
นับตั้งแต่ต้นปี 2025 จนถึงปัจจุบัน ตลาดการเงินต้องเผชิญกับความผันผวนที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง อันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯที่รุนแรงกว่าที่ตลาดคาด รวมถึงมาตรการตอบโต้ทางภาษีจากบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นส่วนใหญ่เผชิญแรงเทขายอย่างรุนแรงและให้ผลตอบแทนติดลบ
อย่างไรก็ตาม ในฟากฝั่งของสินทรัพย์ปลอดภัยกลับให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก ทั้งทองคำที่ปรับตัวขึ้นราว +27% นับตั้งแต่ต้นปี รวมถึงตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Fixed Income) ที่ให้ผลตอบแทนราว +4% ในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่า การกระจายความเสี่ยงออกจากตลาดหุ้นและเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่หากพิจารณาเข้าลงทุนที่ระดับราคาปัจจุบัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนอยู่ในระดับ All time high แล้ว ทางเลือกในการลงทุนที่ปลอดภัยกว่าและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี จึงอยู่ที่ตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Fixed Income) ที่ยังมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้
อัตราผลตอบแทน (Yield) ของตราสารหนี้โลกโดยเฉลี่ยยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ สะท้อนจากตัวเลขผลตอบแทนของตราสารหนี้คุณภาพดีทั่วโลก (Bloomberg Global Aggregate Bond) ซึ่งอยู่ในระดับ 3.55% นับเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 15 ปี หากนำไปเปรียบเทียบกับผลตอบแทนการลงทุนเสี่ยงต่ำประเภทอื่นๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 3 เดือนของของธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่งของไทยที่ 1% หรือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.88% ก็ถือว่าการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดีทั่วโลก ยังมีส่วนต่างผลตอบแทนที่น่าดึงดูด
ตราสารหนี้โลกมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เนื่องจากหากการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับประเทศคู่ค้ายืดเยื้อและเริ่มส่งผลกระทบเชิงลบมายังภาคเศรษฐกิจจริง บรรดาธนาคารกลางหลักของโลกมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ทำให้นักลงทุนที่ถือตราสารหนี้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา (Capital gain) เนื่องจากราคาตราสารหนี้มักปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง
ตราสารหนี้โลกเป็นหลุมหลบภัย ช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน นับตั้งแต่ต้นปีที่สถานการณ์ทั่วโลกมีความผันผวนสูงมาอย่างต่อเนื่อง หากวัดค่าความผันผวนของราคา (Standard Deviation) ของสินทรัพย์แต่ละประเภท จะพบว่า ตราสารหนี้โลกมีความผันผวนต่ำอยู่ที่ระดับเพียงแค่ราว 5% เท่านั้น ต่างจากสินทรัพย์อื่นๆที่มีค่าความผันผวนอยู่ในระดับสูง ยกตัวอย่างเช่น ราคาทองคำและ Global
REITs ที่ราว 15% ตลาดหุ้นโลก (MSCI ACWI) ที่ประมาณ 22% หรือ ราคาน้ำมัน (WTI) ที่สูงถึง 38% ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า Global Bond คือสินทรัพย์ที่ดีที่สุดในการลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติการกระจายลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกด้วยตัวเอง ถือเป็นเรื่องที่มีข้อจำกัดหลายประการโดยเฉพาะกับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งกองทุนรวมตราสารหนี้ประเภท Global Bond จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะดวกและตอบโจทย์ ทั้งนี้ การเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลก ควรเลือกลงทุนกับผู้จัดการกองทุนระดับโลกที่มีประสบการณ์ยาวนานและมีความเชี่ยวชาญในการเลือกหลักทรัพย์ลงทุน นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญกับนโยบายการลงทุนแบบ Active Management ที่มีการจัดพอร์ตกระจายการลงทุนในตราสารหนี้หลากหลายประเภททั้งในสหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้และเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมในสภาวะที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในปัจจุบัน
บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™
Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้