เทคโนโลยีกำลังเข้ามาสั่นสะเทือนวงการการแพทย์แบบดั้งเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กำลังสร้างโอกาสในการลงทุนไปพร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น อุตสาหกรรมการแพทย์ได้นำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้จนเกิดนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ที่เรียกว่า Healthcare Innovation บริษัทเหล่านี้กำลังเร่งพัฒนาและวิจัยตั้งแต่กระบวนการรักษาไปจนถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีจุดประสงค์เพื่อการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน ทำให้อุตสาหกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจากทั้งนักลงทุนและรัฐบาล บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ Healthcare Innovation มักจะเป็นกลุ่มของ Biotechnology Company ที่มีความแตกต่างจากบริษัทที่ผลิตยาสามัญ คือ Biotech จะผลิตยาหรือวัคซีนโดยการสกัดหรือดัดแปลงพันธุกรรมสิ่งมีชีวิต
ขณะที่ยาสามัญ จะถูกผลิตจากการสังเคราะห์สารเคมี ทำให้ยาประเภท Biotech มักมีราคาที่สูงกว่าและมักจะใช้เป็นยาสำหรับรักษาโรคร้ายแรง ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ระยะเวลาการถือครองสิทธิบัตรของยาประเภท Biotech มีระยะเวลาเฉลี่ย 12 ปี มากกว่ายาสามัญที่มีระยะเวลาเฉลี่ยเพียง 5 ปี ตัวอย่างของกลุ่มที่ผลิตยา Biotech ที่นักลงทุนคุ้นเคยกันดี เนื่องจากบริษัทเหล่านี้บางบริษัทเป็นผู้ผลิตวัคซีน COVID-19 ด้วย อย่างเช่น Moderna และ Pfizer ไปจนถึงบริษัทสัญชาติจีนอย่าง Sinopharm ผู้ผลิตวัคซีน Sinovac
Healthcare Innovation คลื่นลูกใหม่วงการแพทย์
เทคโนโลยีของ Healthcare Innovation ที่เป็นกำลัง S-curve ที่จะมีบทบาทสำคัญในวงการการแพทย์ คือ การถอดรหัสพันธุกรรม และ การตัดต่อยีน ด้วย CRISPR-Cas9 ที่เปรียบเสมือนกรรไกรทางพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น แพทย์สามารถวิเคราะห์และตัดยีน BRCA1/2 ซึ่งเป็นยีนที่มีโอกาสทำให้เกิดมะเร็งเต้านม การถอดรหัสพันธุกรรมนอกจากจะช่วยให้สามารถระบุความเสี่ยงที่บุคคลหนึ่งจะเกิดโรคร้ายแรงได้ล่วงหน้า ยังสามารถออกแบบยาที่ตรงกับความต้องการเฉพาะจุด ทำให้เกิดเทคโนโลยีการรักษาแบบพุ่งเป้าและการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด
ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาจะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 5% หากรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดจะทำให้อัตราการรอดชีวิตเกิน 3 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 42% และมีผลข้างเคียงน้อยกว่าวิธีเคมีบำบัด ซึ่งออกฤทธิ์ทำลายทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง ในปี 2020 มูลค่าตลาดของกลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดอยู่ประมาณ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปี 2015 ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นการเติบโตกว่าปีละ 120% จะเห็นได้ว่า นวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่นั้นกำลังเปลี่ยนโฉมวงการการแพทย์แบบดั้งเดิมที่จะรักษาก็ต่อเมื่อเกิดการเจ็บป่วย
ให้ผลตอบแทนดีกว่าธุรกิจเฮลธ์แคร์ดั้งเดิม
ราคาหุ้นมักจะปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับความคาดหวังและผลประกอบการของบริษัทในอนาคต จะเห็นได้จากดัชนี SPDR S&P Biotech ETF (XBI) ให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีสูงถึง +103% เทียบกับ ดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรม Healthcare (XLV) ที่ให้ผลตอบแทนเพียง +77% (ข้อมูลวันที่ 6 ส.ค. 2021) จะเห็นว่า หากเปลี่ยนการลงทุนใน Conventional Healthcare ไปเป็น Innovative Healthcare อย่างกลุ่ม Biotech จะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่าเดิมถึง 33%
State Street Global Advisor ประเมินว่ากลุ่มอุตสาหกรรม Biotech จะมีการเติบโตของกำไรสุทธิในระยะ 5 ปีข้างหน้าที่ 14% ต่อปี ขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้ซื้อ-ขาย กัน ที่ระดับ Forward P/E ประมาณ 14.4 เท่า เทียบกับ Forward P/E ของดัชนี S&P 500 ที่ประมาณ 21.3 เท่า และดัชนี Nasdaq100 ที่ประมาณ 29 เท่า (ข้อมูลวันที่ 6 ส.ค. 2021) ทำให้หุ้นของบริษัทในกลุ่ม Biotech ถูกจัดว่าเป็นหุ้นที่มีการเติบโตสูงแต่มี Valuation ที่ไม่ได้สูง หากเทียบกับผลกำไรที่คาดว่าบริษัทเหล่านี้จะสร้างได้ในอนาคต
2 ตัวแปรหนุนราคาหุ้นพุ่ง
นอกจากการเติบโตของเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่แล้วนั้นยังมีอีกสองตัวแปรที่สำคัญ คือ การอนุมัติจากองค์กรอาหารและยา (FDA) หากตัวยาที่บริษัทเหล่านี้ได้รับการอนุมัติและสามารถผลิตออกมาวางจำหน่ายได้ จะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA มักจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญ คือ การควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการวิจัยเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจโดยในปี 2020 มูลค่าในการทำ M&A ของอุตสาหกรรม Healthcare สูงถึง 104 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สิ่งหนึ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี กับ Healthcare Innovation ที่ถูกมองว่าเป็นหุ้นเติบโตเหมือนกัน คือ จำนวนยาและวัคซีนที่รอการอนุมัติจาก FDA ในอนาคต ซึ่งหากมีการอนุมัติจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น และการควบรวมกิจการที่มีแนวโน้มสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น และกลุ่มเทคโนโลยีที่ถึงแม้จะมีการเติบโตที่สูงแต่ก็ต้องอาศัยการขยายของจำนวนของผู้ใช้งาน และมีโอกาสที่ผู้ใช้จะหันไปใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างจาก Healthcare Innovation ที่ผู้ใช้มีต้นทุนในการเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานที่สูงกว่า
===================================
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected]
บทความโดย วัทธิกร กิจจาวิจิตร AFPT™ Wealth Manager
เผยแพร่ครั้งแรกที่คอลัมน์ Global Wealth Strategy กรุงเทพธุรกิจ