เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปี 2025 พร้อมกับการพลิกจากภาวะเงินฝืดสู่ภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ผลกระทบจากประเด็นการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ เป็นไปอย่างจำกัด จึงทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีโอกาสจะเป็นตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นได้ดีและมีความแข็งแกร่งในปี 2025 นี้
ปี 2024 เป็นปีแรกในรอบหลายปีที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของญี่ปุ่นจากภาวะเงินฝืดสู่ภาวะเงินเฟ้ออย่างมีเสถียรภาพ และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่กำหนดไว้ที่ 2% โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อญี่ปุ่นฟื้นตัวมาจากความสำเร็จในการเจรจาค่าจ้างประจำปี (Shunto) เมื่อเดือนมีนาคม 2024 ที่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างกว่า 5% ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ทำให้สมาชิกของสมาพันธ์สหภาพการค้าของญี่ปุ่น (Rengo) ราว 7 ล้านคน มีรายได้เพิ่มขึ้น นำไปสู่การขยายตัวในภาคการบริโภค และเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม และคาดว่าในปี 2025 จะยังคงเป็นภาพของการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย Bloomberg Consensus ประเมิณว่า GDP ญี่ปุ่นปี 2025 จะกลับมาขยายตัวได้ราว 1.2%
ค่าจ้าง Shunto ที่ปรับขึ้นทำให้เงินเฟ้อญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ
ที่มา: Bloomberg, TISCO Wealth Advisory
ในด้านการค้าระหว่างประเทศ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างจำกัดหากสหรัฐฯปรับเพิ่มภาษีนำเข้า ทั้งนี้ เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกสินค้าญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนเพียง 20% ของการส่งออกทั้งหมด ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นสินค้าทุนที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องใช้ในสายการผลิต เช่น เครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังไม่ใช่ประเทศเป้าหมายหลักสำหรับการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ เนื่องจาก สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นเพียงเล็กน้อยคิดเป็นไม่ถึง 1% ของ GDP สหรัฐฯ ขณะที่เมื่อเทียบกับจีนที่ตกเป็นเป้าหมายหลักของการกีดกันทางการค้าแล้ว พบว่า สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนเกือบ 4% ของ GDP
นอกจากนี้ หากมองย้อนกลับไปในช่วงปี 2017-2019 ที่มีการทำสงครามการค้าระหว่างประเทศในยุค Trump1.0 พบว่า ดัชนีหุ้นญี่ปุ่น NIKKEI225 ปรับตัวขึ้นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีหุ้นสหรัฐฯอย่าง S&P500 โดยพบว่า ทั้ง 2 ดัชนีมีความสัมพันธ์กันราว 80%
ดังนั้น ในปี 2025 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นถือเป็นตลาดหุ้นที่คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนได้ดี มีภูมิต้านทานต่อสงครามการค้า จากปัจจัยภายในที่พลิกจากภาวะเงินฝืดสู่ภาวะเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมาย นำมาซึ่งพลังการบริโภคที่แข็งแกร่งและเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะที่ปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าระหว่างประเทศจะมีผลกระทบอย่างจำกัดต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่น
บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPT™
Wealth Manager ธนาคารทิสโก้