
หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศวันปลอดปล่อย (Liberation day) เมื่อวันที่ 2 เม.ย. เปรียบเสมือนประกาศทำสงครามการค้าอย่างเป็นทางการด้วยการคิดอัตราภาษีตอบโต้การค้า (Reciprocal tariff) กับทุกประเทศทั่วโลก 10% ถึง 145% ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ 3 วันลดลงแรง -10.73% ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดอันดับ 11 นับตั้งแต่เก็บสถิติช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เนื่องจากตลาดกังวลทั้งกำไรของบริษัทที่อาจถูกปรับลดการเติบโตรวมถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอย (Recession) มีมากขึ้น แต่หากประเมินราคาหุ้นที่ลดลงมาแล้วในปัจจุบันอาจเป็นระดับราคาที่รับข่าวร้ายไปบ้างแล้วและอาจเป็นโอกาสทยอยซื้อสะสมในช่วงนี้
แม้เหตุการณ์ปัจจุบันที่สงครามการค้าทวีความตึงเครียดมากขึ้น แต่หนึ่งในดัชนีชี้วัดที่บอกว่าเศรษฐกิจอาจไม่เข้าสู่ภาวะ Recession คือ ตลาดตราสารหนี้คุณภาพต่ำ (High yield bond) โดยหากอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้กลุ่มนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าตราสารหนี้ประเภทอื่น หรือที่เรียกว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Spread) จะบ่งชี้ว่านักลงทุนกังวลเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของ High yield bond จากดัชนี MARKIT NA High Yield 5-Year Credit Spread ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นไปที่ประมาณ 460 จุด ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าเหตุการณ์วิกฤต COVID-19 และการล้มละลายของธนาคาร SVB ในสหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นไปราว 530 และ 700 จุดตามลำดับ
นอกจากนี้นักวิเคราะห์หลายสำนักที่อ้างอิงจาก Bloomberg consensus ยังประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่การเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละไตรมาสจากเดิมที่นักวิเคราะห์คาดไว้ก่อนวัน Liberation day ราว 2-2.6% อาจลดลงถึงราว 1-1.5% ซึ่งยังเป็นการเติบโตแบบชะลอตัวเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นเศรษฐกิจหดตัว หรือ Recession แต่อย่างใด
ขณะที่ ดัชนี S&P500 ณ วันที่ 15 เม.ย. อยู่ที่ 5,396 บนระดับ P/E ratio ที่ราว 19.6 เท่า หากอ้างอิงข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCOESU) ประเมินผลกระทบต่อกำไรต่อหุ้นของดัชนี S&P500 หากสมมติให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยที่ประกาศหลัง Liberation day ราว 15% นั้นจะกระทบกำไรต่อหุ้นราว –6% หรืออยู่ที่ 253.8 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจุดเข้าซื้อที่เหมาะสม ณ ระดับ P/E Ratio เฉลี่ย 5 ปีที่ 20 เท่า จะคำนวณเป้าหมายดัชนี S&P500 ของปี 2025 ได้เท่ากับ 5,078 จุด
และหากย้อนกลับไปถึงจุดประสงค์ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นทั่วโลกนอกเหนือจากการลดการขาดดุลการค้านั้น อาจนำไปเป็นงบประมาณเพื่อนำไปสานต่อนโยบายลดภาษีนิติบุคคลตามที่เคยหาเสียงไว้ ซึ่งจะช่วยให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นมาชดเชยผลกระทบของสงครามการค้าได้ราว 4% หรือกำไรต่อหุ้นที่ 264.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น ดัชนีที่เหมาะสม ณ P/E Ratio 20 เท่าจะอยู่ที่ 5,292 จุด ดังนั้นระดับดัชนีปัจจุบันอาจบริเวณที่นักลงทุนระยะกลางสามารถทยอยสะสมได้หากรายได้การคลังที่จะได้รับจากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจะนำมาใช้เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายลดภาษีนิติบุคคลในประเทศได้
จะเห็นว่าในภาพระยะสั้นอาจยังมีความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากสงครามการค้า และเมื่อประเมินมูลค่าหุ้นจากผลกระทบของสงครามการค้าเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่ใช่จุดเข้าซื้อเพื่อเก็งกำไรที่ดีนัก แต่หากเป็นกลุ่มนักลงทุนที่สามารถลงทุนระยะยาวเมื่อประเมินปัจจัยบวกที่มีโอกาสเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาการค้าที่ทำให้อัตราภาษีลดลง รวมทั้งการลดภาษีนิติบุคคลเพื่อเพิ่มกำไรแก่บริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ รอดพ้นจากภาวะ Recession ได้ อาจกลายเป็นว่ามูลค่าหุ้นในปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ระดับที่ใกล้เคียงกับจุดเหมาะสมกับการลงทุนมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นจังหวะที่ดีในการทยอยซื้อสะสมเพื่อสร้างกำไรยามที่ตลาดหุ้นผันผวนตอนนี้
แผนภาพ: ประเมินผลกระทบของนโยบายภาษีตอบโต้ต่อกำไรต่อหุ้นของสหรัฐฯ

Source: Bloomberg, TISCO Economic Strategy Unit (TISCOESU)
บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP®
Wealth Manager