ธนาคารทิสโก้คาด ปี 2566 เศรษฐกิจถดถอยมาแน่ แนะซื้อ “กองทุนตราสารหนี้” กระจายความเสี่ยงแถมเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนคุ้มค่าในช่วง 1 ปี ทั้งดอกเบี้ยและส่วนต่างราคา และหากสนใจลงทุนในหุ้นแนะนำซื้อ “หุ้นเฮลธ์แคร์” สถิติชี้ชัด ผลประกอบการยังโตแข็งแกร่งแม้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย แถมราคาหุ้นปัจจุบันถูกกว่าดัชนี S&P500
นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ต้องยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) วันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง 0.75% เพื่อหยุดเงินเฟ้อ และคาดว่า Fed จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนไปแตะระดับสูงสุดที่ระดับ 5.00-5.25% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
ในด้านเศรษฐกิจปี 2566 นั้น คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 ดังนั้น การลงทุนในช่วงนี้ ธนาคารทิสโก้ยังคงมองหาการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี เพื่อรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รออยู่ในช่วงปีหน้า โดยแนะนำให้นักลงทุนอาศัยจังหวะที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ (Bond Yield) ปรับตัวขึ้นมาสูงที่ระดับกว่า 4% ลงทุนใน “กองทุนตราสารหนี้” ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่มีเครดิตเรตติ้งสูง เช่น A- ขึ้นไป และอายุตราสารหนี้ระยะปานกลางประมาณ 3-5 ปีขึ้นไป เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าในช่วง 1 ปีข้างหน้า และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตลงทุนอีกด้วย
“ในช่วงนี้ธนาคารทิสโก้ยังแนะนำให้นักลงทุน ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนจากดอกเบี้ย (Bond Yield) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงถึงกว่า 4% นอกจากนี้ กองทุนตราสารหนี้ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) ของตราสารหนี้ เพราะคาดว่าปีหน้า Fed จะผ่อนคันเร่งการขึ้นดอกเบี้ยจากเงินเฟ้อที่จะชะลอตัวลงรวมถึงเศรษฐกิจที่เข้าสู่สภาวะถดถอย ซึ่งจะทำให้ราคาตราสารหนี้ระยะกลางปรับตัวเพิ่มขึ้น” นายณัฐกฤติกล่าว
สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ และต้องการลงทุนในตลาดหุ้น แนะนำให้เน้นหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ (Healthcare) เพราะเป็นอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ระยะยาวจากการเปลี่ยนโครงสร้างของจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทั่วโลก ตลอดจนนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้หุ้นกลุ่ม Healthcare ก็ยังเป็นกลุ่มที่มีรายได้และกำไรมีความสม่ำเสมอ ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ และมีอำนาจในการปรับราคาสินค้าขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ (Pricing Power) อีกด้วย
ซึ่งจากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า หุ้นกลุ่ม Healthcare เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ผลประกอบการสามารถเติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงวิกฤตฟองสบู่ดอทคอม (Dotcom) ปี 2543 , วิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Sub – Prime Mortgage Crisis) ปี 2550 -2552 และ วิกฤตน้ำมัน (Oil Crash) ปี 2558 -2559 ที่กำไรต่อหุ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare สามารถเติบโตได้ในระดับ 14.6% ,-0.1%, 14.2% ตามลำดับ เทียบกับดัชนี S&P 500 ที่ปรับตัวลดลง -25.9%, -49.2%, -6.6% ตามลำดับ
โดยปัจจุบันหุ้นกลุ่ม Healthcare ซื้อขายที่ราคาหุ้นเทียบกับคาดการณ์กำไรในอนาคต (Fwd P/E) เพียง 16.37 เท่านับว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตย้อนหลัง 10 ปี และต่ำกว่า Fwd P/E ของดัชนี S&P500 ที่ 17.33 เท่า โดยอุตสาหกรรมย่อยในกลุ่ม Healthcare ที่ผลประกอบการสามารถเติบโตสวนสภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ กลุ่มไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) และ Health Care Equipment & Services ซึ่งมีอัตราการเติบโตของกำไรในช่วงเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉลี่ยสูงถึง 11% และ 7% ตามลำดับ