การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนหรือ National People’s Congress ในปีนี้ ถูกจับตามองจากทั่วโลกเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่เพียงแต่เป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่รัฐบาลจีนยกเลิกนโยบาย Zero COVID เท่านั้น แต่ยังเป็นปีที่มีการเปลี่ยนผ่านอำจาจครั้งสำคัญของบุคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาลและหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBoC) และยังถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่รัฐบาลจีนจะแถลงนโยบายด้านต่าง ๆ ทั้งนโยบายภายใน ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ในปีนี้ถือเป็นความท้าทายสำคัญหลังจากตัดสินใจเปิดประเทศ และนโยบายภายนอก ที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐ ฯ และการวางตัวในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนถือเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายจับตา
ซึ่งการประชุมได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางท้องฟ้าที่ขุ่นมัวในกรุงปักกิ่งหลังจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่รัฐบาลจีนพยายามแก้ปัญหามาโดยตลอดเริ่มกลับมาอีกครั้ง สอดคล้องกับหนึ่งในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลจีนที่ยังคงผลักดันและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง และในปี 2023 นี้จะมีการลงทุนก่อสร้างเพื่อขยายการใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีกจากเดิมที่มีอยู่
ส่วนในประเด็นหลักที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ คือ การตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ที่ 5% ซึ่งถือเป็นระดับที่ถือว่าไม่ต่ำหรือสูงจนเกินไป เมื่อเทียบกับความคาดหมายของนักวิเคราะห์ แต่ก็ถือเป็นการสะท้อนว่า จีนอาจจะไม่ต้องมีความจำเป็นในการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากนักเพื่อทำให้การเติบโตถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ดีจากปัจจัยภายนอกที่เศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาความขัดแย้งกับสหรัฐ ฯ ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้จีนต้องหันมาผลักดันการพึ่งพาบริโภคในประเทศให้เป็นเครื่องจักรสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจเติบโตอีกครั้ง
ด้านทิศทางการดำเนินนโยบายในระยะยาวที่รัฐบาลแถลงออกมาในการประชุม แน่นอนว่าจีนจำเป็นต้องหันมาพึ่งพาตนเองมากยิ่งขึ้น หลังจากเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐ ฯ และชาติตะวันตกในการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะการผลิต Semiconductor ที่จีนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทุ่มเม็ดเงินในการสนับสุนนการวิจัยพัฒนาเพื่อค้นคว้านวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นของตนเอง ทั้ง Semiconductor และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ
ส่วนในด้านการเปลี่ยนแปลงบุคคลสำคัญที่จะเข้ามารับตำแหน่งต่าง ๆ นั้น ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่จะเปลี่ยนจากนาย Li Keqiang เป็นนาย Li Qiang ดูเหมือนจะไม่ได้สร้างความกังวลให้กับตลาดมากนัก เนื่องจากในช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้วการที่นาย Li Qiang ถูกแต่งตั้งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการโปลิตบูโรลำดับที่ 2 ในตอนนั้นได้สร้างความตกใจให้กับตลาด เนื่องจากนาย Li Qiang ถือเป็นคนสนิทที่เคยทำงานร่วมกับ ปธน.Xi Jinping ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าอาจจะเกิดการรวบอำนาจ และนาย Li Qaing ถือเป็นบุคคลสำคัญในการประกาศ Lockdown มหานครเซี่ยงไฮ้ในปี 2022 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ในตอนนั้น แต่ความกังวลในประเด็น Lockdown ดูเหมือนจะคลี่คลายลง เนื่องจากในคำแถลงเปิดประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ไม่ได้มีการระบุถึงคำว่า Zero COVID แม้แต่ครั้งเดียว นั่นหมายความว่าถึงแม้นาย Li Qiang จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแต่การกลับมา Lockdown เมืองใหญ่ ๆ ของจีนอีกครั้งจึงแทบจะไม่มีความเป็นไปได้เลย ในทางกลับกันเมื่อดูประวัติการทำงานในอดีตที่ผ่านมาของ นาย Li Qiang ซึ่งมีประวัติในการสนับสนุนภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลักดันให้ Tesla สามารถตั้งโรงงานการผลิตในเซี่ยงไฮ้ได้ และยังถือเป็นบุคคลสำคัญในการผลักดันให้เกิดกระดาน ซื้อ-ขายหุ้นบริษัทเทคโนโลยีที่มีความคล้ายคลึงกับตลาดหุ้น Nasdaq ของสหรัฐ ฯ ในชื่อ STAR Market ดังนั้นการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งของนาย Li Qiang ไม่ได้แปลว่าจะเป็นผลลบกับตลาดหุ้นอย่างที่หลายฝ่ายกังวลในช่วงแรก และประวัติการสนับสนุนภาคธุรกิจที่ผ่านมาอาจหมายถึงการที่นโยบายของรัฐบาลที่เคยกดดันภาคธุรกิจโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีจะไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านมา
ดังนั้น สรุปได้ว่าจากผลการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจีนจะเน้นสนับสนุนต่อจากนี้คืออุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรม Semiconductor อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด นอกจากนี้บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เคยโดนกดดันจากนโยบายของรัฐบาล อาจจะได้รับแรงกดดันลดลง ถึงแม้คงไม่ถึงขั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลก็ตาม
และการที่จีนพึ่งจะเปิดประเทศหลังจากยกเลิกนโยบาย Zero COVID ในปีนี้ การมุ่งเป้าหมายหลักไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะถือเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งอย่างน้อยในปีนี้ ตลาดหุ้นจีนก็จะไม่ต้องเผชิญปัจจัยลบจากแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา
เผยแพร่ครั้งแรก เว็บไซต์เนชั่นออนไลน์