ความหวังของผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาไม่หาย พลังจากโครงการ Fighting Cancer สู่ “กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ”
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 64 | คอลัมน์ Giving
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้คนทั่วโลก และยังคร่าชีวิตคนไทยอันดับหนึ่งมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ที่สำคัญยังพบผู้ป่วยรายใหม่ในอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทว่าข่าวดีคือ เมื่อไม่นานมานี้ มีการค้นพบนวัตกรรมการรักษามะเร็งด้วยระบบภูมิคุ้มกันตนเอง ที่เรียกว่า ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ที่จุดประกายความหวังในการเอาชนะโรคร้ายที่ไม่ใช่เพียงแค่ทางรอด แต่ยังคืนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้ป่วยในราคาที่จับต้องได้ ด้วยฝีมือการวิจัยและพัฒนาของบุคลากรทางการแพทย์ไทยเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ
วันนี้นิตยสาร TRUST มีโอกาสสัมภาษณ์ อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้มาบอกเล่าเรื่องราวความก้าวหน้านวัตกรรมเซลล์บำบัดมะเร็ง (Chimeric Antigen Receptor T Cell หรือ CAR T Cell) โอกาสใหม่เพื่อคนไทยโดยเฉพาะ
นวัตกรรมเซลล์บำบัดมะเร็ง CAR T Cell สู่ความสำเร็จเพื่อผู้ป่วยมะเร็งชาวไทย
“โดยทั่วไปแล้วการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด มีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่ การใช้เซลล์บำบัดมะเร็ง (CAR T Cell) วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล (Neoantigen and Cancer Vaccine) และการรักษาแบบการใช้ยาแอนติบอดีต้านมะเร็ง (Anti-PD-1) โดยวันนี้ การใช้เซลล์บำบัดมะเร็ง (CAR T Cell) ซึ่งเป็นการรักษาที่ถูกเรียกว่าเปลี่ยนโลกของการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้น กำลังรุดหน้าไปสู่การวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยจริงของหน่วยวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เรียบร้อยแล้ว
“CAR T Cell เป็นวิธีการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดรูปแบบหนึ่ง โดยการนำเอาเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ของผู้ป่วยมาดัดแปลงพันธุกรรมให้จำเพาะกับเซลล์มะเร็ง และเพิ่มจำนวนให้มากพอภายนอกร่างกาย ซึ่งจะทำในห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษ จากนั้นจะฉีดกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งนวัตกรรม CAR T Cell นี้ มีประสิทธิภาพสูงถึง 50 – 80% สำหรับการรักษามะเร็งทางระบบเลือดในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ แล้ว ทำให้นวัตกรรมนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับโรคมะเร็งทางระบบเลือดแล้วทั้งในอเมริกาและยุโรป”
สำหรับศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มดำเนินการวิจัยการใช้เซลล์บำบัดมะเร็งทางคลินิกมาตั้งแต่ปี 2563 โดยสามารถผลิต CAR T Cell จากคนไข้ได้ตามมาตรฐานสากลให้กับผู้ป่วยไปแล้ว 5 คน ทั้งหมดมีการตอบสนองที่ดี มีความปลอดภัยเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ CAR T Cell ของต่างประเทศ โดยทั้งโครงการจะต้องวิจัยกับผู้ป่วยจำนวนอย่างน้อย 12 คน ก่อนจะสามารถสรุปความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการรักษานี้ได้
