“ไบโอเทคโนโลยี” เทรนด์ลงทุนแห่งอนาคต
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 52 | คอลัมน์ Exclusive
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ “COVID-19” ที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 3 เดือนแรก ทำให้ประชาชนทั่วโลกตื่นกลัวและรอคอยอย่างมีความหวังว่าจะเห็น “วัคซีน” ถูกผลิตออกมาเพื่อยับยั้งการระบาดของเชื้อในเร็ววัน ท่ามกลางความคาดหวังดังกล่าว ทำให้ธุรกิจประเภทหนึ่งเริ่มกลายเป็นที่สนใจ นั่นคือ “ธุรกิจไบโอเทคโนโลยีทางการแพทย์” เพราะหากคิดค้นและพัฒนาวัคซีนยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ นั่นหมายถึงโอกาสที่การดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจจะกลับคืนสู่สภาวะปกติในเร็ววัน
หุ้นกลุ่ม “ไบโอเทคโนโลยี” จึงกลายเป็นที่จับตาในฐานะความหวังของนักลงทุน เพราะทุกครั้งที่มีข่าวว่ามีบริษัทไบโอเทคโนโลยีสักแห่งประสบความสำเร็จในการทดลองวัคซีน ราคาหุ้นของบริษัทนั้นก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว TRUST ฉบับนี้ จะพาไปรู้จักกับธุรกิจไบโอเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็น “ดาวเด่น” ในอุตสาหกรรมที่กำลังเป็น Megatrends ในตลาดโลก ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในช่วง COVID-19 และในอนาคต พร้อมกับแนะนำ กองทุนเปิด ทิสโก้ ไบโอเทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ กองทุนรวม “น้องใหม่” ของ TISCO ที่ตอบโจทย์การลงทุนได้ในทุกสภาวะตลาด
เจาะลึกโอกาสลงทุน กลุ่ม Healthcare
“ในการลงทุน คืออยากให้ทุกท่านมองลงไปให้ลึกและมองออกไปให้ไกล เราจะลงทุนอะไรถ้ามองไปในอนาคต สิ่งที่ควรดูก่อนเลยก็คือ เมกะเทรนด์อะไรที่จะมาแน่ๆ ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องของประชากรสูงวัยที่จะมีอัตราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2050 ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีมากกว่า 1 ใน 6 ของประชากรโลก สิ่งที่ตามมาก็คือเรื่องของการดูแลสุขภาพและการรักษา ฉะนั้น อุตสาหกรรม Healthcare จะมีบทบาทมากต่อโลกในอนาคต” คุณณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุน ทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพ
ภัยคุกคามจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่านวัตกรรมด้านการรักษา ไม่ว่าจะเป็นยาหรือวัคซีนล้วนเป็นสิ่งที่สังคมโลกต้องการอย่างเร่งด่วนและพร้อมจะจ่าย แม้ราคาจะค่อนข้างสูงเพราะเทียบไม่ได้กับสวัสดิภาพของประชากร ความมั่นคงของประเทศ และมูลค่าเศรษฐกิจที่สูญเสียไป แต่อันที่จริง ประชากรโลกก็รอคอยนวัตกรรมยาและการรักษาโรคร้ายแรงกันมาตลอดอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย (Aging Society)” มากขึ้นเรื่อยๆ
คุณณัฐกฤติ ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเทียบกับ GDP ย้อนหลัง 50 ปี (นับจากปี 1960) เพิ่มขึ้นถึง 818% ขณะที่ GDP โตขึ้นเพียง 168% และที่ผ่านมาสหรัฐฯ มีการใช้จ่ายเงินด้าน Healthcare มีสัดส่วนสูงถึง 18% ของ GDP และไม่ว่า GDP สหรัฐฯ จะสูงแค่ไหนก็ตาม แต่การเติบโตของค่ารักษาพยาบาลมักจะสูงกว่าเสมอ ตัวเลขเหล่านี้ยิ่งทำให้คุณณัฐกฤติ เชื่อมั่นว่า Healthcare เป็นอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตสูงและเหมาะแก่การลงทุน
