การวางแผนการเงิน หรือ “Financial Planning” อาจแปลความหมายได้ว่า เป็นการจัดการเรื่องเงิน แต่จริงๆ แล้วการวางแผนการเงินนั้นครอบคลุมแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต อีกทั้งการวางแผนการเงินจะเป็นเหมือนยานพาหนะที่พาผู้วางแผนแต่ละรายเดินทางจากปัจจุบันไปยังเป้าหมายที่ต้องการในอนาคต
ซึ่งที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักจะเห็นถึงคุณค่าของการวางแผนการเงินก็ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันบางอย่างที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ได้ส่งผลต่อรายได้ของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาชีพที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก เนื่องจากการปิดประเทศที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางได้ แน่นอนว่าหากคุณเป็นเสาหลักของครอบครัว มีภาระหนี้สินที่ต้องดูแล และมีค่าใช้จ่ายคงที่ คงต้องปวดหัวกับเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่น้อย
แต่หากคุณวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเจอวิกฤตใดๆ ก็ย่อมได้เปรียบกว่าคนที่ไม่ได้วางแผนการเงินอย่างแน่นอน เพราะนอกจากคุณจะจัดเตรียมค่าใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินไว้ล่วงหน้าแล้ว ยังช่วยลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งในชีวิตประจำวัน และภาระหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบอีกด้วย
จึงอาจกล่าวได้ว่า คนที่วางแผนการเงินจะมี “ภูมิคุ้มกันด้านการเงินที่ดี” ซึ่งจำเป็นสำหรับุการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่ “เงิน” คือสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต…
การวางแผนการเงินเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล
การออกแบบแผนทางการเงินที่ดีควรจัดทำแผนเป็นแบบองค์รวม โดยคำนึงถึงด้านต่างๆ ตามพีรามิดการเงิน (ดังแผนภาพที่ 1) ทั้งการวิเคราะห์สถานภาพทางการเงิน การวางแผนบริหารความเสี่ยง การวางแผนการลงทุน การวางแผนภาษี การวางแผนเกษียณ และการวางแผนมรดก
แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถใช้แผนการเงินเดียวกันได้ เพราะการวางแผนการเงินที่ดีนั้น ควรเป็นการวางแผนที่จำเพาะต่อบุคคลหรือครอบครัวนั้นๆ เนื่องจากแต่ละบุคคล แต่ละครอบครัวก็จะมีความต้องการและเงื่อนไขของชีวิตที่ต่างกัน และแต่ละช่วงอายุก็จะให้ความสำคัญกับการวางแผนในแต่ละด้านที่ไม่เท่ากัน แต่ความแตกต่างกันนี้จะอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน คือจะต้องยึดหลักการตามพีระมิดการเงิน เพื่อให้ครบถ้วนในทุกด้านของชีวิต
แล้วเราจะเริ่มวางแผนการเงินอย่างไร?
ตามหลักการแล้วผมแนะนำให้เริ่มจากการตรวจสอบสถานะทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการวิเคราะห์สถานภาพทางการเงินก่อน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งและความแข็งแกร่งทางการเงินในปัจจุบัน ต่อด้วยการวางแผนบริหารความเสี่ยง เพื่อปกป้องความมั่งคั่งที่มีไม่ให้ลดลงจากความไม่แน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจึงจะเริ่มการวางแผนการออมและการลงทุนเพื่อต่อยอดความมั่งคั่งหรือวางแผนการศึกษาบุตร การวางแผนเกษียณ หรือการวางแผนการลงทุน เพื่อเป้าหมายอื่นๆ ตามต้องการ ลำดับถัดไปคือการวางแผนการส่งต่อมรดกให้แก่คนในครอบครัว และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ คือการวางแผนภาษี ซึ่งจำเป็นสำหรับทุกช่วงของการวางแผนการเงิน
ผมขอย้ำว่า คุณควรให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบต่างๆ ตามช่วงอายุเป็นหลัก เนื่องจากแต่ละช่วงอายุจะมีการให้ลำดับความสำคัญต่อเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น หากคุณอยู่ในวัยที่เพิ่งจะเริ่มทำงาน อาจให้ความสำคัญกับการเริ่มวางแผนค่าใช้จ่ายและการออมเป็นหลัก เพราะในช่วงแรกของการเริ่มทำงาน อาจจะยังมีรายได้ที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งหากมีการใช้จ่ายที่เกินตัวหรือก่อหนี้ที่เกินกำลังก็จะส่งผลต่อสถานภาพทางการเงินในระยะยาวได้ ดังนั้น จึงควรวางแผนรายรับรายจ่ายให้ดี โดยยึดหลัก “ออมก่อนใช้” คือ หัก 10% ของรายได้รวมมาเป็นเงินออม ก่อนที่จะใช้จ่ายต่างๆ เพื่อสร้างนิสัยและวินัยทางการเงินที่ดี
ยิ่งไปกว่านั้น หากคุณอยู่ในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรเริ่มให้ความสำคัญกับการวางแผนเกษียณแล้ว เพราะหากเริ่มวางแผนเกษียณที่อายุมากกว่านี้ คุณอาจจะเตรียมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ เพราะจากข้อมูลในปี 2650 ได้สะท้อนปัญหาของคนไทยกว่า 19% ว่ามีเงินไม่พอต่อการเกษียณอายุ ดังนั้น หากเริ่มวางแผนเกษียณอายุช้าเกินไปอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตหลังเกษียณได้
แผนภาพที่ 1: พีระมิดการเงิน
ที่มา: TISCO Advisory ธนาคารทิสโก้
จะเห็นได้ว่า การวางแผนการเงินนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่การจัดสรรเงินหรือการลงทุน แต่ความหมายของการวางแผนการเงินนั้นครอบคลุมทุกส่วนของชีวิต อีกทั้งการวางแผนการเงินยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การเดินทางจากสถานะในปัจจุบันไปถึงยังเป้าหมายในอนาคตได้ตามที่ต้องการ พร้อมทั้งมีภูมิคุ้มกันทางการเงินต่อสภาวะแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะด้วย ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้จะเป็นตัวช่วยชั้นยอดที่ทำให้คุณรอดพ้นวิกฤตการเงินในทุกสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้คุณเห็นภาพและเข้าใจถึงการวางแผนที่เจาะลึกในแต่ละพาร์ท ในครั้งต่อไปผมจะมาบอกเล่าถึงรายละเอียดของการวางแผนการเงินในขั้นตอนต่างๆ แบบเจาะลึกยิ่งขึ้น โปรดติดตามใน Financial Planning The Series ที่ไทยรัฐ พลัส
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน ส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] หรือ Facebook: TISCO Advisory
===================================
บทความโดย : นรุตม์ สีแสงสุวรรณชัย CFP®
Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้