ช่วงเวลาที่กำลังเข้าใกล้อายุเกษียณเป็นต้นไปถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดสำหรับการวางแผนเกษียณ เพราะแผนการเงินจะไม่สามารถยืดหยุ่นตามภาวะเศรษฐกิจเหมือนกับช่วงวัยทำงาน หากเกิดภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นผันผวนรุนแรงอาจทำให้เงินลงทุนลดลงและใช้เงินหลังเกษียณหมดเร็วกว่าแผนที่วางไว้ได้ แต่ด้วยวิธีการแก้ปัญหาดั้งเดิมก็คือการปรับการลงทุนไปตราสารที่มีความเสี่ยงน้อยลงในช่วงหลังเกษียณ เช่น ลดสัดส่วนหุ้นและซื้อตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ให้มากขึ้นภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่แม้แต่กองทุนตราสารหนี้ยังสามารถขาดทุนได้ ขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนก็ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่กัดกินอำนาจซื้อในทุกๆ ปีด้วยนั้น คงยังไม่ตอบโจทย์สำคัญสำหรับแผนการเงินหลังเกษียณที่ต้องเน้น “รักษาเงินต้น” แต่ขณะเดียวกันต้องมีโอกาส “สร้างผลตอบแทน” ให้เหนือกว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งเศรษฐกิจขาขึ้นและขาลงด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินในปัจจุบันสามารถออกแบบขึ้นมาให้ป้องกันการสูญเสียเงินต้นพร้อมทั้งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่สามารถให้ผลตอบแทนสูงได้ด้วยนั่นคือกองทุน Dual Shark – Fin
กองทุน Dual Shark – Fin เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนผสมผสาน 2 สินทรัพย์ ระหว่างตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ และซื้อ Options หรือตราสารสิทธิซึ่งเป็นอนุพันธ์รูปแบบหนึ่ง โดยทั้งสองผลิตภัณฑ์สามารถออกแบบการลงทุนเพื่อให้การลงทุนใน Dual Shark – Fin เปรียบเสมือนกับการลงทุนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับการคุ้มครองเงินต้น (Capital Protection) ได้ ขณะเดียวกันสามารถสร้างผลตอบแทนด้วย Options ที่ราคาของตราสารจะมีการเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงตามราคาของสินทรัพย์อ้างอิงได้
วิธีการสร้างคุณสมบัติ Capital Protection ของ Double Shark – Fin ด้วยตัวอย่างสำหรับกองทุนที่มีอายุ 1 ปี จะนำเงินลงทุนประมาณร้อยละ 98 – 99 ไปลงทุนในตราสารหนี้อย่างพันธบัตรหรือหุ้นกู้เอกชนคุณภาพดีที่อยู่ในกลุ่ม Investment Grade (IG) และอายุคงเหลือของตราสารเทียบเท่า 1 ปี โดยในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ในกลุ่ม IG ของไทยอยู่ที่ 1.8 – 2.2% โดยเฉลี่ย ดังนั้นเมื่อลงทุนครบ 1 ปี การลงทุนในตราสารด้วยมูลค่าของเงินลงทุนร้อยละ 98 – 99 จะเพิ่มขึ้นไปที่ร้อยละ 100 หรือเท่ากับมูลค่าเงินต้น ณ วันลงทุน ซึ่งการลงทุนในหุ้นกู้ IG ที่มีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ก็เปรียบเสมือนการสร้างรูปแบบการปกป้องเงินต้นนั่นเอง