คุณวรสินี เศรษฐบุตร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลด้านการลงทุนของหุ้นกลุ่ม Healthcare ที่ผ่านมาว่า ในขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงไปกว่า 14% แต่หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับปรับเพิ่มขึ้นมาถึง 26% เท่ากับว่าสามารถชนะตลาดได้ถึง 40% หรือช่วงที่ตลาดหุ้นอเมริกาปรับเพิ่มขึ้นถึง 30% หุ้นกลุ่ม Healthcare ก็ปรับขึ้นไปถึง 34% แม้แต่ในช่วงสงครามการค้าที่ตลาดหุ้นทั่วโลกย่ำแย่ ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 10% แต่กลุ่ม Healthcare ยังคงให้ผลตอบแทนเป็นบวกซึ่งเป็นเพียงเซ็กเตอร์ (Sector) เดียว
Biotechnology ดาวเด่นในอุตสาหกรรมดาวรุ่ง
“ในอุตสาหกรรม Healthcare ยังแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ กลุ่มธุรกิจบริการทางการแพทย์ และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ซึ่งถ้าเปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุน (EPS) จะพบว่ากลุ่มที่ถือเป็น “ดาวเด่น (The Star)” ทางการลงทุน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจไบโอเทคโนโลยี เพราะมี EPS สูงที่สุดใน 4 กลุ่มของ Healthcare” คุณวรสินี กล่าว
“ไบโอเทคโนโลยีทางการแพทย์” เป็นนวัตกรรมทางชีวภาพแห่งอนาคต อาทิ การผลิตวัคซีนและยารักษาโรค การผลิต Antibody เพื่อตรวจวินิจฉัยและเยียวยารักษาโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน DNA เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของโรคทางพันธุกรรม รวมถึงการคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรคอุบัติใหม่ที่มีความรุนแรง ซับซ้อน และหายาก
ตัวอย่างนวัตกรรมการรักษาโรคที่น่าสนใจที่เกิดจากการพัฒนาของกลุ่มธุรกิจไบโอเทคโนโลยี เช่น การจำลองระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์เพื่อยกระดับการทำงานในระดับโมเลกุล, การดัดแปลงไวรัสที่กดระบบภูมิคุ้มกันไม่ให้ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง, การใช้ DNA จำลองเพื่อแทรกแซงการทำงานของระบบเซลล์ในร่างกายให้ตอบสนองต่อโรคและการดัดแปลงพันธุกรรม โดยการตัด ลบ แยกส่วน หรือเพิ่มจำนวน DNA เพื่อเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันโรค
“ทำไมหุ้นกลุ่มไบโอเทคโนโลยี ถึงเป็นดาวเด่น” คุณวรสินีตอบด้วยการยกตัวอย่างบริษัทขนาดย่อมในประเทศจีนที่หลังจากมีข่าวว่ากำลังคิดค้นยาต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ใกล้สำเร็จ ราคาหุ้นบริษัทดังกล่าวปรับขึ้นมาเกือบ 400% และยังโชว์ด้วยพัฒนาการด้านการรักษาโรคมะเร็ง โดยหยิบงานวิจัยที่ระบุว่ากว่า 30% ของประชากรโลกหรือ 1 ใน 3 คน มีโอกาสเป็นโรคมะเร็ง แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 70% หรือ 2 ใน 3 ของประชากรโลก ขณะที่มะเร็งเป็นโรคที่คร่าชีวิตสูงสุดเป็นอันดับสองของโรคร้ายแรง แต่เป็นโรคที่มีค่ารักษาพยาบาลสูงที่สุดในโลก เพราะเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ปัจจุบันค่าเฉลี่ยการรักษาโรคมะเร็งต่อปีอยู่ที่ 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 27 ล้านล้านบาทต่อปี บริษัททางด้าน Healthcare รวมถึงบริษัทไบโอเทคโนโลยี จึงพยายามคิดนวัตกรรมในการรักษาโรคมะเร็งออกมาเป็นจำนวนมาก
วิวัฒนาการการรักษาด้วย “ไบโอเทคโนโลยี”
ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างการรักษาที่มีวิวัฒนาการโดดเด่นอย่าง “โรคมะเร็ง” โดยระบุว่ามีการพัฒนาขึ้นมากและนับจากนี้ไป จะไม่ได้พุ่งเป้าแค่การรักษามะเร็งให้หายขาด แต่หวังผลให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตหลังการรักษาได้ดีที่สุด จึงนำมาสู่พัฒนาการด้านการรักษา โดยเฉพาะการรักษาแบบพุ่งเป้า หรือ Targeted Therapy เป็นการใช้ยาพุ่งเป้านี้เข้าไปจัดการกับ “กลไกเร่งการกลายพันธุ์ (Driver Mutation)” ซึ่งไม่เพียงจะรักษาได้ผลดี คนไข้ยังฟื้นตัวได้เร็ว เพราะผลข้างเคียงน้อย ถือเป็นนวัตกรรมการรักษาที่ดีที่สุดในตอนนี้
อีกวิธีหนึ่งที่ถือว่าดีที่สุด คือการรักษาด้วยระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็น “ยาภูมิคุ้มกันบำบัด” ซึ่งเป็นยาที่มุ่งเข้าไปปรับการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้ทำงานได้ตามปกติ เพื่อที่เม็ดเลือดขาวจะได้เข้าไปจัดการกับเซลล์มะเร็ง โดยปัจจุบันได้รับการอนุมัติให้ใช้กับมะเร็งมากกว่า 20 ชนิด แต่มีข้อจำกัดคือ ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน ต้องใช้ยาต่อเนื่องระยะยาวหรือวิธี “เซลล์บำบัด” หรือ “คาร์ทีเซลล์ (CAR T-cell)” ซึ่งเป็นการเอาเม็ดเลือดขาวออกมาเลี้ยงและดัดแปลงยีนส์ (Genes) ก่อนฉีดกลับเข้าไปในคนไข้ ซึ่งวิธีการนี้ใช้ได้กับมะเร็งเม็ดเลือดขาวเท่านั้น ส่วนมะเร็งอื่นอาจต้องใช้วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
“ปัจจุบันในเมืองไทย ยาภูมิคุ้มกันบำบัดตกอยู่ที่เข็มละ 1.5 แสนบาท และต้องให้ทุกๆ 3 อาทิตย์ คนไข้บางคนให้ยามาแล้ว 81 เข็ม รวมแล้วก็หลายสิบล้านบาท หรือการบำบัดด้วย CAR T-cell มีค่าใช้จ่ายถึง 15 ล้านบาท จึงไม่น่าแปลกใจที่หุ้นกลุ่ม Healthcare และไบโอเทคโนโลยีในต่างประเทศจะมีราคาขึ้น” คุณหมอทิ้งท้ายว่า การรักษาที่ดีที่สุดคือการตรวจเจอเร็วที่สุด ซึ่งไบโอเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยได้ ส่วนสุดยอดวิวัฒนาการในการรักษาคือ “ชีวภาพ (Biology)” สารเคมีไม่มีทางชนะ Biology ได้ แปลว่าในอนาคต การรักษาจะมีความเฉพาะบุคคล (Personalized) มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับยีนส์ ระบบภูมิคุ้มกัน และสภาวะโรคของแต่ละคน ซึ่งเชื่อว่าจะให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด และส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพน้อยที่สุด
โฟกัสการลงทุนกลุ่มธุรกิจไบโอเทคโนโลยี
