ธนาคารจิตอาสา หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง สู่การค้นพบตัวเอง และความสุขที่ยั่งยืน

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 58 | คอลัมน์ Giving

1 scaled

คำว่า “อาสา” ในภาษาบาลี แปลว่า “ความหวัง” และมนุษย์ทุกคนต่างล้วนมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีงามอยู่ภายในจิตใจ เราทุกคนต่างอยากที่จะทำเรื่องดีๆ อยากที่จะเป็นที่รัก และอยากมีคุณค่าในตัวเอง หรือค้นพบความหมายในชีวิตตัวเอง ซึ่งหนึ่งในวิธีเข้าถึงความสุขในแบบนั้นได้ ก็คือการทำอะไรเพื่อผู้อื่น ดังนั้น จึงทำให้ผู้คนมากมายอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานจิตอาสา ด้วยความหวังและความเชื่อที่ว่า “เวลา” และ “ปัญญา” ของเขาจะสร้างการเปลี่ยนแปลงและช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้ริเริ่มและผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา ให้มุมมองอันลึกซึ้งถึงงานจิตอาสาที่ได้ดำเนินการมากว่า 10 ปี

“ธนาคารจิตอาสา” คือ จุดนัดพบกันระหว่างองค์กรอาสาและอาสาสมัครที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความต้องการสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมและโลกใบนี้ โดยมีแพลตฟอร์ม Matching Online เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงคนทั้งสองกลุ่มให้มาพบเจอกันได้ตามความถนัดและความสนใจ ในช่วงเวลาที่ตรงกัน ตั้งแต่แพลตฟอร์มธนาคารจิตอาสาได้กำเนิดขึ้น ก็มีผู้คนให้ความสนใจและเข้าร่วมสมัครเป็นจิตอาสาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันธนาคารจิตอาสามีกองทัพอาสาสมัครที่อยู่ในระบบกว่า 112,953 คน มียอดฝากเวลากว่า 8,587,262 ชั่วโมง และมีงานอาสาให้เลือกแล้วกว่า 3,711 งาน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ต.ค. 2564) 

งานอาสาคืองานพัฒนาจิต

ดร.สรยุทธเล่าว่า แท้จริงแล้วธนาคารจิตอาสาเป็นเพียงหนึ่งใน 8 เส้นทางหลักเพื่อก้าวสู่เป้าหมายในการสร้าง “สุขภาวะทางปัญญา” ที่เขาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยการมุ่งสร้างองค์ความรู้ให้สังคมไทยสามารถค้นพบสุขภาวะหรือการมีชีวิตที่ดีงามจากภายใน นั่นคือการรู้จักเข้าใจตัวเอง เข้าใจธรรมชาติ เห็นคุณค่าและความหมายของชีวิต ซึ่งถือเป็นความสุขอันประณีตที่เกิดขึ้นได้เองโดยไม่ต้องซื้อหาหรือออกไปไขว่คว้า 

“งานอาสา คืองานพัฒนาจิต และทุกคนที่เข้ามา คือคนที่ตั้งใจจะมาเปลี่ยนแปลงโลกผ่านการเปลี่ยนแปลงตัวเอง” นี่คือหัวใจหลักและความเชื่อของผู้คนที่อยู่ในเครือข่ายธนาคารจิตอาสา ดังนั้น เป้าหมายของการทำงานธนาคารจิตอาสาที่ ดร.สรยุทธ ต้องการชี้ให้เห็นจึงมิได้หมายถึงการเพิ่มจำนวนตัวเลขอาสาสมัครหรือจำนวนชั่วโมงที่ฝากเข้ามา หรือการพัฒนาตัวเองไปเป็นแพลตฟอร์มที่ยิ่งใหญ่ หรือมีประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการอาสาสมัครของทั้งประเทศได้ แต่ธนาคารจิตอาสาจะมุ่งเน้นการสร้างงานที่มีคุณภาพ นั่นคือ งานด้านการพัฒนาจิต ที่จะสร้างการเติบโตจากภายใน หรือจิตวิญญาณให้กับผู้ที่เข้ามาทำงานในแพลตฟอร์มนี้ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครหรือองค์กรอาสา

โดยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกองค์กรอาสา จะต้องเป็นองค์กรที่เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทางสังคมและต้องได้รับการแก้ไข มุ่งเน้น “การพัฒนาคน” มากกว่าการเข้ามาเพื่อหารายได้ หรือเพื่อโฆษณาองค์กรในเชิงของ CSR โดยธนาคารจิตอาสาจะเข้ามาช่วยอบรมให้องค์กรอาสาเหล่านี้สามารถจัดงานได้อย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น รวมถึงมีพื้นที่สำหรับการถอดบทเรียนในช่วงท้ายกิจกรรม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและสะท้อนตัวตนกันมากขึ้น พร้อมให้ทั้งสองฝั่งได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับไปทั้งประสบการณ์ที่ดีกับตัวเอง กับงานจิตอาสา และกับโลกใบนี้ อีกทั้งยังได้ถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง เปิดใจ และเปิดโลกทัศน์ตัวเองด้วย

“ฟัง” เพื่อเข้าใจตัวเองและเปลี่ยนแปลงโลก

ทักษะสำคัญที่ธนาคารจิตอาสาจะต้องถ่ายทอดให้กับองค์กรอาสา เพื่อนำไปขยายผลให้กับผู้ที่เข้ามาเป็นอาสาสมัคร คือ Self-awareness และ Self-reflection ที่จะนำไปสู่การพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะการสังเกตสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองในขณะที่ทำงานนั้นๆ และได้มองเห็นความทุกข์ ความดีงามของผู้อื่น โดยกระบวนการที่เกิดขึ้นควบคู่กันนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ชีวิต นั่นคือความรู้เกี่ยวกับตัวเอง ความรู้เกี่ยวกับผู้อื่น รวมถึงความรู้ในปัญหาที่ได้เข้าไปช่วยแก้ไข

222 1 scaled

“คนเราเมื่อได้ทำงานที่ตัวเองมี Passionจะพาตัวเองไปสู่ภาวะที่ไม่ใช่ภาวะปกติในชีวิต เช่น ผู้บริหารที่เป็นผู้สั่งงานผู้อื่นมาโดยตลอด จะได้ลองมาเป็นผู้ออกแรงในการแบกหามตามคำสั่งของผู้อื่นหรือผู้ที่อายุน้อยกว่า ซึ่งในสภาวะแบบนี้จัดได้ว่าเป็นสภาวะที่เหมาะสมต่อการได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจตัวเอง ได้เห็นความเป็นไปใหม่ๆ ในชีวิตและถอดถอนความเป็นตัวตนของเราออกมาได้ สิ่งนี้คืองานที่ธนาคารจิตอาสาพยายามฝึกให้ทุกคนในกระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น คนในองค์กรอาสา หรืออาสาสมัครที่มาร่วมกิจกรรม ทุกคนต้องสร้างความรู้ด้วยตัวเองให้เป็นและเติบโตไปด้วยกัน”

พื้นฐานของการสร้างทักษะ Self-aware-ness และ Self-reflection อยู่ที่ “การฟัง” ดร.สรยุทธ ย้ำว่า “การฟัง” เป็นประตูสู่ความสัมพันธ์ที่ดี นำไปสู่การรู้จักตัวเอง และการเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะการฟังในที่นี้ไม่ใช่แค่การฟังเสียงจากคนรอบข้างเท่านั้น แต่เป็นการฟังเสียงจากภายในตัวเราเองด้วย เพื่อให้เราได้รู้จักยอมรับและเข้าใจตัวเอง จึงจะสามารถพาตัวเองออกจากทุกข์นั้นๆ ได้ จริงอยู่ว่าไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก แต่หากไปถึงจุดที่เราสามารถฟังตัวเอง เข้าไปรู้จัก เข้าใจและยอมรับตัวเองได้แล้วนั้น ในเวลาที่มีทุกข์เราจะพบว่าการที่เราไม่ค่อยมีพลังในตัวเองก็จะหายไป เราจะค้นพบแรงบันดาลใจใหม่ๆ พบพลัง และพาตัวเองไปเป็น ไปทำ ไปมี ในสิ่งที่เราไม่เคยเป็น ไม่เคยมี ไม่เคยทำได้ รวมถึงทุกปัญหาในชีวิตเราจะคลี่คลายและปัญหาความสัมพันธ์ทั้งหมดในชีวิตก็จะหายไป 

“การฟังที่ดีไม่ใช่แค่การฟังเพื่อยอมรับผู้อื่น มันเหมือนมือซ้ายกับมือขวา ถ้าเรายอมรับผู้อื่น ก็เหมือนแขนขวาเราดีขึ้นถนัดขึ้น แต่แขนเดียวอาจจะทำอะไรไม่ได้มาก มันก็ต้องมีแขนซ้ายด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม คือ เราไม่ค่อยรู้จักตัวเอง เวลาเรามีความทุกข์ไม่จำเป็นต้องเลี่ยงไปเปิด Netflix ไปชอปปิง เพื่อเปลี่ยนอารมณ์ หากเราสามารถเข้าไปดูแลรากเหง้าปัญหาของความทุกข์นั้นๆ ได้โดยตรง ดังนั้น เมื่อเห็นว่างานอาสาคือการขัดเกลาตัวเอง ทำให้ตัวเองและโลกดีขึ้นแล้ว “การฟัง” ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย เพราะหากไม่ฟังตัวเองและไม่ฟังผู้อื่น การเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้” นี่คือความมหัศจรรย์ของการฟังที่ ดร.สรยุทธได้ขยายความ

333

เพราะการฟังเป็นประตูสู่ความสัมพันธ์ที่ดี กระบวนการเหล่านี้จึงจำเป็นต้องขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชุดงานที่เกิดขึ้นมาก จึงเป็นเรื่องของการฟัง เช่น การมีอาสารับฟัง และการจัดงานอาสา “ฟังสร้างสุข”เพื่อสร้างผู้คนให้มีคุณภาพการฟังที่ดีขึ้น และมีการจัดไปแล้วร่วม 200 ครั้ง แต่ละครั้งก็ได้รับการตอบรับที่ดีและมีผู้ผ่านการเข้าร่วมคอร์สรับการฝึกฟังไปกว่าหลายพันคนแล้ว และแม้จะมีงานอาสาเกิดขึ้นมากมายตลอดช่วง 10 ปี แต่งานที่ ดร.สรยุทธ เอ่ยถึง เพื่อตอบคำถามถึงงานที่ประทับใจ ก็คือ งานของกลุ่ม I SEE U องค์กรอาสาที่เชื่อในความมหัศจรรย์ของสุขภาวะทางปัญญา ที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะหรือจังหวะไหนของชีวิต ก็สามารถมีสุขภาวะทางจิตที่ดีได้ กลุ่ม I SEE U จึงสนใจว่า จะทำอย่างไรให้คนมีบทสุดท้ายของชีวิตที่ดีงาม เกื้อกูลกับทั้งคนที่กำลังจะเปลี่ยนภพภูมิและลูกหลานที่จะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป ได้มีบทสุดท้ายที่ดีร่วมกัน 

จากจุดเริ่มต้นของกลุ่ม I SEE U ที่ไม่รู้จะหาแนวร่วมจากไหน และจะฝึกอาสาสมัครอย่างไร หลังจากที่ได้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของธนาคารจิตอาสา ก็ได้เรียนรู้การจัดกระบวนการฝึกอาสาสมัครให้อยู่กับตัวเองเป็น นิ่ง สงบ มั่นคงพอที่จะช่วยดูแลทุกคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ ปัจจุบันกลุ่ม I SEE U ก็ค่อยๆ เติบโตจนมีสมาชิกรวมแล้วกว่า 300 คน

สำหรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ได้สร้างความไม่ปกติสุขให้โลกใบนี้ เช่นเดียวกัน ธนาคารจิตอาสา ก็หลีกไม่พ้นแรงกระเพื่อมนี้ งานอาสาที่เคยออกไปเจอหน้าและลงมือทำ ก็เกิดขึ้นได้ยากลำบากขึ้น องค์กรอาสาเองก็ต้องคิดเชิงสร้างสรรค์ (Think Creatively) มากขึ้น เขาเล่าว่าแม้งานอาสาออนไลน์ยังไม่ “ปัง” เท่าที่ควร แต่ในอีกมุมหนึ่งเรากลับได้เห็นภาพสะท้อนว่าผู้คนในสังคมไทยโหยหาความสุขกันมากขึ้น ผ่านการจัดคอร์ส “Resilience คุณสมบัติในการฟื้นคืน” เพื่อฟื้นฟูพลังใจในภาวะวิกฤต โดยธนาคารจิตอาสาได้จัดให้กับบุคลากรในแวดวงด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังรับภาระหนักและไม่คิดว่าจะมีเวลาเข้าอบรม แต่คอร์สดังกล่าวกลับได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม และมีผู้สมัครพันกว่าคน

44

ขณะเดียวกันยังมีงานอาสากลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อตอบรับกับสถานการณ์วิกฤต เช่น กลุ่มอาสา “เส้นด้าย” ที่เชื่อว่างานจะสำเร็จต้องอาศัยความรู้และทักษะหลายด้าน รวมถึงความรู้เรื่องการสื่อสาร เช่น “สุนทรียสนทนา” (Dialogue) เพราะเนื้องานของกลุ่มอาสาเส้นด้ายส่วนหนึ่งเป็นการขับเคลื่อนด้วยการฟังเสียงและความต้องการจากผู้มีความทุกข์ โดยธนาคารจิตอาสาและเครือข่ายได้เข้าไปช่วยในกระบวนการถอดบทเรียนให้กับอาสาเส้นด้ายบางส่วน ให้ได้เกิดความภูมิใจในงานที่ทำ เข้าใจตนเอง และลดโอกาสการ Burn Out จากการที่ต้องรับฟังความต้องการความช่วยเหลือและเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์ที่มีเข้ามาหลายพันสายต่อวัน 

55
66 scaled

เมล็ดพันธุ์แห่งความสุข เริ่มหว่านกระจาย

อีกหนึ่งแก่นของงานอาสา คือ “จะทำอย่างไรให้ชีวิตเขาดีขึ้นเมื่อมาเจอเรา” ดร.สรยุทธ ระบุว่า เมื่องานอาสาคือความหวัง การที่พวกเขา เข้ามาในเครือข่ายธนาคารจิตอาสา นั่นคือโอกาสที่เขาจะได้รับการเปลี่ยนแปลง ได้รู้จักตัวเอง เข้าถึงความสุขได้โดยไม่ต้องใช้เงินทอง ซึ่งความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ หลังจากที่เขาได้ทำโครงการ Empowerment ด้วยการส่งทีมวิจัยเข้าไปติดตามผู้ที่มาเข้ามาอยู่ในเครือข่ายธนาคารจิตอาสาตลอดช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า งานอาสาช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้น และไม่เคยคิดว่าชีวิตจะเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้ ทั้งยังสามารถทำงานต่างๆ ได้ดี ด้วยความเชื่อจากภายใน จนทำให้ชีวิตมีพลังและนำมาซึ่งความสุข และเมื่อสังคมได้เห็นคนในเครือข่ายหรือผู้ที่ผ่านโครงการของธนาคารจิตอาสาออกไปมีชีวิตที่ดี และมีความสุข จึงทำให้มีผู้สนใจและสมัครเข้ามาสู่ระบบธนาคารจิตอาสาเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

คำว่า “ธนาคาร” ในบริบททั่วไป เราคงคิดถึงการนำเงินไปฝาก แล้วได้ผลตอบแทนเป็นรูปดอกเบี้ย แต่สำหรับ “ธนาคารจิตอาสา” ดอกผลที่งอกเงยกลับไม่ได้อยู่ในรูปของตัวเลขเม็ดเงิน หากแต่เป็นความสุขในจิตใจของ “ผู้ให้” และ “ผู้ได้รับ” ที่ประเมินค่ามิได้ ที่สำคัญดอกผลเหล่านี้ กำลังทำหน้าที่กระจายเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขที่ยั่งยืนออกไปสู่สังคมไทย   

“ธนาคารจิตอาสา” คือ จุดนัดพบกันระหว่างองค์กรอาสาและอาสาสมัครที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความต้องการที่จะสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมและโลกใบนี้ โดยมีแพลตฟอร์ม Matching Online เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงคนทั้งสองกลุ่ม ให้มาพบเจอกันได้ตามความถนัดและความสนใจ ในช่วงเวลาที่ตรงกัน”

Scroll to Top
ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น และนำเสนอโฆษณาที่เกี่ยวข้องและตรงกับความสนใจของท่าน โดยท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก นโยบายการใช้คุกกี้ กรุณากดยอมรับเพื่อยินยอมให้เราใช้คุกกี้

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็น

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า