“World Financial Planning Day” ซึ่งตรงกับวันพุธแรกของเดือนตุลาคม มีไว้เพื่อจุดประสงค์อะไร ทำไมวันนี้จึงกลายเป็น “วาระสำคัญระดับโลก”ได้
“World Financial Planning Day” คือ วันอะไร?
ความจริงแล้ว “World Financial Planning Day” ได้ถูกริเริ่มให้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน โดย The Financial Planning Standards Board (FPSB) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับโลก ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงิน CFP เกือบ 200,000 คนทั่วโลก โดย FPSB ต้องการให้วันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ระดับโลก เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน เพิ่มการรับรู้ถึงคุณค่าของการวางแผนทางการเงินแก่ผู้บริโภค และแบ่งปันประโยชน์ของการมีแผนทางการเงิน
ดังนั้น ในระหว่างวันและสัปดาห์ของวันสำคัญนี้ นักวางแผนทางการเงินทั่วโลก ก็จะร่วมกันใช้โซเชียลมีเดียและสื่ออื่นๆ เพื่อส่งเสริมประโยชน์ของการวางแผนทางการเงินที่ดีและการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งในปีนี้ มาในธีม “Live your today. Plan your tomorrow.”
Aging Society พร้อมดูแลชีวิตตัวเองหรือยัง ?
ความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมการแพทย์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชากรโลกมีอายุไขที่ยืนยาวมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากข้อมูลของเว็บไซต์ Statistic ที่รายงานว่า ในปี 2020 นั้น ทั่วโลกมีผู้สูงอายุเกิน 100 ปี รวมกันกว่า 5 แสนราย และกราฟการเพิ่มจำนวนของผู้สูงอายุ ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อได้อีก
โดยถ้าหันกลับมามองในบ้านเรา ก็จะพบว่า ประเทศไทยเองก็มีแนวโน้มของสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจเช่นกัน อ้างอิงจากรายงานของ Statistic ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงสถิติประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2015 ถึงปี 2020 และคาดการณ์ไปจนถึงปี 2100 ว่า มีแนวโน้มที่ปรับตัวสูงขึ้น
การมีอายุที่ยืนยาว ได้อยู่กับคนที่รัก นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็ตามมาด้วยคำถามเช่นกันว่า “คุณพร้อมที่จะดูแลชีวิตตัวเองหรือยัง?”
การวางแผนรายได้-รายจ่าย ให้กลายผู้อยู่รอดในยุค Aging Society
โดยปกติ คนส่วนใหญ่มักจะวางแผนไว้ว่า จะเกษียณตัวเองจากการทำงานในวัย 60-65ปี และคาดการณ์ว่า น่าจะมีชีวิตไปถึงประมาณ 80 ปี ซึ่งนั่นหมายความว่าในช่วงหลังเกษียณ ประมาณ 15-20 ปี คุณจะต้องใช้ชีวิตด้วยเงินเก็บ เงินลงทุน ฯลฯ ที่มีมาก่อนหน้านี้ สำหรับดูแลตัวเองในช่วงบั้นปลาย
แน่นอนว่า หลายคนอาจวางแผนได้ดีจริง สำหรับในฝั่ง “รายรับ” ซึ่งอาจจะมาจากหลายช่องทาง ทั้งการลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ รายได้จากดอกเบี้ย ฯลฯ แต่… รายได้ ≠รายจ่าย !!
อย่าลืมว่า คุณยังจำเป็นจะต้องมี “รายจ่าย” ด้านอื่นๆ อย่างเช่น รายจ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะ เมื่อเกษียณแล้ว คุณจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่มีสวัสดิการของบริษัทดูแลเหมือนเดิม … และยิ่งหากมีรายจ่ายอื่นๆ ที่ไม่คาดฝันเพิ่มเข้ามาอีก คำถามคือ วัยเกษียณของคุณจะมีเงินเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตจริงหรือ ?
ทิสโก้กับบทบาทการส่งเสริม Holistic Financial Advisory
จากการเข้าสู่ยุค Aging Society บวกกับสภาวะและปัจจัยต่างๆ ในปัจจุบันเปลี่ยนไป ทำให้ความต้องการของลูกค้าเริ่มเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม Wealth ดังนั้น จึงทำให้ยุทธศาสตร์ใน “การวางแผนการเงิน” ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามโจทย์ใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 3 ความต้องการหลัก คือ
1.ความต้องการด้านการลงทุน (Investment Return) ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มทิสโก้ดำเนินธุรกิจมาตลอด โดยเฉพาะการให้คำแนะนำด้านการลงทุนเมกะเทรนด์ ที่จะเติบโตอย่างโดดเด่นในอนาคต
2.ความต้องการความคุ้มครองทางด้านชีวิตและสุขภาพ (Life Protection / Health Protection) ที่ไม่ปฏิเสธการต่ออายุ
3.ความต้องการความคุ้มครองด้านคุณภาพชีวิตตลอดหลังการเกษียณ (Retirement Protection)
ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ “การวางแผนการเงิน” ทันต่อกระแสเมกะเทรนด์โลกที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การผลตอบแทนการลงทุนอาจไม่เพียงพอ หากต้องการใช้ชีวิต มีไลฟ์สไตล์หลังเกษียณที่ดี ไม่น้อยไปกว่าชีวิตวัยทำงาน
พันธกิจ Holistic Financial Advisory ของทิสโก้ เพื่อให้บริการครบวงจร (One-stop Service) โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง จึงเป็นการวางแผนทางการเงิน ที่ทิสโก้มุ่งมั่นที่จะเดินหน้า และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นนับจากนี้
===================================
บทความโดย
นางวรสินี เศรษฐบุตร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์กองทุน และสื่อสารการตลาด สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)