บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกในตอนนี้ ยังคงแวดล้อมไปด้วยข่าวสารเชิงลบ ที่อาจสร้างความวิตกให้กับการตัดสินใจเลือกกองทุน กระทั่งหลายคนที่ลงทุนไปแล้วก็อาจเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่า “มาถูกทางหรือเปล่า?” อย่ารอช้า เราจะพาคุณไปหาคำตอบ
ในช่วงที่ผ่านมา ข่าวสารเชิงลบต่างๆได้ออกมากระหน่ำหลายธุรกิจทั่วโลกอีกครั้ง จนคุณอาจกังวลว่า กองทุนที่ถืออยู่เดิมยังโอเคอยู่ไหม? หรือ ถ้าอยู่ระหว่างเตรียมตัวที่จะลงทุนรอบใหม่ก็อาจไม่มั่นใจว่า ควรจะลงทุนกองทุนที่เล็งไว้ดีหรือเปล่า ?
“คุณวรสินี เศรษฐบุตร” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุน และสื่อสารการตลาด สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ ได้วิเคราะห์ข่าวสารเชิงลบประเด็นสำคัญๆ ที่มีต่อธีมการลงทุนที่น่าสนใจ ของกองทุนต่างๆในรอบเดือนส.ค. ไว้ดังนี้
ธุรกิจไบโอเทคฯ VS ข่าวพัฒนาวัคซีนไม่ทันต่อการกลายพันธุ์
นับตั้งแต่โลกได้เผชิญหน้ากับเชื้อโควิด-19 เป็นครั้งแรก ในช่วงปลายปี 2019 ก็เกิดการ “กลายพันธุ์” ขึ้นหลายพันครั้ง ซึ่งการกลายพันธุ์นี้อาจทำให้ไวรัสสามารถเพิ่มจำนวนและอยู่รอดได้ดีขึ้น โดยเชื้อ Sars-Cov-2 สาเหตุของโรคโควิด-19 ซ่ึ่งมีการกลายพันธุ์ จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็น “เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล” กังวลมากที่สุดตอนนี้มีอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา (Alpha) เบตา (Beta) แกมมา (Gamma) และเดลตา (Delta) เพราะเชื้อเหล่านี้อาจสามารถต้านทานต่อวัคซีนได้ ซึ่งนี่ยังไม่รวมถึง “เชื้อกลายพันธุ์ที่น่าจับตา” เช่น สายพันธุ์แลมบ์ดา ฯลฯ ที่เข้ามาสร้างความกังวลในกับทั่วโลกต่อเนื่อง (1)
ข่าวข้างต้นนี้เอง อาจทำให้หลายคนมีความกังวลว่า วัคซีนที่บริษัทในกลุ่มไบโอเทคโนโลยีผลิตในปัจจุบัน จะพัฒนาได้ทันต่อการกลายพันธุ์ของไวรัสหรือไม่ ? และประเด็นนี้ จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในกลุ่มนี้อย่างไร ?
คุณวรสินี ได้อ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (ESU) ซึ่งระบุว่า แม้วัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลง แต่ก็ยังสามารถช่วยลดการเสียชีวิตได้อย่างมาก โดยเมื่อเปรียบเทียบในจำนวนผู้ติดเชื้อที่ใกล้เคียงกัน ระหว่างประเทศที่มีการฉีดวัคซีนมาก (เกินกว่า 50% ของประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม: จุดสีฟ้า) มีจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่าประเทศที่มีวัคซีนต่ำ (จุดสีขาว) อย่างเห็นได้ชัด (2)
ดังนั้น ความกังวลในเรื่องการพัฒนาวัคซีนให้ทันต่อการกลายพันธุ์ของไวรัส อาจเป็นคำถามที่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ แต่ในที่สุดแล้ว วัคซีนจากบริษัทในกลุ่มไบโอเทคฯก็ยังคงมีความสำคัญต่อประชากรโลกอยู่
ส่วนในระยะยาว ธุรกิจด้านไบโอเทคก็ยังคงน่าสนใจเช่นกัน นั่นก็เป็นเพราะทุกบริษัทล้วนต้องเร่งพัฒนาวัคซีนให้ทันต่อความต้องการของโลก ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามหากสามารถพัฒนาวัคซีนใหม่ที่มีคุณภาพมากขึ้นได้ ก็จะส่งผลดีต่อราคาหุ้นในทันที และไม่เพียงแค่นี้ บริษัทที่ประกอบธุรกิจด้านไบโอเทค ยังเดินหน้าวิจัยและพัฒนายา รวมถึงวัคซีนอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาอีกหลากหลายโรค ทั้งมะเร็ง อัลไซเมอร์ ไข้สมองอักเสบ ฯลฯ โดยการวิจัยฯ นี้เองทำให้บริษัทไบโอเทคโนโลยีในประเทศจีน และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจด้านนวัตกรรมการแพทย์ มีรายได้จากการผลิตยา และวัคซีนที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงจากโรคใดโรคหนึ่งเท่านั้น
จีน VS ข่าวทางการจีนกำลังพิจารณาให้สถาบันกวดวิชาเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร
หลังจากมีข่าวว่าทางการจีนกำลังพิจารณาให้สถาบันกวดวิชาเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา และส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม โดยมาตรการดังกล่าว อาจนำไปสู่การถอดถอนหุ้นกลุ่มสถาบันการศึกษาทั้งหมดออกจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนับว่ามีความรุนแรงมาก จากเดิมที่ทางการจีนจะใช้วิธีสั่งปรับ เช่น กรณี Alibaba ที่พยายามผูกขาดตลาด โดยให้ผู้ขายเลือกเพียง Platform เดียวในการจัดจำหน่าย หรือสั่งให้ถอด Didi ออกจาก App store หลังพบว่ามีการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานไม่ถูกต้อง
