“High Risk High Return” คือวลีสุดคลาสสิคที่นักลงทุนในตลาดยึดถือเป็นแนวทางในการลงทุนมาอย่างแพร่หลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนจะต้องยอมลงทุนสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้น เมื่อคาดหวังผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่แท้จริงแล้ว ความเชื่อดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นจังหวะที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่าง “ตราสารหนี้สหรัฐฯ” ให้ผลตอบแทนที่สูง ถือเป็นการลงทุนแบบ “Low Risk High Return” ที่น่าสนใจ ด้วยเหตุผล 3 ข้อดังต่อไปนี้
ตราสารหนี้สหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนแทนสูงกว่า ตราสารหนี้ของไทย
เหตุผลเนื่องมาจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯได้ปรับตัวขึ้นมาเร็วสุดในรอบกว่า 40 ปีจนอยู่ในระดับที่ “สูงกว่า 5%” ทำให้ผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงต่ำในสหรัฐฯ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้บริษัทเอกชนคุณภาพดี กลับมาอยู่ในระดับที่สูงอีกครั้งในรอบกว่า 20 ปี สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้น หากเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยซึ่งอยู่ที่เพียงแค่ 2% แล้ว ผลตอบแทนของบรรดาสินทรัพย์เสี่ยงต่ำในไทยจึงต่ำกว่าฝั่งสหรัฐฯอย่างชัดเจน
อ้างอิงจากตัวเลขผลตอบแทน (Yield) ของตราสารหนี้สหรัฐฯในปัจจุบัน ทั้งตราสารตลาดเงิน (Money Market Instruments) ที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับสูงถึง 5.2% ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี (US 10 year Treasury Bond) ที่ให้ผลตอบแทน 3.8% – 4.0% ถือเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ในไทยอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นตราสารตลาดเงินและพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ในกรอบเพียงแค่ 1.9% – 2.6% สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนตราสารหนี้สหรัฐฯมีโอกาสได้รับ Yield ที่สูงกว่าตราสารหนี้ของไทย
ตราสารหนี้สหรัฐฯ น่าสนใจกว่า หุ้นสหรัฐฯ
นับตั้งแต่ต้นปี 2023 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P500) ได้ปรับตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่นถึง 18% นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่จากกระแสของ AI (Artificial Intelligence) รวมถึงความคาดหวังว่า Fed จะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงภายในปีนี้ ส่งผลให้ Valuation ของตลาดหุ้นสหรัฐฯขึ้นมาซื้อขายที่ระดับ PE ที่สูงถึง 21.7 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงฟองสบู่ Dot-com ปี 2000 และช่วง Pre-COVID ปี 2019 ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้น ซึ่งสะท้อนผ่านค่า Earnings yield อยู่ในระดับเพียงแค่ราว 4.6% เท่านั้น หากนำตัวเลขดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับ ผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังสหรัฐฯอายุ 3 เดือน (3 month Treasury Bill) ที่มักถูกใช้เป็นตัวแทนของการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.2% แล้ว จะเห็นได้ว่า การลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี นับตั้งแต่วิกฤต Dot-com ปี 2000 โดยที่นักลงทุนไม่จำเป็นต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเลย
ตราสารหนี้สหรัฐฯ มักจะทำกำไรได้ดีในภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย นักลงทุนมักมีการปรับพอร์ตการลงทุนด้วยการ “ลดสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มสินทรัพย์ปลอดภัย” ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายเม็ดเงินเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างตราสารหนี้สหรัฐฯมากขึ้นและทำให้ราคาตราสารหนี้สหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นจนสร้างกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital gain) ให้กับนักลงทุน
ในอดีตตราสารหนี้สหรัฐฯมักจะสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกในช่วงที่เกิด Recession ได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ในอดีตช่วงวิกฤต Dotcom ปี 2000 วิกฤต Subprime ปี 2008 และวิกฤต COVID-19 ปี 2020 ที่การลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ ให้ผลตอบแทน 6.5% 7.5% และ 3% ตามลำดับ ทั้งนี้ หากในอนาคตสหรัฐฯเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย จนกดดันให้ Fed ต้องกลับมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้ง เราคาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯก็น่าจะมีทิศทางที่สอดคล้องกับสถิติในอดีต ยกตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ TISCOESU คาดการณ์ว่ามีโอกาสสร้างผลตอบแทนรวม (Total return) ได้ราว 9% ในกรณีที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยแบบไม่รุนแรง (Soft Landing) และ 16% หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบรุนแรง (Hard Landing)
จะเห็นได้ว่า ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย ตราสารหนี้สหรัฐฯเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ไทย ถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงและกำลังอยากเข้าไปซื้อหุ้นสหรัฐฯที่กำลังพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงด้วยกระแส AI ตราสารหนี้สหรัฐฯเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าความเสี่ยงกว่า ณ ระดับราคาปัจจุบัน และถ้าคุณกำลังกังวลกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตราสารหนี้สหรัฐฯคือสินทรัพย์ที่คุณต้องถือไว้ในพอร์ตการลงทุน ดังนั้น นี่คือจังหวะเวลาในการลงทุนแบบ “Low Risk High Return” ซึ่งมักเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งในรอบกว่าทศวรรษที่นักลงทุนต้องไม่พลาด
บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™
Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรก TNN Wealth