสโก้