“Power Walking” แค่เดินเร็ว แกว่งแขน ก็เพิ่มออกซิเจน พร้อมเบิร์นแคลอรีได้

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 58 | คอลัมน์ Exclusive Sport

1 8

การเดินออกกำลังกาย หรือ Power  Walking ถูกยกให้เป็นทางเลือกเสียเหงื่อที่ไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์มากมาย และมีความปลอดภัยสูงเมื่อเทียบกับกีฬาชนิดอื่น ที่สำคัญยังช่วยลดภาวะโรคต่างๆ มากมาย ขอเพียงทำอย่างถูกวิธี และทำต่อเนื่องอย่างน้อยวันละ 30 นาที และยิ่งผลสำรวจล่าสุดของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่บอกว่าคนวัยทำงานมากถึง 43.6% โหวตให้การเดินเร็วช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ยิ่งตอกย้ำถึงความนิยมของการออกกำลังกายประเภทนี้

รู้จัก “Power Walking”

การเดินเร็ว (Speed Walking) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ 1.การเดินเร็วในรูปแบบของการแข่งขันกีฬา (Racewalking, Olympic-style Racewalking) ที่ต้องใช้ทักษะและเทคนิคการเดินเร็วที่มากกว่าปกติ และ 2.การเดินเร็วโดยใช้กำลังร่างกาย (Power Walking) ที่จัดว่าเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอในหมวดแรงกระแทกต่ำ ซึ่งเป็นการเดินในจังหวะที่เร็วกว่าการเดินปกติ ด้วยความเร็ว 15 นาทีต่อไมล์ (1.6 กม.) หรือในระดับที่ยังพูดคุยได้ (แต่ร้องเพลงไม่ได้) ซึ่งถือว่าเป็นระดับการเดินเร็วที่ดีที่สุด และในขณะก้าวต้องแกว่งแขนไปมา โดยมีเทคนิคสำคัญอยู่ที่การงอแขนและการเคลื่อนไหวของแขนให้สัมพันธ์กับการก้าวขา เพื่อสร้างความเร็วได้อย่างเหมาะสม จนสามารถเพิ่มความเร็วมากขึ้นหรือทำเวลาได้ดีขึ้น 

สตาร์ทให้ถูกวิธี ก่อนติดความเร็ว

สำหรับนักเดินมือใหม่ ควรเริ่มต้นด้วยการจัดท่าทาง ทั้งลำตัว แขน และลักษณะการวางเท้าให้ถูกต้องก่อน โดยระยะก้าวเดินจะต้องสัมพันธ์กับการตั้งลำตัวให้ตรง ทุกครั้งที่ก้าวขาห่างกันประมาณ 0.5 เมตร ลำตัวจะต้องตั้งฉากกับพื้น และไม่ควรโน้มตัวเอนไปข้างหน้ามากเกินไป เพราะจะทำให้เข่าขาข้างหน้ารับน้ำหนักตัวทั้งหมด ซึ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่หัวเข่า หรือหากเอนตัวไปด้านหลังมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างที่ต้องรับน้ำหนักทั้งหมดได้

Step 1: ยืดตัวตรง ปล่อยไหล่สบายๆ ก้าวเท้าข้างหนึ่งไปข้างหน้า ลงน้ำหนักที่ส้นเท้า แขนขนานกับพื้น วางศอกจนเกือบเป็นมุมฉากให้อยู่ตรงช่วงเอว กำมือพอหลวมๆ

Step 2: เริ่มเดินโดยการยกส้นเท้าขาหลังขึ้นเหนือพื้น ค่อยลดระดับปลายเท้าขาหน้าลงแตะพื้น แกว่งแขนสลับกันโดยให้แขนข้างหนึ่งไปด้านหน้า อีกข้างไปด้านหลัง
และแกว่งให้ตรงข้ามกับขาที่ก้าว ถ้าเท้าซ้ายก้าวไปข้างหน้า ให้แกว่งแขนขวาไปข้างหน้า (การแกว่งแขนสัมพันธ์กับการก้าวขา ถ้าแกว่งแขนช้า ขาก็จะก้าวช้า แต่เมื่อแกว่งแขนเร็วขึ้น ขาก็จะก้าวเร็วขึ้นแบบอัตโนมัติ)

Step 3: ลงน้ำหนักเท้าที่อยู่ข้างหน้าให้เต็มเท้า ขณะเดียวกันก็ยกส้นเท้าด้านหลังขึ้น โดยลงน้ำหนักที่ปลายเท้า เพื่อเตรียมพร้อมที่จะดันตัวไปข้างหน้า แกว่งแขนพร้อมเกร็งหน้าท้อง และทรงตัวให้ตรง (การวางเท้าลงพื้นจะแตกต่างจากการวางเท้าวิ่ง คือ เท้าข้างหนึ่งจะต้องเหยียบพื้นตลอด เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวผลักให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า)

Step 4: ยกขาหลังขึ้นเพื่อก้าวไปข้างหน้า ปลายเท้าควรอยู่ใกล้พื้นเท่าที่จะทำได้ แล้ววางเท้าเหมือน Step ที่ 1 โดยขาที่ก้าวไปข้างหน้าจะต้องงอ และขาอีกข้างจะต้องตรง แกว่งแขนเพื่อสลับข้าง พร้อมบิดสะโพกตามการเคลื่อนไหว

