การปรับลดลงของตลาดหุ้นเวียดนามเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมาราว -4.5% นับเป็นการปรับลดลงต่อวันที่มากที่สุดในรอบปีนี้ ด้วยผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัว รวมถึงความผันผวนที่เกิดขึ้นของราคาหุ้นผู้ผลิต EV สัญชาติเวียดนามอย่าง Vinfast ส่งผลต่อราคาหุ้น Vingroup ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีมูลค่าตลาดสูง 5 อันดับแรกในเวียดนาม อาจกำลังสร้างความกังวลใจแก่ผู้ที่สนใจลงทุน หรือกำลังลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นเวียดนาม ว่าแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามอาจไม่สดใสหลังจากนี้ อย่างไรก็ดีสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้น ทั้งปัจจัยที่สนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศโดยรัฐบาลเวียดนาม และมูลค่าของตลาดหุ้นที่ยังอยู่ในจุดที่เหมาะสม ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามยังมีศักยภาพที่จะฟื้นตัวเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างผลกำไรให้นักลงทุนต่อเนื่องได้ในครึ่งปีหลังนี้
สาเหตุของความผันผวนในตลาดหุ้นช่วงที่ผ่านมา เกิดจากประเด็นทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่อ่อนตัวลงตามเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขส่งออกของเวียดนามที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะภาคสินเชื่อที่เติบโตน้อยกว่าเป้าหมายที่ทางการวางไว้ ทำให้ GDP ครึ่งปีแรกของเวียดนามเติบโตได้เพียง +3.72% YoY ต่ำกว่าเป้าหมายที่ +6.5% ต่อปีเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ประเด็นของการขายหุ้น IPO ของบริษัท Vinfast ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ EV ของกลุ่ม Vingroup บนกระดานหุ้น NASDAQ ด้วย โดยมีต้นเหตุมาจากการเก็งกำไรราคาหุ้น Vingroup ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยนักลงทุนเชื่อว่าบริษัท Vingroup จะได้ผลตอบแทนจากการขายหุ้น IPO บริษัท Vinfast แต่ภายหลังจากที่ราคาหุ้น Vinfast ผันผวนรุนแรงและปรับลงราว 60% จากราคาปิดสูงสุดภายในสัปดาห์แรกของการซื้อขายหุ้นนั้น ราคาหุ้น Vingroup ที่ถูกเก็งกำไรมาก่อนหน้าก็ถูกเทขายทำกำไร ประกอบกับตลาดหุ้นเวียดนามโดยภาพรวมตั้งแต่เริ่มไตรมาส 2 ปีนี้ยังไม่มีการปรับฐานมากกว่า -2% ต่อวันและด้วยคุณลักษณะของตลาดหุ้นที่ขับเคลื่อนโดยผู้ลงทุนรายย่อยกว่า 80% ของจำนวนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามทั้งหมด ทำให้เกิดแรงเทขายอย่างรุนแรงต่อ ๆ กันเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่กับหุ้นเวียดนามตัวอื่น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ดีการปรับลดลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นเวียดนามจากสถานการณ์เหล่านี้ อาจเป็นจังหวะทองของผู้ที่กำลังเฝ้ารอจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมของตลาดหุ้นเวียดนาม โดยยังมีปัจจัยบวกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และความผันผวนของตลาดหุ้นเวียดนามไม่ได้ผิดไปจากคุณลักษณะตามปกติของตลาดหุ้นเวียดนาม โดยด้านเศรษฐกิจเวียดนามกำลังผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยลดจากดอกเบี้ยสูงสุดที่ 6% สู่ 4.5% ในปัจจุบัน และยังขอความร่วมมือเพิ่มเติมแก่ภาคธนาคารให้ลดดอกเบี้ยเงินกู้ราว 1.5-2% เพื่อกระตุ้นภาคสินเชื่อให้กลับมาเติบโต นอกจากนี้ยังมีมาตรการผ่านนโยบายการคลังด้วยการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เหลือ 8% ที่บังคับใช้มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่ง 2 มาตรการหลักจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจเวียดนามกลับมาเร่งตัวขึ้นให้เติบโตได้ +6.5% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้
ส่วนในด้านตลาดหุ้นนอกเหนือจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคที่สนับสนุนตลาดหุ้นได้หากเศรษฐกิจกลับมาเร่งตัวขึ้น ความผันผวนของตลาดหุ้นจากเหตุการณ์ล่าสุดอาจเป็นผลกระทบระยะสั้น เนื่องด้วยคุณลักษณะของตลาดหุ้นที่ขับเคลื่อนโดยนักลงทุนรายย่อยทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง โดยพิจารณาจากสถิติการปรับลดลงต่อวันของตลาดหุ้นเวียดนามที่ระดับมากกว่า 4% เกิดขึ้นถึง 11 ครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เทียบกับตลาดหุ้นไทยที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่ในสถิติการเพิ่มขึ้นต่อวันนั้น ตลาดหุ้นเวียดนามสามารถปรับขึ้นได้ 3% ถึง 11 ครั้งในช่วง 3 ปี ส่วนหุ้นไทยเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งเท่านั้น
ขณะที่หากประเมินความเสี่ยงการลงทุน ณ ช่วงเวลานี้ด้วย Fwd P/E Ratio เพียง 9.9 เท่า ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 20% ยังทำให้มีโอกาสลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดถึง 20% ในอีก 1 ปีข้างหน้า และหากมีการปรับประมาณการณ์กำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนยังช่วยให้นักลงทุนมีโอกาสทำกำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามได้มากกว่า 20% อีกด้วย
ภาพ : Fwd P/E ของตลาดหุ้นเวียดนามที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังถึง 20%
Source : Bloomberg
จากความผันผวนของตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีอีกครั้งของนักลงทุนที่ชื่นชอบการเติบโตอย่างโดดเด่นของตลาดหุ้นเวียดนามแต่อาจพลาดโอกาสลงทุนไปในช่วงต้นปี 2023 ที่หากเริ่มลงทุนในช่วงนั้นจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดกว่า 20% ได้ซึ่งผลตอบแทนโดดเด่นติดอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้นด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ และมูลค่าของราคาหุ้นที่ยังไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตจะทำให้นักลงทุนสามารถคาดหวังผลตอบแทนในระดับสูงสุดถึง 20% ได้อีกครั้งต่อจากนี้อีก 1 ปีข้างหน้าก็เป็นไปได้
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected]
บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP®
Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
เผยแพร่ครั้งแรก เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