นับตั้งแต่ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ออกมาเป็นที่ชัดเจนว่า Donald Trump เป็นผู้ชนะและกำลังจะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ตอบรับในเชิงบวกจากความคาดหวังของนักลงทุนที่มองว่า นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่จะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทในสหรัฐฯ ทั้งในแง่ของนโยบายการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคล (Corporate tax) ลงจากเดิม 21% สู่ระดับ 15% นโยบายผ่อนคลายกฏเกณฑ์เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในสหรัฐฯ มากขึ้น (Deregulation) ตลอดจนนโยบายกีดกันการค้า (Tariffs) ซึ่ง Trump ได้ประกาศว่าพร้อมจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนเป็น 60% และประเทศอื่น ๆ เป็น 10% ซึ่งทิศทางการดำเนินนโยบายเหล่านี้ ได้ส่งผลให้เกิดการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นของ Bond yield ระยะยาว สะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในอนาคตยังคงขยายตัวแข็งแกร่งและผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากบริบทแวดล้อมที่กล่าวไปข้างต้นมากที่สุด ก็คือ อุตสาหกรรมการเงินของสหรัฐฯ (US Financials) เนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้
- ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin) ที่กว้างขึ้น
ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยระยะยาวซึ่งเปรียบเสมือนรายได้จากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูง สะท้อนผ่าน Bond yield ระยะยาวที่ทรงตัวอยู่ใกล้เคียงระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่านโยบายของรัฐบาล Trump จะส่งผลให้เศรษฐกิจอเมริกาแข็งแกร่งขึ้นและอัตราเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ต้นทุนเงินฝากของธนาคารกลับมีแนวโน้มปรับตัวลดลง สอดคล้องกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed เมื่อรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับตัวลดลง จึงส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin) ของกลุ่มธนาคารมีทิศทางที่กว้างขึ้นและนำไปสู่ความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบของกำไรต่อหุ้น (EPS) และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)
- นโยบาย Financial Deregulation ช่วยผ่อนคลายกฏเกณฑ์การทำธุรกิจของกลุ่มสถาบันการเงิน
หลังจากเกิดวิกฤต Subprime สถาบันการเงินในสหรัฐฯถูกควบคุมอย่างเข้มงวดจากกฏระเบียบต่างๆ รัฐบาลของ Trump มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินนโยบายเหล่านี้ ด้วยการลดกฏระเบียบในภาคสถาบันการเงินลง ยกตัวอย่างเช่น ลดการตั้งสำรองเงินกองทุนฯลงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร รวมถึงผ่อนปรนกฏเกณฑ์การควบรวมกิจการ ซึ่งจะช่วยสร้าง Synergy ให้กับธุรกิจภายในอุตสาหกรรมการเงิน
- หุ้นกลุ่ม US Financials ได้รับผลกระทบน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ จากการตอบโต้มาตรการกีดกันทางการค้า
สืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายสงครามการค้ากับประเทศอื่นทั่วโลก สหรัฐฯก็เองอาจจะเผชิญกับการตอบโต้มาตรการกีดกันทางการค้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ เช่นกัน ส่งผลให้บริษัทสหรัฐฯ ที่มีรายได้จากนอกประเทศเป็นสัดส่วนที่สูง เช่น กลุ่มเทคโนโลยี อาจได้รับผลกระทบจากการตอบโต้การกีดกันทางการค้า อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินของสหรัฐฯ มีรายได้จากต่างประเทศเพียงแค่ 28% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าบริษัทในดัชนี S&P500 ที่มีรายได้จากนอกประเทศสูงถึง 41% จึงมีความอ่อนไหวต่อประเด็นดังกล่าวที่ค่อนข้างจำกัด
- US Financials เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการลดภาษีนิติบุคคล
BofA คาดการณ์ว่าการปรับลดภาษีนิติบุคคลจะส่งผลโดยตรงต่อกำไรบริษัทในดัชนี S&P500 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 4% ทันทีที่มีผลบังคับใช้ แต่หุ้นบางอุตสาหกรรมมีโอกาสถูกปรับประมาณการณ์กำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นอีก 7% ในขณะที่ กลุ่มบริการด้านการสื่อสารและกลุ่มสถาบันการเงิน คาดว่าจะได้รับ Earnings Upgrade ในอัตราที่ใกล้เคียงกันราว 5%
ทั้งนี้ หากพิจารณาการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในอดีตที่ Trump ดำรงตำแหน่งในสมัยแรกและมีการผลักดันกฏหมายลดภาษีนิติบุคคลลงจาก 35% เป็น 21% ในปี 2017 พบว่า ตลาดหุ้นจะมีการตอบรับเชิงบวกใน 2 ช่วง คือ ช่วงที่ตลาดทราบผลการเลือกตั้งและช่วงหลังจากที่กฏหมายผ่านการเห็นชอบจากสภาคองเกรส ซึ่งการปรับขึ้นของตลาดในรอบหลังมักจะเป็นการปรับขึ้นรอบใหญ่ที่มากถึง 15% นำโดยหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากนโยบายลดภาษีฯ ดังนั้น หุ้นกลุ่ม US Financials จึงยังคงมีโอกาสปรับตัวขึ้นรอบใหญ่อีกครั้งในปี 2025 หลังจากที่กฏหมายผ่านสภา ในฐานะหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการลดภาษีนิติบุคคลและเป็นหนึ่งในกลุ่มที่นักลงทุนควรมีอยู่ในพอร์ตการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ Outperform ตลาด ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไปในยุค Trump 2.0
บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™
Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้