“หลังทำการวิจัยในคลินิกเสร็จสิ้น จากนั้นจะเริ่มให้บริการได้ในรูปแบบของการผลิตเซลล์เพื่อให้บริการภายในโรงพยาบาลเองก่อน คาดการณ์และตั้งเป้าหมายว่าโครงการวิจัยนี้จะทำให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2566 นี้” อ.นพ.กรมิษฐ์เล่าถึงความรุดหน้าการพัฒนาการรักษาแห่งโลกอนาคตนี้ พร้อมด้วยข่าวดีที่ว่าความก้าวหน้าของโครงการนำร่องดังกล่าวนี้ เกินความคาดหมายของทีมวิจัยไปมาก
“ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ทำการวิจัยทั้ง 5 คน หลังได้รับเซลล์ผ่านไป 1 เดือน เราพบผลข้างเคียงในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ทุกคนตอบสนองต่อการรักษาได้ดี แม้ว่าแต่ละคนนั้นจะมีระดับการตอบสนองที่แตกต่างกัน โดยเคสที่ตอบสนองการรักษาได้ดีที่สุด คือผู้ป่วยหญิงวัย 47 ปี ที่เคยผ่านการรับยามะเร็งมามากกว่า 4 สูตรยา แต่โรคก็ยังกลับมา ทำให้ไม่ตอบสนองการรักษาตามมาตรฐานทั่วไป จากนั้นได้เข้ามาร่วมในงานวิจัยทางคลินิกกับเรา โดยเริ่มต้นผู้ป่วยรายนี้มีก้อนมะเร็งในช่องท้องขนาดใหญ่ประมาณ 10 เซนติเมตร หลังได้รับ CAR T Cell จากเซลล์ของเขาเอง ผ่านไปราวหนึ่งเดือน ก้อนเนื้อที่เคยมีขนาด 10 เซนติเมตรก็หายไปหมด และภายใน 1 ปีหลังจากเข้ารับการรักษา โรคก็สงบดี จนถึงปัจจุบัน ไม่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และการรักษาในรูปแบบอื่น ๆ เลย ถือเป็นเคสที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า CAR T Cell เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง”
อ.นพ.กรมิษฐ์เล่าต่อว่า “ส่วนคนไข้อีกคนเป็นผู้ชายอายุประมาณ 30 ปี เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในช่องอก ก่อนหน้าได้รับเคมีบำบัดไปหลายสูตร แต่ก็ไม่ตอบสนองการรักษา แต่หลังจากได้รับ CAR T Cell ตอนนี้ผ่านไป 10 เดือนแล้ว แม้ก้อนมะเร็งไม่หายไปอย่างชัดเจน แต่ขนาดของก้อนเนื้อก็ไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น”
นับว่าเป็นก้าวกระโดดสำคัญที่ส่งผลให้การพัฒนาในเฟสต่อไปเร่งเวลาเข้ามา รวมถึงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของโครงการนี้ ได้ดำเนินการขยับเข้าใกล้เป้าหมายความสำเร็จ โดยส่วนหนึ่งของความรุดหน้าของงานวิจัย อ.นพ.กรมิษฐ์ยอมรับว่า ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยทั้งจากภาคประชาชนและภาคเอกชนเป็นกำลังสำคัญ และโอกาสในการเข้าถึงการรักษามะเร็งด้วยนวัตกรรม CAR T Cell ของผู้ป่วยชาวไทยในราคาที่จับต้องได้ใกล้เข้ามาทุกที เพราะหากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การรักษาด้วยวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายเชิงพาณิชย์สูงถึง 15 – 20 ล้านบาท
ทุนสนับสนุนจากประชาชนและภาคเอกชน พลังสำคัญของความก้าวหน้านวัตกรรม CAR T Cell ของจุฬาฯ
จากอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงการรักษาด้วยวิธีการใช้เซลล์บำบัดมะเร็งหรือ CAR T Cell เชิงพาณิชย์ในต่างประเทศนั้น มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก ทางกลุ่มวิจัยจึงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมนี้ให้เกิดขึ้นจริงในไทย เริ่มจากจัดตั้งศูนย์การผลิตเซลล์และยีนบำบัดที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งนับเป็นสถานที่ผลิตเซลล์ภายในสถานพยาบาลแห่งแรกที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก ผศ. ภญ. ดร.สุพรรณิการ์ ถวิลหวัง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปลงพันธุกรรมของทีเซลล์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจาก อย. และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ในการพัฒนาระบบคุณภาพสำหรับควบคุมการผลิต เพื่อการผลิต CAR T Cell ที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานสากลขึ้นได้เองในไทย
ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังศึกษาวิจัยการผลิต CAR T Cell โดยไม่ใช้ไวรัส เพื่อลดต้นทุนการผลิตที่สูงเกินไป จนในที่สุดทางกลุ่มวิจัยประสบผลสำเร็จ ในการปรับปรุงกระบวนการและทดสอบการผลิต CAR T Cell แบบที่ไม่ใช้ไวรัสจากเลือดของผู้ป่วยอาสาสมัครชาวไทย โดยมีต้นทุนการผลิตลดลงถึง 10 เท่า จึงนำไปสู่ความร่วมมือในการวิจัยทางคลินิกต่อไป
อ.นพ.กรมิษฐ์ยอมรับว่า แม้จะประสบความสำเร็จมาระดับหนึ่งแล้ว แต่การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด มีต้นทุนสูงสำหรับการทำวิจัยในทุกขั้นตอน การสนับสนุนจากภาครัฐเพียงทางเดียวจึงยังไม่เพียงพอ พลังสำคัญจากภาคประชาชนและภาคเอกชนที่ร่วมบริจาคเข้ากองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยผลักดัน ให้สามารถพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มทิสโก้เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนงานวิจัยมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
“Direct Impact ที่สุดก็คือ คนไข้เข้าถึงการรักษาที่ดีขึ้นได้ ซึ่งนี่ถือเป็น Goal ที่เรามุ่งหวังไว้ และระหว่างทางของการทำวิจัย เราก็ได้นำเงินที่ได้รับจากการสนับสนุนของภาคประชาชน เอกชน และรัฐบาล ไปใช้พัฒนาบุคลากร ทั้งนักวิจัยและเจ้าหน้าที่ เราพัฒนานักวิจัยเพื่อคิดพัฒนาการรักษาใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งเป็นการรักษาต้นน้ำที่เราพัฒนาขึ้นมาในประเทศไทยเอง รวมถึงบุคลากรส่วนที่ 2 ที่ทำหน้าที่ผลิต ควบคุมคุณภาพของเซลล์ ซึ่งเราจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นมาเอง เพราะว่าเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีค่อนข้างใหม่ ก่อนหน้านี้ก็ยังไม่มีใครเคยทำ เราก็ค่อย ๆ เริ่มบุกเบิก ค่อย ๆ เริ่มเรียนรู้มา จนปัจจุบัน เราก็มีทีมที่สามารถเป็นคนผลิตและควบคุมการผลิต ควบคุมคุณภาพของเซลล์ที่เราเอามาใช้ทางคลินิกได้ตามมาตรฐานสากล”
นิตยสาร TRUST ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นหนึ่งในการผลักดันงานวิจัยรักษามะเร็งด้วยการบริจาคให้กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
– ระบบ CU Giving ตามลิงก์ https://www.chula.ac.th/about/giving/giving-application-form/
– บริจาคผ่าน E-donation ข้อมูลการบริจาคจะส่งตรงไปยังกรมสรรพากร เพียงใช้แอปพลิเคชันของธนาคารสแกน QR Code ด้านล่างนี้
#TakeActionTogether
ในปี 2566 นี้ กลุ่มทิสโก้เดินหน้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการรักษามะเร็งให้ก้าวหน้าต่อเนื่อง พร้อมเป็นกำลังใจให้กับสถาบันการแพทย์ไทย โดยนำส่วนหนึ่งของรายได้ค่าธรรมเนียมการขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวม ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง สมทบทุนบริจาคในโครงการ Fighting Cancer ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีม #TakeActionTogether
โดยร่วมกับพันธมิตร ลูกค้า และพนักงานจิตอาสาทิสโก้ จัดกิจกรรมให้การช่วยเหลือและส่งเสริมกำลังใจแก่ผู้ป่วยมะเร็ง ผ่านกิจกรรมที่จะจัดขึ้นตลอดทั้งปี ได้แก่ กิจกรรม Cut and Care กิจกรรมเย็บเต้ารวมใจ กิจกรรมทอรักถักหมวก โดยที่กลุ่มทิสโก้จะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อ “ลด ละ เริ่ม” เพิ่มรอยยิ้มเพื่อคนที่คุณรัก