เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายไตรมาส 4 การลงทุนในปีนี้ยังคงมีความผันผวนสูงและท้าทายเป็นอย่างมาก ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังคงให้ผลตอบแทนติดลบนับจากต้นปี โดยได้รับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกนำโดย Fed และ ECB ที่เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ทะยานสูงขึ้น แม้อาจจะต้องแลกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลงก็ตาม
หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ทุก ๆ ครั้งที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงจากวิกฤตบางอย่างมักจะนำไปสู่โอกาสในการลงทุนเสมอ และทุกครั้งหลังจากวิกฤตได้ผ่านพ้นไป จะมีหุ้นผู้ชนะที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างงดงาม ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อยู่ในระดับสูง ธนาคารทิสโก้มองว่า การเลือกหุ้นลงทุนแบบ Selective ภายใต้ธีม “Megatrends 3D” จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมให้กับนักลงทุนได้ บนหลักการสำคัญ 2 ข้อ ได้แก่
1. หุ้นกลุ่ม/ประเทศนั้นจะต้องมีแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบการที่สูงและมี Runway ในการเติบโตที่ยาวนานตาม Megatrends
2. หุ้นกลุ่ม/ประเทศนั้นจะต้องมีปัจจัยสนับสนุนจาก Event ในระยะสั้น ซึ่งจะดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนและทำให้ราคาหุ้น Outperform ตลาดในภาพรวม
โดยธีมการลงทุนแบบ “Megatrends 3D” สามารถแบ่งได้ ดังนี้
1. Demographics : หุ้นกลุ่ม Healthcare ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทั่วโลก ตลอดจนนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะ Recession และมีอัตราเงินเฟ้อที่สูง นักลงทุนและผู้จัดการกองทุนทั่วโลกจะมองหาหุ้นกลุ่มที่รายได้และกำไรมีความสม่ำเสมอ ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนมีอำนาจในการปรับราคาสินค้าขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ (Pricing Power)
ซึ่งจากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า หุ้นกลุ่ม Healthcare เป็นเพียง Sector เดียวที่ผลประกอบการสามารถเติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงวิกฤต Dotcom ปี 2000 หรือ ในช่วง Recession ปี 2015 – 2016 ที่กำไรต่อหุ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare สามารถเติบโตได้ในระดับ 14.6% และ 14.2% ตามลำดับ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมย่อยในกลุ่ม Healthcare ที่ผลประกอบการสามารถเติบโตสวนสภาวะ Recession ได้อย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ กลุ่ม Biotechnology และ Health Care Equipment & Services ซึ่งมีอัตราการเติบโตของกำไรในช่วง Recession โดยเฉลี่ยสูงถึง 11% และ 7% ตามลำดับ
2. Decarbonization : การแก้ปัญหาเรื่องมลพิษและการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ถือเป็นเป้าหมายที่บรรดาประเทศมหาอำนาจของโลก ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องมีการทำ Energy Transition จากพลังงานรูปแบบดั้งเดิมไปสู่พลังงานสะอาดในระยะยาว โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนในการผลิตพลังงานสะอาดได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญกว่า 52% ในขณะเดียวกัน สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังยืดเยื้อนับจากต้นปี จนก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนพลังงานและนำไปสู่อัตราเงินที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้หลายประเทศหันมาทุ่มงบประมาณในการลงทุนด้านพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานจากภายนอกประเทศ อีกทั้งยังมีการสนับสนุนจากภาครัฐในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือการให้เงินอุดหนุน เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตลงทุนทำธุรกิจพลังงานสะอาดและสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาใช้สินค้าและบริการที่เป็น Clean Energy มากขึ้น ประเด็นเหล่านี้ต่างสนับสนุนให้หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของ Clean Energy เช่น ธุรกิจผู้ผลิตพลังงานสะอาดทั้งพลังงานลม น้ำ แสงอาทิตย์ ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจผู้ผลิตแบตเตอรี่ เป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเทรนด์ดังกล่าวและมีโอกาสที่จะ Outperform ตลาดได้
3. Deglobalization : ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่นำไปสู่สงครามการค้าตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แนวคิดการดำเนินนโยบาย ZERO-COVID ของจีนที่นำไปสู่การชะงักชะงันของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าทั่วโลก ตลอดจนความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับไต้หวัน ได้ส่งผลให้บรรดาบริษัทชั้นนำของโลกเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงในการกระจุกตัวของฐานการผลิตในจีนและมีการกระจายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเพื่อกระจายความเสี่ยง ภายใต้แนวคิด “China +1” ส่งผลให้ประเทศที่มีความได้เปรียบด้านค่าแรงที่อยู่ในระดับต่ำและมีการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) มากที่สุดในอาเซียนอย่างเช่น เวียดนาม ได้รับประโยชน์จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่างเช่น Apple Google Samsung Intel Panasonic LG Foxconn Sharp เป็นต้น ในขณะที่ประเทศอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนและอันดับ 4 ของโลก ก็ได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำจากสหรัฐฯ อย่าง Tesla และผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำจากจีนอย่าง CATL รวมถึงธุรกิจภาคการผลิตอื่น ๆ อย่างเช่น LG BAFS Sumitomo
ในระยะยาว การเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งเวียดนามและอินโดนีเซียยังอยู่ในระดับที่สูงถึง 7% และ 5.4% ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ ตลาดหุ้นของทั้งเวียดนามและอินโดนีเซียยังมี Valuation ที่น่าสนใจในการลงทุนระยะยาว โดยมีค่า Forward PE ปี 2023 อยู่ในระดับเพียงแค่ 9.3 เท่าและ 14.27 เท่า ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 21 กันยายน 2022)
จะเห็นได้ว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดหุ้นมีความผันผวนรุนแรงเพียงใด แต่โอกาสในการลงทุนยังคงมีอยู่เสมอ และหุ้นกลุ่มที่นักลงทุนควรเลือกเข้าไปสะสมเพื่อลงทุนระยะยาว คือ ธุรกิจหรือประเทศที่อยู่ใน Megatrends มีการเติบโตที่ชัดเจนในระยะยาวและมีตัวเร่งจากเหตุการณ์ในระยะสั้นที่ทำให้ตลาดหันมาให้ความสนใจ เราเชื่อมั่นว่า ธีมการลงทุนแบบ “Megatrends 3D” จะสามารถฟันฝ่าวิกฤต Recession ในรอบนี้และกลับมาสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมให้กับนักลงทุน
======================
บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT
Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ Make Money Make Healthy ของ TNN