“การลงทุนในกลุ่มธุรกิจไบโอเทคโนโลยีทางการแพทย์มีความโดดเด่น เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจแห่งอนาคตที่สามารถทนทานต่อทุกสภาวะเศรษฐกิจ และมีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว จากสังคมผู้สูงอายุทั่วโลก จากความต้องการการดูแลสุขภาพทั้งเชิงป้องกันและการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการที่โรคในอนาคตน่าจะมีความซับซ้อนมากขึ้นและรักษายากขึ้น รวมถึง จากการเกิดโรคระบาดใหม่ที่รุนแรงและน่ากลัวมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเชื้อไวรัส COVID-19 คือตัวอย่างที่ชัดเจน” คุณสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บลจ. ทิสโก้ กล่าว
อัตราการเติบโตของกลุ่มธุรกิจไบโอเทคโนโลยี นอกจากจะมาจากความต้องการการดูแลตัวเองและรักษาโรคที่มากขึ้น ยังมาจากการควบรวมกิจการ และการได้รับการอนุมัติยาใหม่ๆ หรือแค่มีข่าวว่าคิดค้นยารักษาโรคร้ายแรงหรือโรคระบาดได้สำเร็จ ก็เป็นโอกาสหนุนให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว คุณสาห์รัชยกตัวอย่างหุ้นของ Fujifilm Holdings เจ้าของยาต้านไวรัส Avigan ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ได้ผลค่อนข้างดี
นอกจากนี้ เขายังยกตัวอย่างบริษัท Hemlibra หลังจากยาที่คิดค้นได้รับอนุมัติจากหน่วยงาน FDA (Food and Drug Administration) ของสหรัฐฯ ราคาหุ้นของบริษัทก็ปรับขึ้นมาทันที 100% หรือราคาหุ้น Amgen บริษัทไบโอเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามยาใหม่ๆ ที่ผ่าน FDA จนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวจากหุ้นละ 0.125 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1984 ปรับขึ้นมาเป็น 221 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น เพิ่มขึ้นมาถึง 1,774 เท่า ภายในเวลา 35 ปี หรือเฉลี่ย 23% ต่อปี
“ถามว่าในรอบ 10 ปี มีบริษัทแบบนี้อีกเยอะไหม ตั้งแต่ปี 2010-2019 มียาใหม่ผ่านการอนุมัติจาก FDA เฉลี่ยต่อปี 37 ชนิด โดยยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งได้รับความนิยมในการคิดค้นพัฒนา แต่ในปี 2019 ยาที่ผ่านการอนุมัติถึง 44% เป็นกลุ่มยารักษาโรคหายาก ซึ่งมีประชากรสหรัฐฯ ที่มีปัญหานี้ถึงกว่า 2 แสนราย ขณะที่ยาใน Pipeline ที่อยู่ระหว่างการทดลองในเฟสที่ 3 (เฟสสุดท้ายก่อนยื่นขออนุมัติจาก FDA) มีมากกว่า 20 รายการ”
การควบรวมกิจการเป็นอีกสปริงบอร์ดที่ทำให้หุ้นกลุ่มไบโอเทคโนโลยีเติบโตก้าวกระโดดและมีโอกาสเกิดขึ้นได้บ่อย เนื่องจากการคิดค้นและผลิตยา กว่าจะผ่านการทดลองจนได้รับอนุมัติ ต้องใช้เวลานาน ดังนั้น เพื่อย่นย่อระยะเวลา บริษัทยายักษ์ใหญ่จึงนิยมซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นบริษัทที่มีโอกาสพัฒนายาได้สำเร็จ ยกตัวอย่าง บริษัท Arqule หลังจากคิดค้นยาต้านมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสำเร็จ บริษัทยายักษ์ใหญ่อย่าง Merck เข้ามาซื้อ ทำให้มูลค่าหุ้น Arqule ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 107%
อีกความน่าสนใจของหุ้นกลุ่มไบโอเทคโนโลยี คุณสาห์รัชมองว่า มาจากอัตราราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) ของกลุ่มนี้ที่ยังต่ำกว่าหุ้นกลุ่มอื่น และ P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ขณะที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นดีกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้น หุ้นกลุ่มนี้จึงเป็นคำตอบสำหรับการลงทุนในขณะนี้ต่อเนื่องไปถึงอนาคต
