ในอดีต การควบคุมน้ำหนักถูกมองว่าเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ ทำได้โดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย หรือการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน แต่ในปัจจุบัน โรคอ้วนถูกจัดให้เป็นโรคเรื้อรังที่ทางการแพทย์ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญเนื่องจากโรคอ้วนเป็นตัวการที่นำไปสู่โรคเรื้อรังอื่นๆได้ ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตยาต่างเร่งวิจัยและพัฒนายารักษาโรคอ้วนหรือยาลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพออกสู่ตลาด ทำให้มีการคาดการณ์ว่าตลาดยารักษาโรคอ้วนจะขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษนี้
องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ที่เป็นโรคอ้วนทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว ในขณะที่สหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) คาดการณ์ว่าภายในปี 2035 ประชากรโลกราว 51% จะเผชิญกับภาวะน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหากไม่มีการดูแลและป้องกันที่ถูกต้อง ด้วยแนวโน้มนี้รวมกับผลของภาวะอ้วนที่นำไปสู่โรคอื่นๆ ทำให้วงการแพทย์ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและเร่งหาวิธีการจัดการ โดยนักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley คาดว่า ทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับการรักษาโรคอ้วนจนทำให้กลายเป็น 1 ใน 12 อันดับแรกในวิทยาการรักษาโรคในช่วงทศวรรษนี้ และคาดว่ามูลค่าทางการตลาดจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 เป็น 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2030 ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับโรคความดันโลหิตสูงที่เดิมทีไม่ได้รับความสนใจ แต่เมื่อผลวิจัยชี้ว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่โรคอื่นๆทำให้มูลค่าทางการตลาดของการรักษาโรคความดันโลหิตสูงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 1990s และเรายังคงเห็นการเติบโตที่ต่อเนื่องของตลาดยารักษาโรคความดันโลหิตสูงมาถึงปัจจุบัน
ยารักษาโรคอ้วนหรือยาลดน้ำหนักที่บริษัทยาชั้นนำทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น Pfiizer, Norvo nordisk, Amgen และ Eli Lily กำลังเร่งทดลองเพื่อนำออกสู่ตลาดส่วนใหญ่ได้รับการพัฒนามาจากยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน หลักการทำงานคือการสร้างฮอร์โมนเลียนแบบฮอร์โมนในกระเพาะและลำไส้ (Gut Hormone) เพื่อควบคุมความอยากอาหารโดยล่าสุด เมื่อเดือนเดือนเมษายนที่ผ่าน บริษัท Eli Lily กำลังเตรียมยื่นขออนุมัติยาลดน้ำหนัก Mounjaro หลังผลการทดลองแสดงให้เห็นว่ายา Mounjaro สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ถึง 16% ของน้ำหนักตัว (คิดเป็นเฉลี่ย 15 กก.) ในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและมีน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนน้ำหนักที่ค่อนข้างยากหากจะลดน้ำหนักด้วยวิธีทั่วไปอย่างการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย หลังจากที่ก่อนหน้านั้นในช่วงปลายปี 2022 บริษัท Novo Nordisk เพิ่งประกาศความสำเร็จในการทดลองยา Semaglutide ที่สามารถช่วยลดน้ำหนักของผู้ที่ได้รับยาโดยการฉีดได้ถึง 14.9% และในกลุ่มผู้ที่ได้รับยา Semaglutide พร้อมกับการปรับเปลี่ยนโภชนาการและการออกกำลังกาย สามารถลดน้ำหนักได้ถึง 20% ของน้ำหนักตัว และเนื่องจากยาเหล่านี้ได้รับการพัฒนาจากยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานอาหารและสหรัฐ (FDA) และมีการใช้กันมาเป็นระยะเวลานานแล้วจึงไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง
Eli Lily และ Novo Nordisk เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าวงการยาต่างเร่งวิจัยและพัฒนายาลดความอ้วนเพื่อให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และหากสามารถนำออกสู่ท้องตลาดได้มากขึ้นจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทยาเหล่านี้ได้อย่างมหาศาล
นวัตกรรมทางการแพทย์ยังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งคู่กับวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในมุมของการลงทุน หุ้นกลุ่ม Healthcare ยังคงมีเสน่ห์สำหรับการลงทุนระยะยาว
ภาพ: Morgan Stanley Research expects the market for obesity drugs to reach $54 billion by 2030
ที่มา: Morgan Stanley Research Estimates
บทความโดยณัฐพร ธรวงศ์ธวัช
AFPT Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรก เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