ประเด็นนี้ได้ส่งผลให้ ตลาดหุ้นจีนโดยรวมถูกเทขาย …
อย่างไรก็ตาม “คุณวรสินี” ประเมินว่า แรงเทขายดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงการปรับพอร์ตการลงทุนระยะสั้นเท่านั้น แต่ในท้ายที่สุด เม็ดเงินลงทุนก็มีโอกาสจะไหลกลับเข้ามาในธุรกิจดาวรุ่งของประเทศจีน โดยเฉพาะใน 5 เมกะเทรนด์หลัก ได้แก่ 1.อีคอมเมิร์ซ (ค้าขายออนไลน์) 2.ธุรกิจเทคโนโลยี 3.ธุรกิจนวัตกรรมการแพทย์ 4.ธุรกิจพลังงาน 5.ธุรกิจยานพาหนะไฟฟ้า
สาเหตุเพราะธุรกิจเหล่านี้ ยังคงได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาลจีนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2564 – 2568 (China’s 14th Five-Year Plan) ซึ่งจะช่วยให้สามารถเติบโตได้ในระยะยาวนั่นเอง
Semiconductor VS ข่าววิกฤตขาดแคลนชิป
ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้อุตสาหกรรมSemiconductor ที่ทำหน้าที่ผลิต “ชิป” เกิดการขาดแคลน ก็คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้โรงงานต้องหยุดการผลิตลง รวมถึงอีกประเด็นหนึ่งก็คือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ดังนั้นแม้จะมีการขยายโรงงานเพิ่ม แต่ก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเฉลี่ยสูงถึง 3 ปี ทำให้โลกกำลังเข้าสู่วิกฤตการขาดแคลนชิป
ประเด็นนี้ส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจ Semiconductor หรือ ชิป ?
คำตอบก็คือ จะทำให้เกิดการก่อสร้างโรงงาน Semiconductor แห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่ภาวะการขาดแคลนจะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 2023 ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาของชิปเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น “วิกฤตขาดแคลนชิป” จึงกลายเป็นโอกาสลงทุนระยะสั้น ในกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนในธุรกิจนี้ทันที
แบรนด์ระดับโลก VS ข่าวเศรษฐกิจ – ตลาดหุ้นชะลอตัวครึ่งปีหลัง
ในช่วงที่ผ่านมา TISCO ESU ได้ออกมาประเมินว่า ตลาดหุ้นครึ่งปีหลังจะปรับตัวขึ้น (Upside) อย่างจำกัด ในขณะที่ความผันผวนจะเพิ่มขึ้นจาก 3 ปัจจัย คือ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง 2.การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า และ 3.นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งภายใต้ภาวะดังกล่าว อาจมีข้อสงสัยอยู่บ้าง เกี่ยวกับการขยายตัวของธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับโลก ว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร?
ในเชิงมุมมองการลงทุน “คุณวรสินี” มีความเห็นว่า กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนโดยเน้นแบรนด์ระดับโลก หรือ หมายถึง “แบรนด์” ที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ยั่งยืน ซึ่งผู้ใช้ยากที่จะเปลี่ยนไปใช้แบรนด์อื่นได้ในทันที ยกตัวอย่างเช่น Microsoft นั้น… นับเป็นธีมลงทุนแบบ “หลุมหลบภัย” ที่น่าสนใจในเวลานี้ เพราะเป็นแบรนด์ระดับโลกที่มีความแข็งแกร่งนั้น จะมีระดับกำไรที่สูง จากการที่สามารถสร้างความรู้สึกผูกพันในตราสินค้า ได้รัับความจงรักภักดีจากลูกค้า มีโอกาสในการขยายกิจการ และมีอำนาจต่อรอง (3)
ดังนั้นธีมการลงทุนในลักษณะนี้ จึงยังสามารถลงทุนได้ โดยเหมาะกับการลงทุนระยะกลาง (1 ปีขึ้นไป)
แม้จะมีข่าวลบที่สร้างความน่ากังวล แต่ธีมลงทุนเหล่านี้ ก็ยังคงโดดเด่นในเดือน ส.ค ซึ่งหากท่านใดสนใจกองทุนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่กล่าวมาข้างต้น สามารถศึกษากองทุนแนะนำเพิ่มเติมได้ที่นี่่ >> https://www.tiscowealth.com/advisory.html
=============================
ที่มา: นางวรสินี เศรษฐบุตร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุน และสื่อสารการตลาด สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้
ข้อมูลอ้างอิง
1. https://www.bbc.com/thai/international-57692589
2. Our World in Data, TISCO Economic Strategy Unit (ESU)
3.บลจ.กรุงศรี / KFGBRAND (ข้อมูล : ณ มี.ค. 64)
===================================