TBIOTECH การลงทุนแห่งอนาคต
“…ต้องยอมรับว่า กว่าที่การพัฒนายาใหม่จะสำเร็จจนมาถึงขั้นที่ FDA อนุมัติ บริษัทไบโอเทคโนโลยีเหล่านั้นต้องใช้เวลาศึกษาวิจัยต้องมีการทดลองถึง 3 เฟส ซึ่งก็จะมีความยากลำบากกว่าที่จะได้ยาใหม่ออกมาแต่ละปี ซึ่งอาจมีสัดส่วนไม่ถึง 30% ของยาทั้งหมดที่ยื่นขออนุมัติด้วยซ้ำ ดังนั้น การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้จึงไม่ใช่ว่าจะลงทุนในหุ้นตัวไหนก็ได้ เพราะยาบางตัวอาจทดลองไม่ผ่าน หรืออาจขออนุมัติไม่สำเร็จ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นตัวไหนจะสำเร็จ หุ้นตัวไหนจะมีบริษัทยามาซื้อกิจการ นี่จึงเป็นที่มาที่เราอยากให้ลงทุนในกองทุนที่มีผู้ชำนาญในอุตสาหกรรมและกลุ่มธุรกิจนี้ช่วยดูแล”
เป็นที่มาของ “กองทุนเปิด ทิสโก้ ไบโอเทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ (TBIOTECH)” ซึ่งลงทุนในกองทุน Polar Capital Funds plc – Biotechnology ชนิดหน่วยลงทุน I US Dollar บริหารและจัดการโดย Polar Capital LLP มีนโยบายลงทุนอย่างน้อย 51% ของมูลค่าทรัพย์สินในตราสารทุนของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) การวินิจฉัยโรค (Diagnostics) และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต (Life Sciences Tools) ทั่วโลก ก่อตั้งในปี 2013
คุณสาห์รัชยืนยันว่า กองทุนหลักที่ บลจ.ทิสโก้ ลงทุนนั้น ผ่านการคัดสรรมาอย่างดี โดยนอกจากจะมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นภายใต้ระดับความผันผวนที่เหมาะสม จุดเด่นสำคัญยังอยู่ที่ความเชี่ยวชาญในการลงทุนในหุ้นกลุ่มไบโอเทคโนโลยี ของผู้จัดการกองทุน ซึ่งมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนี้มานานกว่า 19 ปี ทำให้เข้าใจถึงวัฏจักรของอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี จึงสามารถบริหารกองทุนจนได้ผลตอบแทน “ชนะ” ดัชนีชี้วัดของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งช่วงเวลา 1 ปี, 3 ปี และ 5 ปี
หัวใจความสำเร็จของกลยุทธ์การลงทุนของกองทุนหลัก ประกอบด้วย
- เน้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมที่จะมาปฏิวัติอุตสาหกรรมยาทั่วโลก
- ลงทุนแบบกระจุกตัว (High Conviction) ในหุ้นไบโอเทคโนโลยี 40-60 ตัว จากหุ้นไบโอเทคโนโลยีทั่วโลกประมาณ 700 ตัว
- มีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม โดยลงทุนในหุ้น 10อันดับแรก ประมาณ 50-60% และจำกัดการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวไม่เกิน 10% ของ NAV
นอกจากนี้ ยังมีการกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนไปในบริษัทหลายประเภท เช่น กลุ่ม Diversified Earnings บริษัทที่มีรายได้ค่อนข้างแน่นอน มีอัตรากำไรสูง มียาที่วางขายแล้ว เป็นบริษัทขนาดใหญ่ (Large-cap) มีมูลค่าตลาดกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยลงทุนไม่เกิน 10 บริษัท, กลุ่ม Revenue Growth บริษัทที่ยังมีกำไรไม่มาก มียาขายแล้ว 1-2 ชนิด เป็นบริษัทขนาดกลาง (Mid-cap) มูลค่าตลาด 1,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยลงทุนในกลุ่มนี้ถึง 10-20 บริษัท และกลุ่ม Clinical Development บริษัทขนาดเล็ก (Small-cap) มูลค่าตลาดต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในช่วงการพัฒนายา ยังไม่มีกำไร โดยมองเป็นโอกาสในการลงทุน และลงทุนในกลุ่มนี้ถึง10-30 บริษัท เป็นต้น
