ปัจจุบันการทำศัลยกรรมเพื่อความสวยงามเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย จากข้อมูลของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (International Society of Aesthetic Plastic Surgery : ISAPS) ตั้งแต่ปีค.ศ. 2019 – 2023 พบว่ามีจำนวนคนทำศัลยกรรมและหัตถการในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึงปีละ 8.7% โดยเฉลี่ย โดยเฉพาะปี 2023 ที่มีจำนวนคนผ่าตัดศัลยกรรมเพื่อความสวยงามสูงขึ้นถึง 7% เมื่อเทียบทั่วโลกที่มีจำนวนคนทำศัลยกรรมเพิ่มขึ้นเพียง 5.5% เท่านั้น อย่างไรก็ตามการศัลยกรรมเพื่อความสวยงามอาจมีผลกระทบบางอย่างที่ผู้ทำศัลยกรรมหรือกำลังจะทำศัลยกรรมต้องคำนึงถึง 3 สิ่งเมื่อสนใจทำประกันสุขภาพ เพื่อให้เรายังได้รับความคุ้มครองจากประกันสุขภาพครบถ้วนตามที่เราต้องการ
อันดับแรก คือ ประกันสุขภาพโดยทั่วไปจะยกเว้นความคุ้มครองการศัลยกรรมสำหรับความสวยงาม ก่อนอื่นเราอาจต้องเข้าใจคำนิยามในเชิงการแพทย์ของการทำศัลยกรรม หมายถึง “การผ่าตัด” โดยไม่ได้แยกว่าเพื่อความสวยงามหรือเพื่อการรักษาโรค ดังนั้น การผ่าตัดไส้ติ่ง, ผ่าตัดคลอด หรือผ่าตัดเสริมหน้าอกถือว่าเป็นการทำศัลยกรรมโดยศัลยแพทย์ทั้งสิ้น ประเด็นสำคัญสำหรับผู้ที่จะทำประกันสุขภาพ คือ ถ้าตั้งใจทำประกันเพื่อหวังจะเบิกค่าทำศัลยกรรมเพื่อความสวยงามจะไม่สามารถเบิกสินไหมกับบริษัทรับประกันได้ เพราะถือว่าการทำศัลยกรรมเกิดขึ้นเมื่อผู้เอาประกันอยู่ในภาวะที่เป็นปกติอยู่ อย่างไรก็ดีหากการทำศัลยกรรมนั้นแพทย์ระบุว่าเป็นความจำเป็นทางการแพทย์ เช่น การผ่าตัดมะเร็งเต้านมที่จำเป็นต้องตกแต่งหน้าอกให้ลดผลกระทบกับการดำรงชีวิตนั้นจะสามารถเบิกสินไหมได้ตามปกติ
อันดับที่สองคือ ผู้ที่เคยศัลยกรรมจำเป็นต้องแถลงบริษัทประกันให้ครบถ้วน โดยทั่วไปในใบสมัครทำประกันสุขภาพที่ไม่มีการตรวจสุขภาพจะยังมีแบบสอบถามเกี่ยวกับประวัติการรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลซึ่งรวมไปถึงการผ่าตัดเพื่อการรักษาโรคด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดีแม้จะเคยทำศัลยกรรมเพียงเพื่อความงามเท่านั้นก็ยังจำเป็นต้องแถลงประวัติการทำศัลยกรรมรวมไปถึงการทำหัตถการเพื่อความสวยงามให้กับบริษัทประกันด้วย หากไม่ได้แถลงกับบริษัทรับประกันไว้จนในภายหลังหากพบว่าเจ็บป่วยก็อาจมีผลต่อการพิจารณารับประกันได้ เช่น หากเคยผ่าตัดเสริมหน้าอกแล้วไม่ได้แถลงไว้ในใบคำขอ เมื่อตรวจพบเจอมะเร็งเต้านมแล้วบริษัทรับประกันพบว่าผู้ป่วยเคยมีประวัติศัลยกรรมหน้าอกมาก่อนโดยไม่แถลงประวัติสุขภาพก็มีโอกาสที่บริษัทรับประกันจะปฏิเสธความคุ้มครองและอาจยกเลิกกรมธรรม์ทันทีตามหลักสุจริตใจอย่างยิ่ง แม้ว่าจะเป็นมะเร็งคนละตำแหน่งกับจุดที่ทำศัลยกรรมก็มีโอกาสที่บริษัทจะบอกเลิกสัญญาบนเงื่อนไขที่ผู้เอาประกันปกปิดข้อมูลสุขภาพเช่นกัน แต่หากมีการแถลงชัดเจนในใบคำขอว่าเคยศัลยกรรมและบริษัทรับประกันเรียบร้อย บริษัทรับประกันย่อมต้องให้ความคุ้มครองตามที่ระบุในกรมธรรม์ ไม่เช่นนั้นบริษัทประกันจะผิดสัญญาประกันภัยทันที
ข้อควรรู้อันดับที่สามคือ บริษัทรับประกันสามารถยกเลิกสัญญาได้แม้มาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ (New Health Standard: NHS) ให้บริษัทประกันการันตีต่ออายุ โดยข้อหนดนี้ คปภ. ปรับให้บริษัทประกันกำหนดเงื่อนไขการไม่ต่ออายุสัญญาให้ชัดเจนโดยมี 3 ข้อ คือ 1) ไม่แถลงหรือแถลงเท็จเกี่ยวกับข้อมูลสุขภาพในใบคำขอหรือใบต่ออายุกรมธรรม์, 2) เรียกร้องผลประโยชน์จากอาการเจ็บป่วยโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์ และ 3) เรียกร้องค่าชดเชยรายได้เกินกว่ารายได้ที่แท้จริง ดังนั้น แม้บริษัทรับประกันจะไม่สามารถบอกล้างสัญญาได้เมื่อปกปิดข้อมูลสุขภาพเกินกว่า 2 ปี หรือสามารถเบิกสินไหมได้ตามปกติ แต่เนื่องจากมีการปกปิดข้อมูลสุขภาพกับบริษัทรับประกันทำให้บริษัทมีสิทธิยกเลิกสัญญาในปีกรมธรรม์ถัดไปได้ทันที และมีโอกาสที่จะทำประกันสุขภาพกับบริษัทรับประกันอื่นยากขึ้น เพราะถือว่ามีประวัติการปกปิดข้อมูลสุขภาพซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสุจริตใจอย่างยิ่ง
แม้ว่าความนิยมการทำศัลยกรรมเพื่อความสวยงามที่มีมากขึ้นในไทยที่นอกเหนือจากเป็นการเสริมสวย ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจและบุคลิกภาพที่ดีอันส่งผลต่อการหารายได้ให้มากขึ้น แต่หากเราไม่ทราบถึงข้อควรรู้กับผลกระทบของการวางแผนการเงินในอนาคตโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่อาจตามมานั้น อาจทำให้การวางแผนความเสี่ยงด้านสุขภาพด้วยประกันภัยต่างๆ จะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ดังนั้นควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันสุขภาพก่อนทำศัลยกรรมความงาม หรือหากทำศัลยกรรมไปแล้วก็ควรแถลงข้อมูลแก่บริษัทประกันไม่ครบถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงในการถูกปฏิเสธความคุ้มครองค่าใช้จ่ายสุขภาพในภายหลัง
บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ
CFP® Wealth Manager