แม้ Fed ให้สัญญาณว่าจะพิจารณาเรื่องลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบการประชุมเดือนกันยายนนี้ แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับตอบรับในเชิงลบอย่างมาก เพราะหลังจากนั้นตัวเลขชี้นำเศรษฐกิจสำคัญอย่างดัชนีฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตที่หดตัวแรงกว่าคาดและอัตราว่างงานที่เร่งตัวขึ้นมาที่ 4.3% เนื่องจากนักลงทุนเกิดความกังวลว่า Fed ลดดอกเบี้ยช้าเกินไปจนเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession ได้ โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่น, เกาหลีใต้และไต้หวัน หรือแม้ฝั่งสหรัฐอเมริกาเองที่ราคาปรับลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน อย่างไรก็ดีความกังวลดังกล่าวอาจมากเกินความจริงเพราะยังน้ำหนักของข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาอาจยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิด Recession ดังนั้น การปรับฐานของตลาดหุ้นดังกล่าวอาจเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่รอจังหวะเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นที่จะมีมูลค่าเหมาะสมครั้งหนึ่งในปีนี้
ประการแรกข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดยังไม่ได้น่ากังวลเท่าที่ตลาดตอบสนองในปัจจุบัน โดยข้อมูลล่าสุดไม่ได้แย่ไปมากกว่าที่เคยเป็นมาก่อนนับตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด เช่น ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ก.ค. ของสหรัฐฯ แม้จะออกมาหดตัวที่ 46.8 จุด แต่ยังอยู่ในช่วงระดับเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2023 ถึง 5 ใน 12 เดือนแต่ GDP ของสหรัฐฯ ก็ยังไม่เคยติดลบแม้แต่ไตรมาสเดียวในปีนั้น ขณะที่ ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือน ก.ค. ที่แม้จะออกมาเพียง +1.14 แสนตำแหน่งซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ +1.75 แสนรายเป็นอย่างมาก แต่เมื่อดูค่าเฉลี่ย 3 เดือนย้อนหลังที่ผ่านมาก็ยังอยู่ที่ +1.7 แสนตำแหน่ง ใกล้เคียงกับระดับ +1.5 แสนรายที่ปกติ Fed เริ่มพิจารณาลดดอกเบี้ยดังเช่นในอดีต อีกทั้งเดือน ก.ค. รัฐเท็กซัสเผชิญพายุเฮอริเคนเบอรีลซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การจ้างงานในเดือนนี้ลดลงชั่วคราวเท่านั้น
ประการต่อมาผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นบนแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงจะดีกว่าช่วงเวลาอื่น โดยผลตอบแทนเฉลี่ย 12 เดือนของดัชนี MSCI World ในปีที่ Fed เริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายและไม่เกิด Recession ภายใน 12 เดือนจะอยู่ที่ 10.4% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทน 12 เดือนในช่วงเวลาอื่นนับตั้งแต่ปี 1989 – 2023 อยู่ที่ 6.5% เท่านั้น เหตุผลมาจาก Earning Yield Gap ของตลาดหุ้นสูงขึ้นช่วงดอกเบี้ยลง โดย Earning Yield Gap (EYG) หรือ ส่วนต่างของอัตรากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีเป็นตัวอ้างอิง ซึ่งปกติหุ้นจะต้องมี EYG เป็นบวกเพราะจะสะท้อนความคาดหวังของนักลงทุนที่หวังผลตอบแทนจากหุ้นที่มีความเสี่ยงจากการลงทุนมากกว่าพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้นเมื่อ Fed ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ตราสารหนี้มีผลตอบแทนลดลง จะช่วยให้ EYG เพิ่มขึ้นแม้อัตรากำไรของหุ้นเท่าเดิม โดย EYG ของ MSCI World ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาที่ 2.28% ซึ่งสูงที่สุดในรอบปีนี้ ดังนั้น ช่วงที่ตลาดหุ้นปรับฐานลงจากความกังวลเรื่อง Recession เกินไปแต่กำไรอาจไม่ได้ลดลง ยิ่งทำให้ EYG สูงขึ้นและตลาดหุ้นมีความน่าสนใจลงทุนมากขึ้นด้วย
และปัจจัยสุดท้ายนักวิเคราะห์ยังประเมินกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้ามาตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 4.5% นำโดยตลาดหุ้นฝั่งเอเชียที่นักวิเคราะห์มีปรับประมาณการกำไรถึง 6.5% และแม้กระทั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ตลาดกังวลเรื่อง Recession ก็ยังมีการปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นราว 6% นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาด้วยและหากพิจารณาเป็นตลาดหุ้นรายประเทศที่มีการปรับประมาณการกำไรโดดเด่นตั้งแต่ต้นปีนั้น ได้แก่ เกาหลีใต้, ไต้หวัน, อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น
เมื่อพิจารณาทั้ง 3 ปัจจัยรวมกันจะเห็นได้ว่าเมื่อตลาดกังวล Recession ทำให้ระดับราคาหุ้นปรับลดลงมาบน Valuation ที่ถูกลงหากอัตรากำไรยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม อีกทั้งแนวโน้มขาลงของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่แน่ชัดว่าจะลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบเดือน ก.ย. เป็นต้นไปมากนักยิ่งช่วยให้ EYG ของตลาดหุ้นทั่วโลกสูงขึ้น เท่ากับว่าจะช่วยให้ผลตอบแทนของหุ้นมีความน่าสนใจลงทุนมาขึ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนตราสารหนี้ น่าจะเป็นจังหวะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนที่สำคัญและรับผลตอบแทนที่ดีหลังจากตลาดคลายความกังวลทางเศรษฐกิจที่เกินจริงไปในช่วงเวลานี้
ภาพที่ 1: นักวิเคราะห์ยังปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนหลายประเทศเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ
CFP® Wealth Manager