ส่วนคุณสมบัติที่สอง คือ การสร้างผลตอบแทนด้วยสินทรัพย์อ้างอิงด้วย Options ด้วยตัวอย่างกองทุนอายุ 1 ปีเช่นเดิม จะนำเงิน 1 – 2% ที่คงเหลือจากการลงทุนในตราสารหนี้ ไปลงทุน Options เพิ่มเติม ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนได้เมื่อราคาสินทรัพย์อ้างอิงเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ขึ้นอยู่กับรูปแบบของ Options ที่เข้าลงทุนเพราะตราสารประเภทนี้สามารถบริหารให้ได้กำไรได้ทั้งแนวโน้มราคาสินทรัพย์อ้างอิงขาขึ้นและขาลง หรือทำกำไรได้ทั้ง 2 ทาง แต่อาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น การกำหนดอัตราการมีส่วนร่วม (Participation Rate: PR) โดยจะนำมาคำนวณหาผลตอบแทนสุทธิให้ผู้ลงทุนจากส่วนต่างราคาสินค้าอ้างอิงตั้งแต่เริ่มต้นตั้งกองทุนจนถึงวันสิ้นสุดกองทุน หรือหากระดับราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงเกินกว่ากรอบที่กำหนดไว้ (Knock-out Barrier) ผู้ลงทุนอาจได้รับเพียงผลตอบแทนชดเชย (Rebate) ที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์แต่ไม่ขาดทุน
ยกตัวอย่างกองทุน Double Shark – Fin อายุ 1 ปี สินทรัพย์อ้างอิง คือ ดัชนี S&P500 โดยกำหนด Knock – out Barrier) ช่วงส่วนต่างราคา -20% ถึง +20% ด้วย PR = 50% และมี Rebate = 0.25% จะมีโอกาสออกผลลัพธ์ได้ 2 กรณีหลักๆ คือ กรณีที่ 1: กรณีที่ราคาเคลื่อนไหวไม่เกิน Knock-out Barrier เช่น หากดัชนี S&P500 ปรับเพิ่มขึ้น +15% คูณด้วย PR 50% ผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนสุทธิ 7.5% แม้ว่าจะรับผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในดัชนี S&P500 แบบปกติที่ควรจะได้ +15% แต่หากดัชนี S&P500 ครบ 1 ปีลดลง -20% ผู้ลงทุน Double Shark – Fin จะได้รับผลตอบแทนเท่ากับ 20% คูณด้วย PR 50% เท่ากับผลตอบแทนสุทธิของกองทุนเท่ากับ 10% ขณะที่กรณีทั่วไปเมื่อลงทุนในดัชนี S&P500 ตามปกติผู้ลงทุนต้องขาดทุนถึง -20% ซึ่งเป็นข้อดีของกองทุนที่สามารถปิดโอกาสขาดทุนจากการลงทุนได้
กรณีที่ 2: กรณีที่เกิน Knock-out Barrier ภายใน 1 ปี หากดัชนี S&P500 ลดลงหรือเพิ่มขึ้นสูงกว่า 20% ภายใน 1 ปี ผู้ลงทุนจะได้ Rebate เพียง 0.25% ของเงินลงทุน ซึ่งหากวาดแผนภาพจำลองผลตอบแทนในแต่ละกรณีจะมีรูปแบบคล้ายกับครีบฉลาม 2 อันตามชื่อ Double Shark – Fin นั่นเอง ทั้งนี้ในความเป็นจริงรายละเอียดของเงื่อนไขผลตอบแทนขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดซึ่งมีความแตกต่างออกไปได้จากตัวอย่างนี้
จะเห็นได้ว่าความน่าสนใจของกองทุน Double Shark – Fin นั่นคือเสมือนคุ้มครองเงินต้นพร้อมเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ ณ ระยะเวลาการลงทุนและความเสี่ยงของตราสารเท่ากัน อีกทั้งไม่ต้องจับจังหวะการลงทุนเพราะสามารถทำกำไรทั้งราคาขาขึ้นและขาลงได้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่มีประโยชน์อย่างมากในการปิดจุดอ่อนแผนเกษียณ โดยลดความสูญเสียเงินเกษียณจากการลงทุนและไม่ต้องเสียเวลาศึกษาและจับจังหวะการลงทุน นั่นทำให้ผู้เกษียณลดความกังวลในการบริหารเงินและมีเวลาใช้ชีวิตหลังเกษียณให้มีความสุขมากขึ้นอีกด้วย
แผนภาพที่ 1: ตัวอย่างการกำหนดผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนสำหรับกองทุน Double Shark – Fin
เผยแพร่ครั้งแรก คอลัมน์ Holistic Financial Advisory กรุงเทพธุรกิจ