ในปัจจุบันเราเริ่มได้ยินนักวิชาการและนักวิเคราะห์การลงทุนพูดถึงคำว่า Stagflation กันมากขึ้น ซึ่งคำๆ นี้เกิดขึ้นจากคำว่า Stagnation ที่หมายถึง ภาวะเศรษฐกิจหยุดนิ่ง หรือซบเซา กับ Inflation หรือภาวะเงินเฟ้อ โดยในภาวะปกติ ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวกับตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมักจะไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ในช่วงนี้ที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น และส่งต่อมายังตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น อาทิ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราว 2% YoY ในช่วงต้นปี ขึ้นมาเป็น 4.0% YoY ในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี ในขณะเดียวกันตัวเลข GDP ทั่วโลกก็ดูเหมือนมีแนวโน้มที่จะผ่านช่วงจุดสูงสุดไปแล้วในหลายประเทศ ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่าอาจเกิดภาวะ Stagflation ขึ้นได้ในอนาคต และจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ดี หลังพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ พบว่าในปัจจุบันโอกาสที่จะเกิดภาวะ Stagflation ยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่อาจจะเข้าสู่ภาวะ Slowdown หรือช่วงการเติบโตแบบชะลอตัวลง
TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU) เชื่อว่า ถึงแม้ในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก และอาจทรงตัวอยู่ในระดับสูงไปอีกระยะหนึ่ง บวกกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลงมาบ้าง แต่โอกาสที่จะเกิดภาวะ Stagflation ยังคงอยู่ในระดับต่ำราว 15% เท่านั้น และสถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือนกับในช่วงปี 1970s ที่เกิด Stagflation ขึ้น โดยในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ Fed เพื่อลดค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ของรัฐฯ จากการทำสงครามเวียดนาม และการสวัสดิการต่างๆ ตลอดจนในช่วงนั้นเกิดวิกฤตพลังงาน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นราว 939% ในช่วงปี 1973 – 1979
นอกจากนี้ เราอาจพิจารณาจากตัวเลขทางการเงิน อาทิ ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้นกับพันธบัตรรัฐบาล (Earning Yield Gap) และ Forward P/E Ratio เพื่อระบุว่า ในปัจจุบันหรืออนาคตอันใกล้นี้ ภาวะเศรษฐกิจการลงทุนอยู่ในภาวะใด ซึ่งในปัจจุบันที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่ที่ 1.6 – 1.7% และคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน Earning Yield Gap ที่ราว 3.4% และ Forward P/E Ratio ที่ราว 20.x เท่า อ้างอิงจาก EPS2022 ที่ 222 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น พบว่า มีโอกาสราว 50% ที่จะเข้าสู่ภาวะชะลอตัว (Slowdown) และมีโอกาส 30% ที่จะเป็นช่วงเศรฐกิจฟื้นตัว (Reflation) ในขณะที่โอกาสในการเกิด Stagflation มีเพียง 15% เท่านั้น
จากข้อมูลข้างต้น ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ช่วง Slowdown แต่ยังมีหุ้นในบางอุตสาหกรรมที่เป็น Growth Stock ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น ตลอดจนยังสามารถเติบโตได้ดีในอนาคต อาทิ บริษัท Technology ในกลุ่ม Esports และ Cloud Computing ซึ่ง Global x Asset Management คาดการณ์ว่า จะมียอดขายในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเติบโต +25.5% yoy และ +19.6% yoy ตามลำดับ (as of 30 Sep 2021)
จะเห็นได้ว่า การกังวลในประเด็น Stagflation ในอนาคตอันใกล้ อาจทำให้พลาดโอกาสในการลงทุนในปัจจุบัน ซึ่งการปรับพอร์ตเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์จะสามารถช่วยเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนโดยรวมได้ อีกทั้งในปัจจุบันยังมีหุ้นที่มีอัตราการเติบโตในอัตราที่น่าสนใจ ตลอดจนได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระดับต่ำ ซึ่งต่างเป็นโอกาสในการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนที่คุ้มค่า
===================================
บทความโดย
วิศรุต จารุอนันตพงษ์ AFPT™ Wealth Manager ธนาคารทิสโก้