นอกจากท่วงท่าที่ดีแล้ว สิ่งที่ต้องทำทุกครั้งคือ การอบอุ่นร่างกาย ยืดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังการเดินทุกครั้ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บ หากมีอาการแข้งขาตึงไปบ้าง อย่าเพิ่งกังวลใจ เพราะเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ที่ฝึก แต่เมื่อฝึกจนกล้ามเนื้อทนทานได้ดีแล้ว ความรู้สึกตึงก็จะค่อยๆ หายไป แต่หากเจ็บที่หน้าแข้ง อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า อาจมีการวางเท้าหรือจัดท่วงท่าที่ไม่เหมาะสม

2 5 scaled

Power Walk ดีต่อใจ ดีต่อกาย

อย่างที่รู้กันดีว่า การออกกำลังกายช่วยในเรื่องของการเผาผลาญไขมัน การเดินเร็วก็เช่นกัน ซึ่งการเดินเร็วปกติ 30 นาที จะสามารถเผาผลาญแคลอรีได้เฉลี่ย 300 – 400 แคลอรี และการเดินเร็วไม่ได้มีดีแค่นี้ เพราะยังช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีด ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า การเดินเร็วสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้ถึง 35% และถ้าเพิ่มเวลาในการเดินเร็วเป็น 5 ชั่วโมง จะลดความเสี่ยงได้ถึง 40% รวมไปถึงความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อที่พบได้บ่อยอย่างโรคเบาหวาน โรคความดัน และโรคอ้วน ทั้งยังลดความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูกพรุนลงได้ 30% แถมยังช่วยให้ระบบการย่อยอาหารและการขับถ่ายดีขึ้น จึงช่วยลดโอกาสที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 31% หากเดินเร็ว 10-15 นาทีต่อวัน

การเดินเร็วนอกจากจะดีต่อร่างกายแล้ว ยังดีต่อจิตใจด้วย เพราะหลังจากการเดินเร็วอย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะหลั่งสารเคมีแห่งความสุขอย่าง “เอ็นดอร์ฟิน” และ “เซโรโทนิน”ออกมา ซึ่งช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ อาทิ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือผู้มีภาวะโรคหัวใจ ผู้ที่มีน้ำหนักมากและมีปัญหาข้อเข่า ผู้ที่มีปัญหาเจ็บข้อเท้าหรือเป็นรองช้ำ อาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการออกกำลังกาย

ไอเทมคู่ใจสายเดิน

รองเท้า: ควรใช้รองเท้าที่ออกแบบมาเพื่อการเดินโดยเฉพาะ เพราะจะมีความยืดหยุ่นน้ำหนักเบา ซึ่งจะช่วยในการสร้างความเร็วและทำให้เท้าเคลื่อนไหวได้อย่างเหมาะสม และจะสามารถดูดซับแรงกระแทกในส่วนของส้นเท้าได้มากกว่า เพื่อช่วยในการถนอมข้อต่อระหว่างที่ลงน้ำหนักที่ส้นเท้า

ชุดใส่เดิน: ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีความยืดหยุ่น ไม่รั้งตรงสะโพกและขา ไม่เล็กและรัดรูปร่าง ซึ่งนักเดินอาจใช้เทคนิคใส่เสื้อผ้าหลายชั้นเพื่อเรียกเหงื่อให้เร็วขึ้น จากนั้นค่อยทยอยถอดออกเมื่ออุณหภูมิร่างกายเริ่มร้อน และหากเดินตอนกลางคืน ควรเลือกเสื้อผ้าที่สะท้อนแสง เพื่อให้มองเห็นได้แต่ไกล

Smart Watch: ควรมีฟีเจอร์ที่จำเป็น อาทิ

• Heart Rate สามารถตั้งระบบ Heart Censor เพื่อช่วยลดความกังวลของนักเดินที่มีปัญหาหัวใจผิดปกติได้ ซึ่งระดับการเต้นของหัวใจควรอยู่ในอัตรา 50-60% ของ Maximum Heart Rate

• ฟีเจอร์นับก้าวพื้นฐาน เพื่อใช้เทียบระยะทางและเวลาที่ใช้ไปในครั้งก่อน สำหรับดูพัฒนาการในการเดินเร็ว เช่น เดินเร็ว 1 ชั่วโมง ใช้ระยะทาง 6 กม. นับก้าวได้ 9,000 ก้าว ครั้งต่อไปหากใช้เวลาเท่าเดิม ควรเดินได้ระยะจำนวนก้าวมากกว่า หรือคงสถิติเดิมไว้แต่ลดเวลาลงมาก็ได้เช่นกัน

• ฟีเจอร์บอกระดับแคลอรีระหว่างการเดิน ซึ่งการเบิร์นจะขึ้นอยู่กับระดับความเร็ว การแกว่งแขน ระยะทาง ความชัน และน้ำหนักตัวของนักเดิน 

3 4
4 4

ข้อมูลอ้างอิง: www.verywellfit.com, www.healthline.com, www.fitterminal.com, www.khelang.co.th และ www.si.mahidol.ac.th

Scroll to Top
ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น และนำเสนอโฆษณาที่เกี่ยวข้องและตรงกับความสนใจของท่าน โดยท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก นโยบายการใช้คุกกี้ กรุณากดยอมรับเพื่อยินยอมให้เราใช้คุกกี้

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็น

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า