ผลจากการประชุมเฟด เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมาคณะกรรมการเฟดมีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด เป็นการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลงจากระดับ 50bps ในการประชุมเดือน มี.ค. และลดลงจากระดับ 75bps ในการประชุม 4 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022 แม้ว่าคุณ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดยังยืนยันว่าการขึ้นดอกเบี้ยรอบที่ผ่านมาอาจจะยังไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่มุมมองของ TISCO Wealth Advisory เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวในตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายอย่าง และมีความเป็นไปได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. 22 ที่ผ่านมาใกล้ถึงจุดสุดทางหรืออาจจะไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีกในการประชุมรอบหน้า
โดย TISCO Wealth Advisory มองว่า 3 เหตุผลหลักที่คิดว่าวงจรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมาถึงช่วงสุดท้ายแล้ว
1. เงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภคชะลอตัวลงมาต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อ CPI เดือน เม.ย. ออกมาต่ำสุดในรอบ 2 ปี ที่ระดับ 4.9%YoY ด้านผลกระทบจากราคาพลังงานติดลบเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ Core PCE เดือน มี.ค. ที่เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ Fed อยู่ที่ 4.6%YoY โดยปัจจุบันมาตรวัดเงินเฟ้อทั้ง 2 แบบอยู่ต่ำกว่าระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.00% – 5.25%
2. เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) จากข้อมูล Leading Economic Indicator ที่ประกอบไปด้วยข้อมูลด้านเศรษฐกิจและด้านการเงิน และเป็นดัชนีที่สำนักงานสถิติสหรัฐฯใช้ในการระบุการเกิด Recession ของสหรัฐฯได้หดตัวลงต่อเนื่องจนปัจจุบันอยู่ที่ระดับใกล้เคียงจุดต่ำสุดของช่วงวิกฤตแฮมเบอเกอร์ และวิกฤต COVID – 19
3. Fed มักจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยหลังเกิดวิกฤติด้านการเงินหรือฟองสบู่สินทรัพย์แตก ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเห็นผลกระทบในภาคธนาคารจากที่เห็นในกรณีของธนาคาร silicon valley และธนาคาร First Republic ส่งผลให้ธนาคารเริ่มมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นซึ่งจะกระทบต่อบริษัทที่ยังขาดทุนและมีหนี้สินสูง
แม้ว่าคาดว่าวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed ใกล้ถึงปลายทาง แต่ Fed จะยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนลดดอกเบี้ยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยออกมา ทำให้ยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงข้างหน้า ทาง TISCO Wealth Advisory มองว่าสินทรัพย์ที่นักลงทุนควรจะมีในพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้ คือ สินทรัพย์คุณภาพสูง ที่ราคาปรับตัวลงมาเหมาะสมใน 3 ธีมการลงทุน ดังนี้
1. Recession fighter : เน้นการลงทุนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่อความผันผวนของเศรษฐกิจจำกัดซึ่งจะทำให้ฟื้นตัวได้รวดเร็วเมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น ได้แก่ หุ้นกลุ่ม Quality ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีกระแสเงินสดดี หนี้สินต่ำ เติบโตได้สม่ำเสมอ และหุ้นกลุ่ม Healthcare มีลักษณะทนทาน(Defensive) ต่อความผันผวนเศรษฐกิจและมีศักยภาพในการเติบโตระยาว
2. Hope for the last rate hike, prepare to the first rate cut : เน้นสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวลงในช่วงข้างหน้า ได้แก่ กลุ่มตราสารหนี้คุณภาพสูง โดยเน้นไปที่พันธบัตรและหุ้นกู้เอกชนคุณภาพดี และหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีการเติบโตที่น่าสนใจแต่ถูกผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นจนราคาปรับตัวลงมามาก เช่น ทั้งกลุ่ม information technology, cloud computing รวมถึง cybersecurity
และสุดท้าย 3. High potential Asia growth countries : เน้นในประเทศในเอเซียที่กำลังฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาคการผลิตและการท่องเที่ยวทั้ง หุ้นในประเทศจีนและเวียดนาม
ซึ่ง TISCO Wealth Advisory มองว่าธีมการลงทุนทั้ง 3 แบบ เป็นกลุ่มที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนเพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจรวมถึงได้รับประโยชน์ในช่วงที่ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงและมีเริ่มกลับทิศในช่วงข้างหน้า
——
บทความโดย ยศรวี จงแสงทอง AFPTTM
Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