ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล ภารกิจด้วยหัวใจ “ศิริราช” สถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน ที่อยู่กับคนไทยกว่า 136 ปี

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 68 | คอลัมน์ People

1 compress 82

“โรงพยาบาลศิริราช” ถือเป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกของแผ่นดินไทย ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ มีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีนามดั้งเดิมว่า “ราชแพทยาลัย” อันมีภารกิจหลักสำคัญในการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้และความสามารถ ส่งเสริมงานวิจัยให้บริการทางวิชาการแก่สังคม มุ่งมั่นในพันธกิจให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ คุณธรรม และทันสมัย ได้มาตรฐานสากล เรียกว่าสถาบันการแพทย์ของแผ่นดินแห่งนี้ยังก้าวเดินต่อไปอย่างเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพไม่หยุดนิ่ง เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี

    ครั้งนี้เราได้รับเกียรติจาก ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นแขกรับเชิญของนิตยสาร TRUST พร้อมกับคำตอบว่า “ศิริราชก้าวเดินบนเส้นทางแห่งความเป็นเลิศมากว่า 136 ปีด้วยแนวทางใดบ้าง”

    ก่อนเข้าสู่เรื่องราวการสานต่อภารกิจและการพัฒนาศิริราชไปข้างหน้าภายใต้บทบาทคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลคนปัจจุบัน ศ. นพ.อภิชาติย้อนเล่าถึงเส้นทางวิชาชีพ “แพทย์” ที่มีจุดเริ่มต้นวัยเรียนอยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์มากกว่าแพทย์ แต่ด้วยยุคของการสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยในเวลานั้นต้องเลือกลำดับคณะที่ต้องการเรียนจากค่าเฉลี่ยคะแนนที่สูงลงตามลำดับ ทำให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลถูกจัดเป็นอันดับหนึ่ง แน่นอนว่าผลสอบเอนทรานซ์ครั้งสำคัญของชีวิตนำพาสู่รั้วศิริราชในฐานะนักศึกษาแพทย์และอาชีพ “หมอ” ของคนไข้มากว่าสี่ทศวรรษ

    “เข้าเรียนแพทย์เมื่อปี 2524 เรียนจบก็เข้าทำงานที่ศิริราช เป็นอาจารย์ของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ สอนนักเรียนแพทย์ปี 2 อยู่ราว ๆ 3 ปี ก็ได้เวลาต้องใช้ทุนคืน ผมเลยเข้าไปฝึกหัดเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่ 3 ปี ที่แผนกศัลยกรรมกระดูก หลังจากนั้นมีโอกาสได้ทำงานเป็นอาจารย์หมอที่ภาควิชานี้ต่อไป ชีวิตเรียกได้ว่าไม่ได้ไปไหนเลยครับ อยู่ศิริราชมาโดยตลอด นับเป็นเวลากว่า 40 ปี ผมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านความเจริญก้าวหน้าทางกายภาพกว่าสามเท่าตัว โดยเฉพาะด้านบุคลากรที่ปัจจุบันทั้งระบบในวันนี้คือประมาณ 20,000 คน”

ศิริราชเรืองนามด้วยศรัทธาและความหวัง

    สมัยเป็นหนุ่มนักศึกษาแพทย์เคยมีคำถามกับอาจารย์หมอเกี่ยวกับบทเพลง “ศิริราชเรืองนาม” อันเป็นเพลงประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลว่า “ทำไมต้องศิริราชเรืองนาม” ซึ่ง ศ. นพ.วีกิจ วีรานุวัตติ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในตอนนั้น ได้จำกัดความให้เข้าใจความหมายว่า เพราะศิริราชเป็นโรงพยาบาลที่คนไทยทุกคนรู้จักและถ้าอยากหายป่วยต้องมารักษาที่นี่ รวมถึงถ้าจะเสียชีวิตก็ขอยอมเสียชีวิตที่ศิริราช เพราะเป็นสถานที่สุดท้ายที่จะฝากชีวิตไว้ ทว่าวันนั้นของนักศึกษาแพทย์คนนี้คงยังไม่เข้าใจลึกซึ้งนัก จนกระทั่งวันที่ตัวเองเป็นแพทย์ประจำบ้าน เป็นอาจารย์แพทย์ ถึงเข้าใจอย่างแท้จริงว่า คนไทยให้ความศรัทธาสถาบันการแพทย์ของแผ่นดินแห่งนี้จากภารกิจของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของศิริราชที่มีดีเอ็นเอและอัตลักษณ์ในการถูกสอนจากรุ่นสู่รุ่น ให้ทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุดอย่างเต็มความสามารถ

