ทุกวันที่ 4 ก.พ. ปี 2024 องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล (UICC) กำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก ซึ่งปีนี้เป็นปีสุดท้ายของแคมเปญ “Close the gap” หรือ “ปิดช่องว่าง สร้างโอกาส เข้าถึงการรักษามะเร็งด้วยนวัตกรรม” ด้วยการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของโรคมะเร็ง และเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและลดผลกระทบจากมะเร็งร้าย ซึ่งส่วนหนึ่งของ “ช่องว่าง” ภายใต้แคมเปญดังกล่าวมาจากความสามารถในการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งซึ่งอาศัยค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรคภัยอื่น ส่วนของประเทศไทยนั้นภาครัฐฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญกับการปิดช่องว่าง สร้างโอกาสในการรักษามะเร็งด้วยการเสนอสวัสดิการจากรัฐฯ เช่น สิทธิข้าราชการ, สิทธิประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ซึ่งทั้งหมดดูเหมือนว่าจะครอบคลุมทั้งข้าราชการและประชาชนทั่วไป แต่ที่จริงแล้วยังมีช่องว่างที่เราสามารถวางแผนการเงินเพิ่มเติมยกระดับคุณภาพชีวิตระหว่างการรักษาและภายหลังจากการรักษาได้ และอาจรวมไปถึงเทคนิคบางอย่างเพื่อให้ครอบคลุมแผนการเงินระยะยาวอีกด้วย
ช่องว่างแรก คือ ขั้นตอนในการรักษาเมื่อใช้สิทธิต่างๆ สำหรับสิทธิบัตรทองกับสิทธิข้าราชการมีความคล้ายคลึงตรงที่สิทธิการรักษาจะสามารถใช้ได้กับสถานพยาบาลของรัฐฯ หรือโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่มีข้อตกลงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกรมบัญชีกลางซึ่งอาจมีจำนวนจำกัด ขณะที่ข้อมูลจากกรมการแพทย์เมื่อปี 2023 ระบุว่ามีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นถึงปีละ 140,000 ราย อาจทำให้ใช้เวลาในกระบวนการรักษานาน หรือแม้ว่าผู้ที่เป็นสมาชิกประกันสังคมที่อยากใช้สิทธิประกันสังคมเพราะสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่ตนเองลงทะเบียนไว้ได้ ก็อาจต้องยอมเลื่อนการรับเงินบำนาญชราภาพออกไปก่อนอันมีผลให้กระทบกับแผนการเงินระยะยาวได้ ดังนั้นเราสามารถวางแผนด้วยประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายเพื่อให้เราสามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษากับสถานพยาบาลแห่งใดก็ได้โดยเร็วที่สุด และยังไม่เสียสิทธิในการรับเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคมด้วย
ช่องว่างต่อมา คือ การเบิกค่ายาหรือเวชภัณฑ์สำหรับการรักษาโรคมะเร็งด้วยสิทธิข้าราชการจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกโรคสำหรับการรักษาพยาบาลภายในโรงพยาบาลของรัฐฯ และเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรงผู้ป่วยในของกรมบัญชีกลาง อย่างไรก็ดีกรมบัญชีกลางสามารถปรับปรุงเกณฑ์การเบิกจ่ายยาประเภทที่มีนวัตกรรมสูง เช่น กลุ่มยามุ่งเป้า (Targeted therapy) เพื่อรักษาโรคมะเร็ง โดยจะให้เบิกไม่ให้เกินอัตราที่กำหนด จึงอาจมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ ตัวอย่างเช่น ยา Trastuzumab ที่ใช้สำหรับมะเร็งเต้านมจำนวน 18 ครั้งมีค่าใช้จ่ายสูงสุดถึง 2 ล้านบาท สำหรับยาต้นแบบ (Original) หรือเฉลี่ยครั้งละ 120,000 บาท ขณะที่ความเข้มข้นสูงสุดที่เบิกจากกรมบัญชีกลางจะอยู่ที่ 12,350 บาทต่อไวแอลหรือต่อครั้งเท่านั้น เช่นเดียวกันกับสิทธิบัตรทองที่หากเป็นกลุ่มยามุ่งเป้าบางตัวที่อาจอยู่นอกบัญชีหลักแห่งชาติ หรือสิทธิประกันสังคมที่การรักษาอยู่นอกเหนือ 20 โรคมะเร็งรักษาฟรี หรือการรักษาที่อยู่นอกเหนือแนวทางการรักษา (Protocol) ของสำนักงานหลักประสุขภาพแห่งชาติจะได้สิทธิประโยชน์จำกัด เช่น ประกันสังคมจะให้เบิกไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้งต่อปี เป็นต้น
และช่องว่างสุดท้าย คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตในระหว่างและหลังการรักษา ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางไปกลับสถานพยาบาล, การสูญเสียรายได้ระหว่างการรักษาทั้งตนเองและครอบครัวที่ต้องแบ่งเวลามาดูแล, โภชนาการที่เปลี่ยนไปเพื่อต่อสู้กับโรค และการจ้างพยาบาลส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นรายการที่อยู่นอกเหนือจากที่สวัสดิการพื้นฐานของรัฐฯ มีให้ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่อยู่ในส่วนยาและเวชภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมชั้นสูงและราคาแพง หรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มคุณภาพชีวิตระหว่างและหลังการรักษานี้ เราสามารถใช้ประกันโรคร้ายแรงประเภทที่ให้เงินก้อนทันทีเมื่อตรวจพบมะเร็ง จะทำให้เรามีเงินบางส่วนไปแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่อยู่นอกเหนือจากค่ารักษาภายในโรงพยาบาลได้
โดยสรุปแล้วสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของประเทศไทยขั้นพื้นฐานในปัจจุบันทั้งสิทธิข้าราชการ, บัตรทอง และประกันสังคมค่อนข้างจะครอบคลุม แต่หากเป็นโรคมะเร็งที่นอกเหนือจากข้อกำหนดของรัฐฯ หรือจำเป็นต้องใช้ยาที่นอกเหนือจาก Protocol อาจต้องใช้ต้นทุนการรักษาที่มากกว่าโรคทั่วไปนั้นจะมีโอกาสที่สวัสดิการขั้นพื้นฐานไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงอื่นที่ไม่ได้เกิดขึ้นภายในสถานพยาบาลระหว่างการรักษาตัว ดังนั้นการสำรวจสวัสดิการต่างๆ ว่ามีจุดอ่อนตรงไหนบ้างและวางแผนด้วยประกันสุขภาพทั้งแบบเหมาจ่าย หรือจ่ายเป็นเงินก้อนเมื่อตรวจพบ จะช่วยให้ผู้ป่วยจดจ่อไปกับการฟื้นฟูรักษาโรคด้วยวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดโดยไม่ต้องกังวลค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่จะตามมาจากการรักษาด้วย
แผนภาพ: ตารางสรุปผลประโยชน์ของสวัสดิการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานในปัจจุบันเทียบกับประกันสุขภาพ
ที่มา: สำนักงานประกันสังคม, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กรมบัญชีกลาง
บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager