เมื่อเริ่มต้นปีใหม่ หลายคนมักตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการเงิน เช่น การออมเงิน ลดหนี้ หรือเพิ่มรายได้ แต่บ่อยครั้งที่เป้าหมายเหล่านี้มักไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ข้อมูลจาก Forbes พบว่ากว่า 80% ของการตั้งเป้าหมายช่วงปีใหม่มักล้มเหลวภายในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัยทั้ง การตั้งเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน ขาดการวางแผนที่ดี และการลงมือทำที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถจัดการได้ถ้ารู้จักหลัก S.M.A.R.T. รวมถึงเพิ่ม 3 ทริกที่จะเพิ่มโอกาสความสำเร็จของเป้าหมาย
เป้าหมายที่ตั้งไว้ SMART แล้วหรือยัง
“อยากมีเงินเยอะขึ้น” มักจะเป็นเป้าหมายอันดับแรกๆที่คนเรามักใช้เป็นเป้าหมายทางการเงินในทุกๆปี แต่ก็กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่มักจะล้มเหลวและตามมาด้วยการล้มเลิกมากที่สุด เพราะเป้าหมายที่ขาดแรงจูงใจในระยะยาว เนื่องจากขาดทั้งความชัดเจนและวิธีการวัดผล แต่เราสามารถปรับเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้นโดยใช้แนวคิด S.M.A.R.T. ซึ่งประกอบไปด้วย 5 คำ ได้แก่ S (Specific) มีความชัดเจน เจาะจง, M (Measurable) สามารถวัดผลได้, A (Achievable) ทำได้จริง, R (Relevant) สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาว และ T (Time-bound) มีกำหนดเวลาชัดเจน เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการตั้งเป้าหมาย ทำให้วิธีการตั้งเป้าหมายมีความชัดเจนเมื่อเทียบกับของเดิมดังตัวอย่าง
เป้าหมายแบบเดิม : “อยากมีเงินเยอะขึ้น”
เป้าหมายแบบ S.M.A.R.T. : “เก็บเงิน 300,000 บาทเพื่อเป็นการศึกษาลูกในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยออมเดือนละ 8,000 บาท”
S (Specific) : เจาะจงเป้าหมายว่าเก็บเงินเพื่อวัตถุประสงค์ใด (เพื่อการศึกษา) และจำนวนเงินที่ต้องการเก็บ (300,000 บาท)
M (Measurable) : เป้าหมายวัดผลได้จากการออมเดือนละ 8,000 บาท และสามารถติดตามความคืบหน้าได้
A (Achievable) : เป้าหมายการออมเดือนละ 8,000 บาท สามารถทำได้จริงตามรายได้และใช้ผลตอบแทนที่ไม่สูงมากเกินไป (ใช้ผลตอบแทนที่ 3%)
R (Relevant) : การศึกษาลูกเป็นสิ่งที่พ่อแม่ให้ความสำคัญเนื่องจากมีผลกระทบต่อลูกในระยะยาว
T (Time-bound) : เป้าหมายนี้มีกำหนดเวลาชัดเจน คือภายใน 3 ปี (36 เดือน)
จะเห็นว่าการใช้หลัก S.M.A.R.T. จะช่วยทำให้เห็นเป้าหมายมีความชัดเจนมากขึ้น และสามารถบอกได้ว่าเป้าหมายดังกล่าวมีโอกาสสำเร็จมากน้อยเพียงใด
เสริม 3 ทริกเพิ่มโอกาสสำเร็จให้กับเป้าหมาย
หลัก S.M.A.R.T. เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้การตั้งเป้าหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามระหว่างทางยังมีโอกาสที่จะล้มเหลวได้หากขาดแรงกระตุ้นต่อเนื่อง เราสามารถใช้ 3 กลยุทธ์ในการเพิ่มโอกาสสำเร็จให้มากขึ้น
- วางแผนลงมือทำให้ทุกอย่างเป็นอัตโนมัติ : การทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างอัตโนมัติจะช่วยลดความยุ่งยากในการปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ อย่างเช่นการออมเงินผ่านแอพลิเคชั่น TISCO My Wealth ที่มีระบบหักเงินออมอัตโนมัติ ได้ทั้ง บัญชีออนไลน์ ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ และ กองทุนรวม ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นแต่ก็เหมาะสมกับผู้ที่รับความเสี่ยงในการลงทุนได้เช่นกัน
- สร้างแรงกระตุ้นระหว่างแผนการ : ฉลองความสำเร็จด้วยการตั้งรางวัลระหว่างทาง เช่น หากเก็บเงินได้ต่อเนื่องครบ 6 เดือน ก็ให้รางวัลตัวเองซักนิด อาจจะเป็นมื้ออาหารพิเศษซักมื้อแต่ราคาต้องไม่สูงเกินไปจนกระทบกับแผนการออมเงิน
- หาคนหรือกลุ่มคนที่มีแนวความคิดคล้ายกัน : ปัจจุบันบนโลกโซเชียล เราจะเจอกลุ่มที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการเก็บเงินมากมายซึ่งจะช่วยทำให้เรามีทัศนคติทางการเงินทีดีขึ้น อย่างที่คุณ Jim Rohn นักพูดสร้างแรงบันดาลใจได้กล่าวไว้ว่า “ตัวเราคือค่าเฉลี่ยของคน 5 คนที่คุณใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุด”
โดยสรุปแล้วการล้มเหลวของเป้าหมายปีใหม่มักเกิดจากการตั้งเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน ไม่สมจริง และขาดแผนที่เป็นระบบ การแก้ไขปัญหาด้วยการตั้งเป้าหมายตามหลัก S.M.A.R.T. รวมถึงการใช้ทริกทั้ง 3 ข้อจะช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จให้กับการตั้งเป้าหมาย เพื่อให้ปีใหม่นี้กลายเป็นปีแห่งความมั่นคงและความสำเร็จทางการเงินของคุณในระยะยาว.
โดย ยศรวี จงแสงทอง AFPT™
Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้