เปิดปีใหม่มาด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ Coronavirus สายพันธุ์ Omicron แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า สายพันธุ์ Omicron นี้ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกายมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้กำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและครอบคลุมไปยังหลากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 กลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง ในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถต่อสู้กับ Omicron ได้โดยตรง การฉีดวัคซีนกระตุ้นจึงเป็นทางออกในช่วงนี้
เดิมที แม้การฉีดวัคซีนครบโดสจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อสู้กับไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ภูมิคุ้มกันก็จะค่อยๆ ลดลงไปตามช่วงเวลา แต่สำหรับสายพันธุ์ Omicron ที่มีการกลายพันธุ์ส่วนโปรตีนหนามกว่า 30 จุด ซึ่งทำให้แพร่เชื้อได้ง่ายกว่า จึงทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนรุ่นเดิมที่มีต่อ Omicron ยิ่งลดลงไปด้วย โดยพบว่า แม้เราจะได้รับวัคซีนครบโดส ไม่ว่าจะเป็น Astrazeneca Pfizer หรือ Moderna เมื่อเจอไวรัสสายพันธุ์ Omicron ภูมิคุ้มกันของร่างกายหรือประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนจะตกลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 40% ภายใน 15 สัปดาห์ หลังจากได้รับวัคซีนเข็ม 2 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ (เกณฑ์การอนุมัติของ WHO วัคซีนจะต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่ระดับ 50% ขึ้นไป)
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า การได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้งจาก Pfizer หรือ Moderna จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายให้กลับมาอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อ Omicron ได้ โดยจากการทดลองพบว่า ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer ครบ 2 เข็ม และได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อสู้กับ Omicron ในระดับ 75.5% ในช่วง 2 สัปดาห์ หลังได้รับเข็มกระตุ้น และสำหรับกลุ่มที่ได้รับวัคซีน Astrazeneca ครบ 2 เข็ม แล้วได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็น Pfizer จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อ Omicron ที่ระดับ 71% ในช่วง 2 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีน
นั่นหมายความว่า แม้ร่างกายจะได้รับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็น Pfizer Moderna หรือ Astrazeneca ครบ 2 โดสแล้ว ก็ควรจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นภายใน 15 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกายให้กลับมาอยู่ในระดับที่สามารถต่อสู้กับ Omicron ได้
สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนในแง่ของการลดความรุนแรงหลังจากร่างกายได้รับเชื้อ Omicron ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดนัก แต่มีความเป็นไปได้ว่าวัคซีนในปัจจุบัน ยังมีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยสังเกตได้จากอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนหรือเป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนหน้า ในขณะที่อาการหลังได้รับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron เป็นอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น ไอ เจ็บคอ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายรายให้ความเห็นว่า เชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ Omicron อาจเป็นจุดเปลี่ยนของการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโลกที่กินเวลามาถึง 2 ปีก็ได้ โดยศาตราจารย์ Martin Hibberd จาก London School of Hygiene and Tropical Medicine ให้ความเห็นว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron มีความคล้ายคลึงกับไข้หวัดทั่วไป คือการที่เรามักเป็นหวัดในช่วงฤดูหนาว ไม่ได้เกิดจากการมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แต่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายเราที่คงอยู่เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อภูมิคุ้มกันลดลง และไปสัมผัสกับไวรัสก็อาจทำให้เป็นหวัดได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ COVID-19 ในทุกๆ ปี นอกจากนั้น ยังมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์หรือปรับตัวให้เข้ากับร่างกายมนุษย์ เพื่อให้เชื้อยังคงอาศัยอยู่ได้ โดยมีผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์ลดลง
การกลายพันธุ์ของ Omicron ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายลดลง เพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในร่างกายมนุษย์อาจมีความเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีผลวิจัยที่ชัดเจนนัก แต่การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายอยู่ในระดับสูงเพียงพอที่จะสู้กับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นในทุกปีนับจากนี้ไป
แผนภาพที่ 1: วัคซีนเข็มกระตุ้นช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ Omicron
ที่มา: Khub.net, National Geographic.co.uk
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPT Wealth Manager