    ด้วยความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์ในวิชาชีพ พร้อมอีกเหตุผลสำคัญที่สุดจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชกาลที่ 9 ที่มีพระคุณูปการแก่กิจการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงทำนุบำรุงให้โรงพยาบาลศิริราชมีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

    “พระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนกสอนพวกเราเสมอว่า ให้คิดกิจประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง แต่กิจของเพื่อนมนุษย์ต้องเป็นกิจที่หนึ่ง และให้อยู่ในธรรมะแห่งวิชาชีพ แล้วลาภ ทรัพย์ เกียรติยศจะตกแก่ตัวผู้นั้น นี่คือสิ่งที่ถูกสอนรุ่นต่อรุ่นตลอดกว่าหนึ่งศตวรรษ ทำให้หมอศิริราชจึงไม่ใช่แค่หมอที่รักษาคนภายในประเทศไทย แต่สามารถเป็นหมอให้กับพลเมืองโลกได้เช่นกัน”

2 compress 90
3 compress 82

    และนั่นทำให้ ศ. นพ.อภิชาติดำรงเส้นทางวิชาชีพแพทย์ในความหมาย “ศิริราชเรืองนาม” อย่างภาคภูมิใจมาตั้งแต่วันนั้น “ผมเข้าทำงานที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด สอนนักศึกษาแพทย์ สอนแพทย์ประจำบ้าน สอนแพทย์ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูงขึ้น มีความรู้และประสบการณ์ มีทักษะชีวิต และอบรมให้เขามีอัตลักษณ์ของศิริราช เพราะเราเชื่อมั่นว่า นี่คือสิ่งที่เขาสามารถประสบความสำเร็จในการเป็นแพทย์ และได้รับการยอมรับจากทุกแห่งในประเทศไทย นอกจากนี้ ในส่วนของการดูแลคนไข้ OPD ที่เป็นหน้าที่ปกติของแพทย์ในการเข้าตรวจคนไข้ มา Follow up รวมทั้งคนไข้ ICU กลางคืนอยู่เวรตามหน้าที่แพทย์ แต่พออาวุโสขึ้นก็จะมีน้อง ๆ ทำหน้าที่นี้ ตัวเราก็ออกมาสร้างความรู้ใหม่ ๆ ผ่านกระบวนการทำวิจัย สร้างนวัตกรรม เพราะนี่เป็นอีกพันธกิจสำคัญของศิริราช”

    หลังจากนั้น ศ. นพ.อภิชาติได้รับโอกาสเข้าสู่เส้นทางสายงานบริหาร ที่เริ่มต้นจากตำแหน่งรองหัวหน้าภาคแล้วก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าภาคที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่แตกต่างจากความเป็นแพทย์โดยสิ้นเชิง

    “ทางผู้ใหญ่ให้เราเริ่มจากเข้ามาลองทำก่อนว่าทำได้ไหม ส่วนตัวผมพอได้ทำก็รู้ตัวเองว่ามีความสุขไปกับงานนี้ที่ตัวเราสามารถจูงใจให้ทุกคนมุ่งทำงานไปในแนวทางเดียวกันกับนโยบายศิริราชที่คาบเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหิดล ทุกอย่างจึงต้องสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งการสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากร ฯลฯ รวมถึงงานด้านบุคลากรก็ยิ่งไม่ง่ายเลย วันที่มีโอกาสเป็นหัวหน้าภาควิชาได้เข้าใจวิธีการเข้าถึงคน และเข้าใจวิธีเข้าถึงอาชีพหมอ ซึ่งยากมาก เพราะหมอต้องมาคุมหมอ ผู้ซึ่งมีหลักการและมีความเป็นวิชาการสูงมาก โดยทั้งหมดได้หล่อหลอมจากการทำงานในศาสตร์นักบริหาร”

    ช่วงหนึ่ง ศ. นพ.อภิชาติต้องหยุดพักบทบาทนักบริหาร เนื่องจากต้องทำตำแหน่งทางวิชาการให้เป็นศาสตราจารย์ จากนั้นกลับมาดำรงตำแหน่งรองบริหารฯ อีกครั้งในยุค ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประมาณ 6 ปี ก็ย้ายไปเป็นหัวหน้าภาควิชากระทั่งได้รับคัดเลือกเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในเดือนตุลาคม 2565

    “เมื่อได้เข้ามารับตำแหน่งฯ และได้ปฏิบัติภารกิจคณบดีคณะแพทยศาสตร์ฯ เหมือนทำให้เรามีเวลาน้อยลงครับ (ยิ้มอย่างอารมณ์ดี) ชีวิตวันทำงานของผมเริ่มประชุมทุกวัน 7 โมงเช้า พอประมาณ 08.00-08.30 น. ทุกคนก็กลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง ส่วนตัวผมมีทั้งงานที่ต้องทำในเวลา งาน Social หรืองานสังคม วันนี้ถามว่าอยากทำงานวิชาชีพหมอ อยากตรวจคนไข้ อยากผ่าตัดไหม? แน่นอนครับ เราเป็นหมอ ภารกิจช่วยคนไข้สำคัญที่สุดในวิชาชีพอยู่แล้ว แต่พอถึงจุดนี้ผมถือเป็นโอกาสสำคัญ ที่ท่านกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิลงความเห็นให้เราดำรงตำแหน่งนี้ ซึ่งผมจะทำให้ดีที่สุด”

4 compress 61

ศิริราชพร้อมดูแลสุขภาพคนไทย... To Protect, To Discover, To Inspire และ To Share

    ในฐานะผู้บริหารระดับสูงสุดของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภายใต้วิสัยทัศน์และพันธกิจแห่งสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน เพื่อสร้างองค์ความรู้ การบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและระบบสุขภาพในระดับโลก ด้วยแผนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน สู่ภารกิจสำคัญด้วยหัวใจและความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์แห่งศิริราช

    “ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับการดูแลชาวบ้าน ไปจนถึงพระมหากษัตริย์ ด้วยมาตรฐานการรักษาระดับนานาชาติ สะท้อนให้เห็นว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ของศิริราช ดูแลคนไข้ที่เข้ารับการรักษาอย่างดีที่สุด ทำให้ต้องบูรณาการตั้งแต่การดูแลคนไข้ การสร้างองค์ความรู้ในการทำวิจัย การสอนให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เข้าใจว่าระบบการดูแลรักษาที่ดีที่สุดคืออะไร จากองค์ความรู้ที่เรามีและนำความรู้ที่ได้จากประเทศต่าง ๆ มาประยุกต์ และศึกษาผ่านการทำวิจัย เพื่อนำไปใช้ในการให้บริการคนไข้ และพัฒนาสถาบันทางการแพทย์อย่างไม่หยุดยั้งต่อไป”

    ก้าวต่อไปของศิริราช ศ. นพ.อภิชาติได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับทิศทางและการเติบโตขององค์กรอย่างเชื่อมั่นว่า พันธกิจของ “ศิริราช” มีความพร้อมในการดูแลสุขภาพของคนไทยด้วยแนวทาง 4 ประการ ได้แก่

    • To Protect พร้อมให้การรักษาและบริการดูแลสุขภาพคนไทยทุกคน
    • To Discover พร้อมทุ่มเทและคิดค้นงานวิจัยเพื่อชีวิตคนไทยที่ดีกว่า
    • To Inspire พร้อมสร้างบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพแก่สังคมไทย
    • To Share พร้อมสร้างสังคมที่มีคุณภาพและแบ่งปันโอกาสให้กับทุกคน
5 compress 51
6 compress 42
7 compress 34

To Protect ดูแลสุขภาพคนไทยด้วยองค์ความรู้ที่ถูกต้อง

    ท่านคณบดีฯ ยังได้บอกถึงจำนวนคนไข้ OPD ในระบบของศิริราชว่ามีตัวเลขสูงถึง 15,000 คนต่อวัน โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลศิริราชมากถึง 12,000 คน โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จำนวน 2,000 คน และศูนย์แพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ต.ศาลายา จ.นครปฐม อีกประมาณ 2,000 คน ซึ่งหากนับตัวเลขรวมแล้วถือว่า เป็นโรงพยาบาลที่มีจำนวนคนไข้มากที่สุดในประเทศและในภูมิภาคอาเซียนแล้ว

