ท่ามกลางการกลับมาของนโยบาย Trump 2.0 ปี 2025 ถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสำหรับนักลงทุน โดยนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ประกาศไว้ระหว่างการหาเสียงที่โดยเน้นไปที่การลดภาษีนิติบุคคลและการขึ้นภาษีนำเข้า อาจนำไปสู่การยกระดับความตึงเครียดในสงครามการค้า ขณะเดียวกัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2024 ยังคงส่งผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินในวงกว้าง เพื่อตอบสนองต่อความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราได้กำหนด กลยุทธ์การลงทุนในปี 2025 ไว้ใน 3 แนวทางสำคัญ เพื่อสร้างโอกาสและเสริมความมั่นคงของพอร์ตการลงทุนในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ดังนี้
1. America First : ในสมัยที่ 2 ของประธานาธิบดีทรัมป์ นโยบายเศรษฐกิจที่โดดเด่นยังคงเน้นไปที่การลดภาษีนิติบุคคล โดยตั้งเป้าปรับลดจาก 21% เหลือ 15% ซึ่งเราประเมินว่า ทุกการลดภาษี 1% จะช่วยเพิ่มกำไรบริษัทจดทะเบียนเกือบ 1% ส่งผลให้กำไรของบริษัทในดัชนี S&P 500 เติบโตราว 4% ในปี 2025 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) ที่คาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นราว 7% และกลุ่มบริการด้านการสื่อสาร (Communication Services) รวมถึง กลุ่มการเงิน (Financials) ที่ราว 5%
2. Domestic-Oriented Growth : นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ตั้งเป้าขึ้นภาษีนำเข้า 60% สำหรับจีน และ 10% สำหรับประเทศอื่น อาจส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่น, อินเดีย และ เวียดนาม เป็นสามประเทศที่มีปัจจัยเฉพาะตัวที่สนับสนุนการเติบโตทั้งในด้านเศรษฐกิจและตลาดหุ้น รวมถึงมีการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่วยให้สามารถต้านทานผลกระทบจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ได้
ญี่ปุ่น : ฟื้นตัวจากเงินฝืดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใน
● รัฐบาลญี่ปุ่นใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เช่น การลดภาษี, ขึ้นค่าจ้าง และช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำ ส่งผลให้การบริโภคเพิ่มขึ้น
● เงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวเกิน 2% ตามเป้าหมายของ BOJ และ GDP คาดเติบโตราว 1.1% ในปี 2025
อินเดีย : เติบโตโดดเด่นด้วยการบริโภคและการลงทุน
● เศรษฐกิจอินเดียคาดขยายตัวสูงถึง 6.9% ในปี 2025 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก
● ภาคการบริโภคที่คิดเป็น 60% ของ GDP เพิ่มขึ้นถึง 7.4% ของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน
● นโยบายดึงดูดการลงทุน เช่น สิทธิประโยชน์ด้านภาษี กับบริษัทต่างชาติ อาจส่งผลให้กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตได้ถึง 15%
เวียดนาม: โอกาสทองจากการเปลี่ยนฐานการผลิต
● แม้เวียดนามมีตัวเลขเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง แต่ได้รับประโยชน์จาก การโยกย้ายฐานการผลิต ด้วยต้นทุนแรงงานต่ำและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี
● ในปัจจุบันเวียดนามมี FTA ทั้งหมด 16 ฉบับ เช่น EVFTA CPTPP และ BTA ทำให้ลดผลกระทบจากการเก็บภาษีได้
● กำไรบริษัทจดทะเบียนคาดเติบโตสูงถึง 18% ในปี 2025 พร้อมโอกาสเลื่อนสถานะตลาดหุ้นจาก Frontier Market สู่ Emerging Market ซึ่งอาจดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น
3. Asset Shield : สินทรัพย์ที่ช่วยปกป้องจากความผันผวนและได้รับประโยชน์ในช่วงที่ Bond Yield ปรับตัวลง โดยในปีหน้าคาดว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่อาจลดลงราว 0.50 bps อย่างไรก็ตามทาง TISCO Economic Strategy Unit (TISCOESU) คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) 10 ปี จะอยู่ที่ราว 4.5% โดยมีปัจจัยหนุนจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากสงครามการค้าและนโยบายการคลังขาดดุลงบประมาณ อย่างไรก็ตาม Bond Yield ระยะสั้นจะลดลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้เกิดสภาวะ “Bear Steepening” ที่ผลตอบแทนระยะสั้นและระยะยาวแตกต่างกันมากขึ้น ซึ่งกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยและป้องป้องความผันผวนมี ดังนี้
Bond : เน้นที่ตราสารหนี้ระยะสั้นถึงกลาง ที่ได้รับประโยชน์จากการที่ Bond Yield ปรับตัวลดลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ราคาตราสารหนี้ในกลุ่มนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
REITs : จากต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลงจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนใน Global REITs โดยเฉพาะในกลุ่ม Specialty, Data Centers และ Industrial เติบโตดี โดยคาดกำไรจะเพิ่มขึ้น 10.7%, 9.2% และ 8.39% ตามลำดับ ในขณะที่ Asia Pacific ex Japan มีการเติบโตของกำไรสูงถึง 9.5% และ ราคายังมีมูลค่าถูกที่สุดในรอบ 10 ปี
ทองคำ : คาดว่าราคาทองคำในปี 2025 จะอยู่ในกรอบ $2,500-$3,000/oz จากนโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลให้หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังเช่นในสมัยแรกที่ดำรงตำแหน่งหนี้สาธารณะพุ่งสูงถึง 39% ในระยะเวลาเพียง 4 ปี การเพิ่มขึ้นของหนี้ส่งผลโดยตรงต่อราคาทองคำ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มปริมาณหนี้ ด้วยความสัมพันธ์ที่สูงมากถึง Correlation Coefficient = 0.9
กลยุทธ์การลงทุนในปี 2025 จึงมุ่งเน้นการก้าวข้ามกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดยเน้นการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย, กลุ่มบริการด้านการสื่อสาร, และ กลุ่มการเงิน พร้อมกับเลือกลงทุนในประเทศที่มีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว อย่างนโยบายกระตุ้นการบริโภคและสิทธิประโยชน์ด้านภาษี เพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้าของสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่น, อินเดีย, และ เวียดนาม นอกจากนี้ ยังเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ช่วยปกป้องจากความผันผวน เช่น ตราสารหนี้ระยะสั้นถึงกลาง ที่ได้รับประโยชน์จากการที่ Bond Yield ปรับตัวลดลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย และ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน Global REITs ที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีในปีหน้า โดยที่ ทองคำ ยังคงเป็นโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่งในปี 2025
บทความโดย จตุรพร ระวิงทอง AFPT™
Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้