Socialgiver นวัตกรรมใหม่แห่งการ “ช้อป” เพื่อสังคม
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 44 | คอลัมน์ Giving
ปัญหาภาคสังคม อาทิ ความยากจน ความอดอยากหิวโหย ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่แก้อย่างไรก็ไม่มีวันจบสิ้น แต่หากปล่อยปละละเลยไม่ลงมือทำอะไรช่องว่างระหว่างความร่ำรวย – ความยากจนความมี – ความไม่มี จะยิ่งถ่างกว้างออกไปอีกลำพัง ‘พลังแห่งการบริจาค’ (Donation Power) อย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะต่อกรกับปัญหาดังกล่าวโมเดลอย่าง Socialgiver จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหวังเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้น
เปลี่ยนทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้เป็นเงินบริจาคใหม่
คุณอาชว์ วงศ์จินดาเวศย์ ผู้ก่อตั้ง Socialgiver สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งสำคัญที่ขาดแคลนในภาคสังคมทั่วโลก หลังจากคนรุ่นใหม่อย่างเขาเข้าไปคลุกคลีทำงานด้วยนั่นคือการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และเงินทุนที่จะหล่อเลี้ยงโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ให้อยู่รอด เขาจึงพยายามสร้าง ‘เงินบริจาคใหม่’ ที่มากกว่าแค่เงินบริจาคทั่วไปและสร้างระบบนิเวศแห่ง ‘การให้’ ด้วยการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมได้
มากขึ้นในทุกๆ วัน
เขาเล็งเห็นว่าภาคการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ของไทยที่สร้างมูลค่าให้ กับประเทศอย่างมหาศาล ยังมิได้ใช้ความสามารถในการบริการอย่างเต็มขีดจำกัด จึงคิดนำทรัพยากรของประเทศที่ไม่ได้ถูกใช้ หรือสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ มาสร้างคุณค่าต่อสังคมส่วนรวม ต่อตัวธุรกิจ และต่อประชาชนในฐานะ ผู้บริโภค ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีชื่อว่า Socialgiver ภายใต้สมการที่ว่า เพียงแค่ ‘ช้อป’ ก็เท่ากับ ‘ช่วย’ สังคม
“ปกติคนเราบริจาคเงินเพื่อทำบุญผ่านวัดหรือมูลนิธิต่างๆ อย่างมากไม่เกิน 1% ของรายได้ แต่ใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ กว่า 70% ไปกับการใช้ไลฟ์สไตล์ ในขณะที่ทรัพยากรการบริการที่ไม่ได้ใช้งาน แค่กลุ่ม Hospitality ของไทยอย่างเดียว มีมูลค่ามหาศาลถึง 39 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งเพียงพอที่จะ แก้ปัญหาความอดอยากของทั้งโลกได้เลยทีเดียว หากทุกธุรกิจในประเทศไทยร่วมกันแชร์ Capacity ที่ไม่ได้ใช้งานแม้เพียงแค่นิดเดียวเราจะสามารถพัฒนาสังคมและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มากขนาดไหน?”