    “เราไม่อยากให้คนไทยป่วย จริง ๆ แล้วสุขภาพเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่แค่หมอหรือพยาบาล ท่านต้องดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่มีใครอยากป่วยแน่นอน แต่เราทุกคนควรมีความรู้ ยิ่งถ้ามีความเสี่ยงจากโรค NCDs (Non-Communicable Diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่มาจากมรดกทางพันธุกรรม และความเสื่อมถอยของสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมัน และมะเร็ง ก็ต้องดูแลสุขภาพหมั่นพบแพทย์และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่มีผลเพื่อป้องกันการเกิดโรคข้างต้น รวมถึงต้องออกกำลังกาย และนี่คือสิ่งที่ต้องให้ความรู้ โดยศิริราชจะขับเคลื่อนการเป็นองค์ความรู้อย่างถูกต้องต่อไป”

To Discover สร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพของโลก

    หากจะลงลึกในรายละเอียดของ To Discover มองว่าเป็นการสร้างสิ่งใหม่ ๆ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ในแวดวงการแพทย์ผ่านการทำวิจัย เพื่อให้มั่นใจว่าความรู้เหมาะสมกับการดูแลคนไทย คนในภูมิภาคอาเซียน และคนบนโลกนี้ทุกคน ดังวิสัยทัศน์และพันธกิจที่มุ่งมั่นสร้างองค์ความรู้และการบริการที่เป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพของโลก แน่นอนว่าความสำเร็จของงานวิจัยสร้างชื่อให้โลกทั้งโลกมองมาที่ศิริราช แต่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ศ. นพ.อภิชาติกล่าวย้ำว่า คือ การเอาความรู้ใหม่ ๆ ไปต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นเพื่อสุขภาพที่ดีของพลเมืองโลกทุกคน

    “ที่ผ่านมา ศิริราชผลิตผลงานงานวิจัยการแพทย์น่าจะมากที่สุดในประเทศไทย แต่ละปีมีตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่มีคุณภาพสูงมากกว่า 1,200 เรื่อง ทุกงานวิจัยมุ่งเน้นไปกับเทรนด์โลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิแพ้ มะเร็ง หลอดเลือดและหัวใจ ไข้เลือดออก เบาหวาน และโรคอ้วน รวมถึงด้านการแพทย์ที่มุ่งเป้าใช้พันธุกรรม หรือในเรื่อง Enzyme Metabolism ที่บ่งชี้ว่าคนไข้มีโรคใดบ้างได้อย่างแม่นยำ และรักษาด้วยวิธีไหนจึงเหมาะสม ปีนี้เป็นปีประวัติศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในการได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากภายนอกค่อนข้างสูง เนื่องจากความมั่นใจในนักวิจัยของเราว่า สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้”

    นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลก่อตั้ง Siriraj Excellence Innovation Center เพื่อให้ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมร่วมสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาสู่นวัตกรรมเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย โดยเห็นความสำคัญในอนาคตที่ยั่งยืนต่อไปของโรงพยาบาลศิริราช “เรามีข้อมูลการวิจัยและพัฒนา (Research and Development: R&D) ที่อยากทำเป็นนวัตกรรมเยอะมากครับ ศิริราชได้ตั้งศูนย์ที่เรียกว่า Siriraj Excellence Innovation Center ให้ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมร่วมสนับสนุน โดยเป็นงานวิจัยที่จดสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาอันสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังขายเป็นลิขสิทธิ์เพื่อนำมาช่วยในระบบงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล”

To Inspire ความภาคภูมิใจส่งพลังเป็นแรงบันดาลใจแก่บุคลากร

    เพราะบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ “ศิริราชเรืองนาม” ได้กว่า 136 ปี โดยหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ทัศนคติการทำงานเพื่อประโยชน์ของคนไทยมากกว่าผลประโยชน์ของตัวเอง

     “เราต้องการ Inspire บุคลากรของศิริราชทำงานที่นี่ด้วยความภาคภูมิใจกับโอกาสของตัวเองในสถาบันที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ที่นี่สร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็นแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมหาศาลให้ออกไปรับใช้ประชาชนทั่วทุกแห่ง รวมไปถึงบุคลากรที่เกษียณจากการทำงานไปแล้ว ก็ยังมองกลับมาอย่างภาคภูมิใจว่า บุคลากรรุ่นใหม่คงเดินหน้าได้ตามวิสัยทัศน์และความตั้งใจของบูรพาจารย์ที่พวกเคารพและศรัทธา ซึ่งการเป็นองค์กรของภาครัฐที่อยู่มาถึง 136 ปีไม่ใช่เรื่องง่าย และวันนี้ก็สามารถเป็นตัวอย่างให้กับหลาย ๆ องค์กรในประเทศไทยที่อายุยาวนานแบบศิริราชได้เช่นกัน”

To Share ช่วยเหลือสังคมต่อเนื่องกว่า 136 ปี

     คำว่า To Share ในวันนี้ มาจากความพร้อมของศิริราชเพื่อช่วยเหลือสังคม สามารถดูแลรักษา และเป็นตัวอย่างของสถาบันด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทย “ศิริราชเป็นสถาบันที่สอนและให้ความรู้ สร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับประชาชน คนไข้เพียงหนึ่งคนที่รักษาหายจากศิริราช เขาไม่ได้ประโยชน์แค่คนเดียวครับ แต่คนไข้คนนี้สามารถกลับไปเป็นหัวหน้าครอบครัว ไปดูแลสมาชิกในครอบครัวให้อยู่ดีกินดีกัน ไปเป็นผู้นำในการทำมาหาเลี้ยงชีพสุจริต มันสะท้อนภาพใหญ่ของสังคมไทยที่สำคัญมาก ดังนั้น ทุกท่านที่เข้ามาสนับสนุนศิริราชไม่ว่าจะเป็นช่องทางใด เรื่องใด ฯลฯ ทั้งความรู้ เทคโนโลยี และการบริจาคผ่านศิริราชมูลนิธิ ล้วนแล้วแต่เป็นการช่วยเหลือทุกคนที่มารักษาที่นี่ และนั่นเป็นพันธกิจของศิริราชในการช่วยสังคมอย่างต่อเนื่องมาตลอด 136 ปีเช่นกันครับ” 

8 compress 27
9 compress 18

เติบโตอย่างยั่งยืนในฐานะสถาบันการแพทย์เพื่อแผ่นดินของคนไทย

    นอกจากโรงพยาบาลศิริราช ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ศาลายา นครปฐม ในปีที่ผ่านมาศิริราชยังได้เปิด Siriraj H Solutions ศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการสมดุลชีวิต ให้บริการด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และปรึกษาดูแลสุขภาพแบบองค์รวม บนถนนเจริญนคร (ตรงข้าม ICONSIAM) ด้วยแนวคิดในการลดความแออัดของคนไข้ในโรงพยาบาลศิริราช และทำให้ประชาชนเข้าสู่การดูแลสุขภาพของตัวเอง นับเป็นความชัดเจนตามแนวทาง To Protect ของงานบริหารอย่างเป็นระบบ

    “ที่นี่ประชาชนดูแลตัวเองด้วยการมาตรวจร่างกายประจำปี ฉีดวัคซีนที่เหมาะสม หรือหากปวดเมื่อย เป็นออฟฟิศซินโดรม ก็มีนักกายภาพบำบัด หรืออยากออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อ อยากวิ่งเร็ว อยากตีกอล์ฟไกล ๆ ก็มีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาให้คำแนะนำ เรามีอาจารย์ระดับศาสตราจารย์ด้านผิวหนังให้คำปรึกษาเกี่ยวกับผิวพรรณ มีแพทย์แผนไทยประยุกต์ช่วยสัปปายะให้มีความสบายเนื้อสบายตัว รวมถึงด้านอารมณ์ ความเครียด มีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาให้คำแนะนำที่เหมาะสม เรียกว่าที่นี่เป็นความตั้งใจ เพื่อลดจำนวนคนไข้ในโรงพยาบาลศิริราช อีกทั้งเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น” 

