นับตั้งแต่รัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศทำสงครามกับยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว ที่ทั่วโลกจับตามองสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในวงกว้าง รวมถึงภาพการลงทุนด้วย
จากสถานการณ์ความตึงเครียดนี้ ฉุดให้ตลาดหุ้นทั่วโลกแกว่งตัวลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับราคาทองคำที่พุ่งทะลุ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ซึ่งนับเป็นจุดที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และหากรัสเซียและยูเครนยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า ตลาดหุ้นจะยังคงได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างต่อเนื่อง และเป็นการยากหากจะคาดการณ์ว่าสงครามครั้งนี้จะจบลงเมื่อไหร่ นั่นหมายความว่า ยากที่จะคาดการณ์เช่นเดียวกันว่า ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงได้ถึงจุดใด
อย่างไรก็ตาม เราอาจพอประเมินสถานการณ์เบื้องต้น ณ ขณะนี้ได้ว่า แม้รัสเซียดำเนินการทางการทหารเพื่อกดดันยูเครน พร้อมกับการเจรจาต่อรองข้อเรียกร้องต่างๆ โดยการรุกคืบเข้าไปทางด้านตะวันออกของยูเครนที่มีชายแดนติดกับรัสเซีย เริ่มจากแคว้นลูฮันสก์ (Luhansk) และ โดเนตสก์ (Donetsk) มาจนถึงเมืองเคอร์ซอน ของยูเครน ซึ่งนับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเดินทัพเข้าไปโจมตีเมืองอื่นๆ ของยูเครนได้ แต่สถานการณ์ความตึงเครียดในแง่ปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นนี้ยังจำกัดอยู่ระหว่างรัสเซียและยูเครน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้เข้าแทรกแซงในแง่เศรษฐกิจและการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์เท่านั้น แต่เรายังไม่เห็นการจัดทัพเพื่อเข้าร่วมสงครามที่ชัดเจนเท่าใดนัก ดังนั้น โอกาสที่สงครามครั้งนี้จะลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามโลกยังคงค่อนข้างจำกัด
ท่ามกลางความตึงเครียดที่ยังไม่สิ้นสุด สถานการณ์ความคืบหน้าที่ออกมาปรับเปลี่ยนรายวัน หรือบางช่วงอาจเป็นรายชั่วโมง ดังนั้น การวางแผนกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้อาจไม่ง่ายนัก แต่หากพิจารณาจากเหตุการณ์ในอดีตจะพบว่า ในช่วงระหว่างที่มีสงครามเกิดขึ้นนั้น แม้ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงจากความกังวล แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อสงครามยุติ ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวกลับขึ้นมาสูงกว่าจุดเดิมก่อนที่จะมีสงครามเสียอีก และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงที่มีการบุกรุกหรือโจมตีอย่างหนักหน่วงมักเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงถึงจุดต่ำสุด และหากสามารถจับจังหวะตรงนี้ได้ ก็นับเป็นเป็นโอกาสที่สำคัญในการลงทุนเลยทีเดียว แต่แน่นอนคงไม่มีใครสามารถตอบได้ชัดเจนว่า การบุกรุกถึงจุดใดที่จะเรียกว่าหนักหน่วง จนทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวถึงจุดต่ำสุดในช่วงนั้นได้ แต่เราสามารถพิจารณาได้จากระดับราคาของหุ้นหรือดัชนีต่างๆ ว่า มีความเหมาะสมที่จะเข้าลงทุนแล้วหรือยัง
ซึ่งจากเหตุการณ์รัสเซีย-ยูเครนนี้ เราพบว่า ล่าสุด ดัชนีหุ้นในแต่ละประเทศปรับตัวลงมาจนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดย ณ วันที่ 8 มี.ค. Fwd P/E ของดัชนี S&P 500 ปรับลงมาอยู่ที่ประมาณ 18.3 เท่า ส่วนตลาดหุ้นฝั่งยุโรปได้รับผลกระทบจากสงครามมากที่สุดในกลุ่ม Developed Market ด้วยกัน ทำให้ Fwd P/E ของ STOXX600 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 12.7 เท่า และตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนี NIKKEI225 มี Fwd P/E ที่ 14 เท่า และ TOPIX มี Fwd P/E 11.7 เท่า ซึ่งระดับราคานี้ถือเป็นระดับราคาที่น่าสนใจลงทุนมาก และหากสงครามยุติลง กลุ่มประเทศเหล่านี้จะยังเป็นกลุ่มที่สามารถ Outperform ได้ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่า นโยบายทางการเงินของประเทศเหล่านี้ที่เดิมมีท่าที่เข้มงวดขึ้นในปีนี้ มีแนวโน้มจะผ่อนคลายลงได้จากปัจจัยสงครามยูเครน-รัสเซีย และหากไล่เรียงจากความถูกแพง จะพบว่าตลาดหุ้นยุโรปและญี่ปุ่นมีความน่าสนใจมากกว่าสหรัฐฯ ณ ระดับราคานี้
ท่ามกลางภาวะสงคราม หากเราวางแผนการลงทุนอย่างระมัดระวัง และเลือกลงทุนจากปัจจัยสนับสนุนที่สมเหตุสมผล ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจ อัตราการเติบโตของประเทศหรือกลุ่มธุรกิจนั้นๆ ในระดับราคาที่เหมาะสม จะสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ทลงทุนได้ โดยเฉพาะเมื่อสงครามยุติลง
แผนภาพที่ 1: การเคลื่อนไหวตลาดหุ้นในช่วงที่มีสงคราม
ที่มา: TISCO ESU
โดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPT™
Wealth Manager ธนาคารทิสโก้