ในช่วง 1 ปีผ่านมา ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่เร็วที่สุดในรอบกว่า 40 ปีนับตั้งแต่ปี 1980 ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน ทั้งหุ้น พันธบัตร REITs ตลอดจนสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆให้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางเพื่อปราบเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานสูงสุดในรอบ 40 ปี อย่างไรก็ตาม วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าวกำลังใกล้จะสิ้นสุดลง จาก 3 เหตุผล ดังต่อไปนี้
1. เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และลดลงมาเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน สะท้อนจากดัชนีเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 2023 ของสหรัฐฯอยู่ที่ระดับ 5% ถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.75% – 5%
นอกจากนี้ หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ 5% เทียบกับ Dot plot ที่บ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) ที่ Fed เอง คาดว่าจะปรับขึ้นไปที่ระดับ 5% – 5.25% นั่นเท่ากับว่า Fed อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงแค่ 1 ครั้งในการประชุมรอบเดือน พ.ค. และหยุดวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยไว้เพียงเท่านี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยได้กลับมาสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อแล้ว
2. เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) สะท้อนจาก Leading Economic Index (LEI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้พิจารณาการเกิด Recession ปรับตัวลงมาอยู่ในแดนลบและใกล้เคียงระดับในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2000, 2008 และ 2020 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า
3. เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย Fed จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ตัวอย่างเช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในอดีตจนเกิดวิกฤต Subprime ปี 2008 หรือ วิกฤต Dotcom ปี 2000 ส่งผลให้ Fed จำเป็นต้อง “หยุดขึ้นดอกเบี้ย” และ “ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง” ในเวลาต่อมา เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤต
ล่าสุดเหตุการณ์ Bank run ในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นสัญญาณเตือนว่าการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้ Fed จำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด
ในแง่ของกลยุทธ์การลงทุน เรามองว่า ตลาดได้มองข้ามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว และจะหันมาให้น้ำหนักกับการ “คงดอกเบี้ย” และ “ลดดอกเบี้ย” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ดังนั้น เมื่อแรงกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเริ่มผ่อนคลายลง เราเชื่อว่าราคาสินทรัพย์หลายประเภทมีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นและเป็นโอกาสในการลงทุนครั้งสำคัญสำหรับวัฎจักรเศรษฐกิจรอบนี้
ประเภทสินทรัพย์ที่น่าสนใจในการลงทุน คือ “สินทรัพย์คุณภาพสูง” ที่ “ราคาปรับตัวลดลงมาแรง” ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จากความกังวลต่อภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น โดยมี Themes การลงทุนที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
● Hope for the last rate hike, prepare to the first rate cut : สินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากการ “หยุดขึ้นดอกเบี้ย” และ “ภาวะดอกเบี้ยขาลง” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่
1. พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ investment grade ซึ่งให้ Yield อยู่ในระดับที่น่าสนใจและราคามีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ดี หากอัตราดอกเบี้ยกลับมาเป็นขาลงในอนาคต
2. หุ้นกลุ่ม Technology ที่ราคาหุ้นได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวแรงเมื่อเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง โดยหุ้นกลุ่ม Technology ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มที่รายได้ยังมีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างสม่ำเสมอตามเทรนด์ Digital Transformation ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Cloud computing และ Cybersecurity
● Recession fighter : หุ้นกลุ่ม “Quality growth” ที่มีความแข็งแกร่งของกำไร กระแสเงินสดดี หนี้สินต่ำและที่สำคัญคือ ผลประกอบการยังสามารถเติบโตได้ แม้จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
1. หุ้นกลุ่ม Healthcare ที่มีอัตราการเติบโตสม่ำเสมอตาม Megatrends สังคมผู้สูงอายุและเป็นกลุ่มผู้ผลิตนวัตกรรมการแพทย์ เช่น Biotechnology และ Digital Health
● High potential growth countries : ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเอเชียที่ GDP เติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลกและมีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่
1. ตลาดหุ้นจีน ที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากการ Re-opening เศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบและมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ GDP ของจีนมีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 5% ในปีนี้ ทั้งนี้ ควรเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ใน Megatrends และได้รับการสนับสนุนจากแผนยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลจีน เช่น กลุ่ม Consumer, Clean energy
2. ตลาดหุ้นเวียดนาม ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่า 6% ในปีนี้จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวและมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPTWealth manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรก: เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
==========================================================