“สไตล์การเลือกของผู้จัดการกองทุน เขาจะให้น้ำหนักกับบริษัทที่ยังไม่ใหญ่มาก เน้นหาหุ้น Growth Stock ซึ่งการจะรู้จักบริษัทขนาดเล็กที่มีความสามารถในการวิจัยและพัฒนายารักษาโรคด้วยไบโอเทคโนโลยี และมองเห็นโอกาสความสำเร็จของบริษัทเหล่านั้นอย่างถ่องแท้ ต้องอาศัยผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมและมีทักษะในการเลือกหุ้น”
กองทุน TBIOTECH เหมาะกับใคร
คุณสาห์รัช กล่าวว่า กองทุนนี้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะกลางถึงระยะยาว โดยคาดหวังผลตอบแทนในระยะยาวที่ดีกว่า ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ และต้องการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม Healthcare และกลุ่มธุรกิจแห่งอนาคต หรือ “เมกะเทรนด์” ส่วนผลตอบแทนย้อนหลังเฉลี่ยอยู่ที่ 16.56% ต่อปี ขณะที่ดัชนีเฉลี่ยอยู่ที่ 8.65% ต่อปี โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา TBIOTECH ให้ผลตอบแทนชนะตลาดทุกปี
“วันนี้ ถ้านักลงทุนอยากลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและเป็นอนาคตของโลก ตลาดหุ้นไทยยังไม่มีบริษัทเหล่านี้ จึงต้องไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และถ้าจะลงทุนผ่านกองทุนรวม ก็ต้องบอกว่าในประเทศไทย ยังไม่มีกองทุนไหนเลยที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มไบโอเทคโนโลยี วันนี้ TBIOTECH ของเราเป็นกองแรกและกองเดียวที่ออกมาในตลาดไทย ณ วันนี้”
นอกจากนี้ กองทุนนี้ยังเหมาะกับผู้ลงทุนที่สามารถรับความผันผวนทางด้านราคาและรับความเสี่ยงในระดับสูงได้ กองทุนนี้มีความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) โดยเป็นความเสี่ยงจากการลงทุนต่างประเทศ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และการลงทุนที่กระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม จึงทำให้ความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน แต่ไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ หลังการเสนอขาย (IPO) รอบแรกเมื่อวันที่ 2-11 มี.ค. 2563 แม้กองทุนจะเปิดตัวในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยจะเป็นใจ แต่ปรากฏว่าเสียงตอบรับค่อนข้างดี จึงเตรียมขยายขนาดกองทุนจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 2,000 ล้านบาท
“โอกาสการลงทุนมีอยู่ในทุกสภาวะตลาดแม้ปัจจุบันตลาดหุ้นทั่วโลกจะเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต แต่เราพร้อมใช้ความเชี่ยวชาญคัดสรร “กองทุนคุณภาพ” มาเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าให้แก่ลูกค้า เหมือนกองทุน TBIOTECH ที่เราคัดสรรมา เพราะไบโอเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมที่เราเชื่อมั่นว่าเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องในระยะยาว” คุณสาห์รัชทิ้งท้าย