10 compress 13

    ปัจจุบัน ศิริราชยังได้สร้างศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ จ.สมุทรสาคร บนพื้นที่ 24 ไร่ โดยมุ่งหวังเป็นต้นแบบในการรักษาพยาบาลแบบองค์รวม พัฒนางานวิจัย และส่งต่อความรู้เชิงสุขภาพให้แก่สังคม เพื่อให้คนไทยมีอายุยืนไปพร้อม ๆ กับการมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งยังมุ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ในการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยเปิดให้บริการระยะที่ 1 ไปแล้ว และพร้อมเดินหน้าสร้างระยะที่ 2 ต่อไป

    นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีร่วมศิริราชและอาคารรักษาพยาบาลสูง 15 ชั้น เพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการการใช้พื้นที่บริเวณสถานีร่วมศิริราชของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนที่เดินทางในระบบขนส่งสาธารณะและผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลศิริราชมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าพร้อมเปิดให้บริการในปี 2570

ร่วมพันธมิตรช่วยส่งเสริมด้านสุขภาพเพื่อคนไทย

     “ผมคิดว่าประเทศไทยต้องดึงคนที่มีความเก่งแต่ละอย่างมาช่วยกัน พวกเราเป็นแพทย์ก็เก่งด้านการแพทย์ แต่อาจไม่เก่งด้านเทคนิค เทคโนโลยี หรือบริหารจัดการและการตลาด หรือด้าน AI ก็ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของเรา แทนที่จะสร้างทุกอย่างขึ้นมาเอง ซึ่งอาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้และมาพร้อมความสูญเสียงบประมาณอีกมหาศาล สร้างพันธมิตรที่เห็นประโยชน์ของชีวิตผู้ป่วยแล้วทำให้เกิดสิ่งดี ๆ ให้คนไทย มี Impact ในวงกว้างกว่า โดยเอาเรื่องสุขภาพและคุณภาพชีวิตมาเป็นเกณฑ์ใหญ่ ผมคิดว่าเป็นการดีที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับความเก่งซึ่งกันและกัน แล้วมาร่วมกันทำงานเพื่อผลประโยชน์เดียวกัน คือ เพื่อประชาชนคนไทย”

    เมื่อถามว่าเหนื่อยหรือไม่ กับภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในองค์กรที่ถูกเรียกว่าเป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดินนี้ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลกล่าวหนักแน่นและเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจว่า

    “ผมจะเหนื่อยได้อย่างไร เพราะผลลัพธ์ทุกงานที่ออกมาคือความสำคัญกับชีวิตคนจำนวนมาก ผมมีลูกน้องที่ต้องดูแลกว่าสองหมื่นคน มีหน้าที่ในฐานะผู้นำสูงสุดของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่จะครบวาระในเดือนกันยายนปี 2569 ซึ่งทุกวันนี้ผมยังสามารถสร้างสมดุลชีวิตของตัวเองได้ ผมโชคดีที่สุขภาพดี เพราะได้รับการสั่งสอนจากคุณพ่อให้เป็นนักกีฬาตั้งแต่เด็ก ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ ผมเล่นเทนนิส ปิงปอง แบดมินตัน ดูแลตัวเองในเชิงของอารมณ์และจิตใจพร้อมไปกับการดูแลสุขภาพกาย ผมมีเพื่อนร่วมงานที่ดี มีผู้สนับสนุนที่ดี มีอาจารย์ มีพี่ มีเพื่อน และมีน้อง ๆ ที่ทำงานด้วยความตั้งใจ รวมทั้งผมโชคดีที่มีครอบครัวที่ดี ภรรยาเป็นหมอรุ่นเดียวกัน ส่วนลูกชายสองคนจบการศึกษาและทำงานด้วยหน้าที่การงานที่ดี”

    และทั้งหมดถือเป็นพลังกายและพลังใจที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภารกิจคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลคนนี้นั่นเอง

Scroll to Top
ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น และนำเสนอโฆษณาที่เกี่ยวข้องและตรงกับความสนใจของท่าน โดยท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก นโยบายการใช้คุกกี้ กรุณากดยอมรับเพื่อยินยอมให้เราใช้คุกกี้

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็น

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึกการตั้งค่า