จากภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิด Recession ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนมีความไม่แน่นอน แต่ในทางกลับกัน ยังมีอีกหนึ่งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นอกจากเวียดนาม ที่มีความโดดเด่นด้วยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอย่าง “อินโดนีเซีย”
อินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า 1.19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียน และอันดับ 6 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง โดยตามรายงานของ World Bank ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียไว้ว่า จะโตอยู่ที่ราว 5.1% ในปีนี้ และประมาณ 5.3% ในปีหน้า
รวมถึงอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน และมากเป็นอันดับ 4 ของโลก อยู่ที่ราว 272.25 ล้านคน โดยกว่า 51% ของประชากรอยู่ในวัยแรงงาน รายได้กำลังเพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนถึง 60% ของ GDP จึงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ทาง PwC บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก คาดการณ์ว่า ระหว่างปี 2022 – 2050 วัยแรงงานของอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 30 ล้านคน
นอกจากนี้ อินโดนีเซีย ยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก สามารถผลิตทรัพยากรด้านพลังงานและโลหะภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ นิกเกิล (Nickel) และทองแดงสูงเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียน โดยจากตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ และทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำนวนมาก อินโดนีเซียจึงเป็นแหล่งลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่น่าสนใจ โดยมีข้อมูลจาก IMF ระบุว่า เม็ดเงินลงทุน FDI สุทธิสะสมเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2017 – 2021) เพิ่มขึ้นถึง 36% อยู่ที่ 105,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค และเม็ดเงินลงทุน FDI ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เนื่องจากนิกเกิลเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV ซึ่งอินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตนิกเกิลรายใหญ่ของโลก ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดเกือบ 40% ในปี 2021
หากดูในแง่ Valuation จะพบว่า ตลาดหุ้นอินโดนีเซียค่อนข้างถูก โดยปัจจุบัน Forward PE of MSCI Indonesia Index (as of August 31, 2022) ซื้อขายอยู่ที่ราวเพียง 14.35 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 16.43 เท่า และยังมีการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ที่สูงอีกด้วย โดย Thomson Reuters ได้ประเมิน EPS Growth ของตลาดหุ้นอินโดนีเซียในปี 2022 อยู่ที่ 31.9% YoY
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย (MSCI Indonesia Index) มีสัดส่วนอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มการเงิน (Financials) การบริโภคสินค้าที่จำเป็น (Consumer Staples) และพลังงาน (Energy) อยู่ที่ประมาณ 52.92%, 9.39% และ 5.56% ตามลำดับ ตัวอย่างบริษัทในกลุ่มดังกล่าวคือ
บริษัท Bank Mandiri Persero ธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในอินโดนีเซีย มีรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Income) ในไตรมาส 2 ปี 2022 เพิ่มขึ้น 20.84% YoY อยู่ที่ 21,355 พันล้านรูเปียห์ และมีกำไรสุทธิ (Net Profit) เพิ่มขึ้น 54.59% YoY อยู่ที่ 10,178 พันล้านรูเปียห์
ถัดมา บริษัท Indofood Sukses Makmur ผู้ผลิตอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 70% ในธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มียอดขายในไตรมาส 1 ปี 2022 เพิ่มขึ้น 12% อยู่ที่ 27.4 ล้านล้านรูเปียห์ และกำไรหลักจากการดำเนินงาน (Core Profit) เพิ่มขึ้น 13% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านรูเปียห์ จากการเติบโตของยอดขายที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกัน
และสุดท้าย บริษัท United Tractors ผู้ผลิตและจำหน่ายรถแทรกเตอร์ เครน รถบรรทุก รวมถึงให้บริการครบวงจรที่เกี่ยวข้องกับการขุดเหมือง มีรายได้สุทธิ (Net Revenue) ไตรมาส 2 ปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่า 62% YoY อยู่ที่ 60.4 ล้านล้านรูเปียห์ และมีกำไรสุทธิ เพิ่มขึ้นถึง 129% YoY อยู่ที่ 10.4 ล้านล้านรูเปียห์ จากยอดขายเครื่องจักรกล (Heavy Equipment Sales) สำหรับการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นกว่า 111% YoY เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่มีความน่าสนใจลงทุน ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจขนาดใหญ่เติบโตสูง ประชากรอยู่ในวัยแรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติที่มีมาก ต่างชาติเข้ามาลงทุนทางตรง (FDI) ค่อนข้างมาก อีกทั้ง Valuation ของตลาดหุ้นอินโดนีเซียก็ยังถูกเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว และยังมีอัตราการเติบโตของกำไรที่สูงอีกด้วย จึงถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาการลงทุน ที่มีแนวโน้มจะสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นให้กับพอร์ตการลงทุนในระยะยาว
========================
บทความโดย : วิภาดา ศุภกุลวณิชย์ AFPT
Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรกที่คอลัมน์ Money Talk ของ Business Today