สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หรือ สังคมที่มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย จากข้อมูลของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยเดือน มกราคม 2565 พบว่า มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทย กว่า 12.11 ล้านคน หรือคิดเป็น 18.3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
คำถามคือจะวางแผนหรือให้คำแนะนำอย่างไร ในช่วงที่ผู้สูงอายุกำลังจะขาดรายได้จากการทำงาน รวมถึงความเสื่อมสภาพของร่างกายที่นำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพ ประเด็นนี้ ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ใช้หลักการวางแผนปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) เป็นแนวทางหลัก เพื่อบริหารความเสี่ยงทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเกษียณอายุ และให้ชีวิตหลังเกษียณเป็นไปได้อย่างราบรื่น
#รายได้ที่เพียงพอ
จากการวิจัยของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ พบว่า ร้อยละ 70 ของผู้สูงอายุไม่มั่นใจว่ามีเงินออมเพียงพอสำหรับอนาคต ขณะที่ร้อยละ 40 หวังพึ่งรายได้จากลูกหลานในการดำรงชีพ นอกจากนี้ ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น ส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 78 ปี และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นไปถึง 100 ปีได้ในอนาคต ทำให้ต้องวางแผนรับมือกับอายุขัยที่ยืนยาวมากขึ้น เพื่อให้มีรายรับเพียงพอในช่วงหลังเกษียณ และมีกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอจนกว่าจะเสียชีวิต
จากประเด็นนี้แนะนำให้ใช้เครื่องมือทางการเงินอย่าง “ประกันชีวิตแบบบำนาญ” โดยเน้นเลือกแบบประกันที่มีคุณสมบัติ 3 อย่างคือ 1. ประกันบำนาญที่จ่ายเงินบำนาญให้กับเรายาวถึงอายุ 99 ปี 2. เน้นผลประโยชน์ดำรงชีวิต (Living Benefit) หรือจ่ายเงินคืนในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับทุนประกัน 3. เนื่องจากประกันชีวิตแบบบำนาญเป็นความคุ้มครองระยะยาว จึงควรเลือกบริษัทประกันที่มีฐานะทางการเงินมั่นคงและไม่เคยมีประวัติไม่ดีด้านการจ่ายค่าสินไหม โดยดูได้จากอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) ที่ควรอยู่ในระดับสูงหรือ ไม่ต่ำกว่า 140%
#ทางเลือกในการรักษา
จากการวิจัยของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุไทยเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุข ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในสัดส่วนที่สูงที่สุด ถึงร้อยละ 81 ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในการรักษา ที่ไม่ทันกับนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นและค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น ข้อมูลจาก Willis Towers Watson บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำ เปิดเผยตัวเลขค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทย (Medical Inflation) ในช่วงปี ค.ศ. 2019 – 2021 พบว่า เพิ่มขึ้นราว 7 – 8% ต่อปี หรือเพิ่มขึ้นจะเป็นเท่าตัวในทุก ๆ 10 ปี ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจไม่น้อย นำมาซึ่งคำถามในใจว่าจะรับมือกับค่าใช้จ่ายด้านค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นได้อย่างไร
ทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้คือโอนความเสี่ยง ด้วยการทำประกันสุขภาพและประกันโรคร้าย โดยกำหนดทุนความคุ้มครองให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่าย เช่น เลือกแบบเหมาจ่ายวงเงินขั้นต่ำต่อปีประมาณ 3 – 5 ล้านบาทขึ้นไป และเลือกแบบที่ให้ความคุ้มครองต่อเนื่องได้ถึง 99 ปี ทั้งนี้ ควรเปรียบเทียบค่าเบี้ยในช่วงเกษียณอายุ เพื่อประมาณค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียม รวมทั้งเลือกความคุ้มครองค่าห้องผู้ป่วยในให้สอดคล้องกับโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือที่ใช้บริการเป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม แนวทางการเลือกแบบประกันเพื่อวางแผนชีวิตรับวัยเกษียณข้างต้นนั้น เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นที่จะช่วยให้การบริหารค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมค่าใช้จ่ายไม่ให้บานปลายจากการเข้ารับการรักษาโรค แต่หากท่านต้องการคำปรึกษาด้านการทำประกันที่เหมาะสมกับตัวเอง รวมถึงเลือกซื้อประกันตัวท็อปแบบไม่จำกัดค่าย สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำได้ที่ธนาคารทิสโก้ทุกสาขา หรือ โทร 02-633-6060 หรือสามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] ครับ
===================================
เผยแพร่ครั้งแรกที่คอลัมน์ Invest in Health ใน Wealthy Thai