สร้างสมดุลแห่งการให้ ทุกฝ่าย Win-win-win
นั่นเป็นคำถามที่จุดประกายให้คนรุ่นใหม่มีความหวัง และเริ่มขัดเกลาแนวคิด พัฒนา Socialgiver จนเป็นรูปเป็นร่างมาตั้งแต่ปี 2555 ก่อนเปิดตัวให้สาธารณะได้ช้อปช่วยสังคมกันเมื่อปี 2558 ผ่านช่องทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2561
งานยากของคุณอาชว์อยู่ที่ การสร้างสมดุลระหว่าง 3 ภาคส่วน คือ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และภาคสังคม ว่าใครจะ ‘ให้’ และ ‘รับ’ อะไรเพื่อทำให้ทุกฝ่ายเกิดความรู้สึก Win-win-win ไปด้วยกัน
อย่างภาคธุรกิจ เช่น โรงแรม ร้านอาหารบริการทริปทัวร์ ฯลฯ จะแบ่งปันทรัพยากรบริการที่มีอยู่ให้เขานำไปเปลี่ยนเป็นเงินทุนเพื่อสังคม โดยมอบเป็นส่วนลดหรือสิทธิพิเศษที่เรียกว่า Givecard เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคจับจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มของ Socialgiver ทั้งนี้ ภาคธุรกิจยินดีจะบริจาครายได้มากถึง 70% ของรายได้ให้กับโครงการเพื่อสังคมที่เขาเลือกให้การช่วยเหลือ และอีก 30% ที่เหลือให้ทาง Socialgiver เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ รวมทั้งการทำมาร์เก็ตติ้งให้คนทั่วไปรู้จักและใช้งาน Socialgiver มากขึ้นและติดตามผลงานของทุกๆ โครงการเพื่อสังคมที่ได้รับทุน ซึ่งในอนาคตเขาตั้งใจจะลดเปอร์เซ็นต์ที่ได้รับลง หากสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานลงมาได้ และมีผู้ใหญ่ในสังคมรายอื่นๆ นอกเหนือจาก ปตท. และ ไออาร์พีซี มาช่วยสนับสนุนอีกทางหนึ่ง
ประโยชน์ที่ภาคธุรกิจจะได้รับกลับคืนอาจไม่ได้อยู่ในรูปของตัวเงินโดยตรง เพราะไม่ได้รับรายได้จากการขายใดๆทั้งสิ้น แต่ประโยชน์ที่จะได้รับก็มีมูลค่าที่ประเมินมิได้ นั่นคือการได้ช่วยเหลือสังคมในอีกรูปแบบหนึ่งส่งผลให้องค์กรมีภาพลัก
สำหรับประโยชน์ที่ภาคธุรกิจจะได้รับกลับคืนอาจไม่ได้อยู่ในรูปของตัวเงินโดยตรง เพราะไม่ได้รับรายได้จากการขายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ประโยชน์ที่จะได้รับก็มีมูลค่าที่ประเมินมิได้ นั่นคือการได้ช่วยเหลือสังคมในอีกรูปแบบหนึ่ง ส่งผลให้องค์กรมีภาพลักษณ์ที่ดีควบคู่ไปกับการทำมาร์เก็ตติ้งที่เปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้เข้ามาทดลองใช้บริการของธุรกิจ และอาจพัฒนาเป็นลูกค้าที่จงรักภักดีต่อไปได้ในอนาคต
“แรกเริ่มเราพยายามคัดสรรประสบการณ์ที่ดีที่สุดในแต่ละกลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มโรงแรมเราหาบูติกโฮเทล
โฮสเทล และโรงแรมระดับ 5 ดาวที่ดีที่สุด หรือกลุ่มร้านอาหาร เราเลือกร้านที่ค่อนข้างหรูหรืออร่อยแต่ราคาสูง ปัจจุบันเราเริ่มขยายไปยังแบรนด์ที่ Mass มากขึ้นโดยดีลใหม่ที่เข้ามา เช่น Sizzler, Bar-B-Q Plaza, Major Cineplex เน้นตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ เพื่อให้คนได้กินและได้ใช้กันได้บ่อยๆ เวลานี้มีแบรนด์ชั้นนำยินดีเข้าร่วมทำความดีกับ Socialgiver กว่า 190 แบรนด์
จากการได้พูดคุยกับภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่ให้การตอบรับที่ดี เขาอยากจะให้อยู่แล้ว และมองว่าไม่ได้เสียอะไร อย่างมากก็แค่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนิดหน่อย เช่น ค่าทำความสะอาดห้องค่าวัตถุดิบในการทำอาหาร ซึ่งมันคุ้มสำหรับเงินที่ระดมทุนได้เพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคม ทั้งนี้ เราพยายามสร้าง Value ให้กับธุรกิจ โดยทำให้ต้นทุนการทำมาร์เก็ตติ้งของภาคธุรกิจต่ำลง รวมทั้งสร้าง Word of Mouth หรือกระบอกเสียงให้กับแบรนด์ในมุมที่ดี นี่เป็นสิ่งที่มีมูลค่าที่คนยุคนี้เชื่อใจมากที่สุด และไม่สามารถหาซื้อที่ไหนได้ ต้องสร้างขึ้นมาเอง”
เชื่อมโยงการให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคน
สำหรับภาคประชาชน Socialgiver เป็นที่รู้จักในฐานะแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ ที่ประชาชนคนทั่วไปสามารถช่วยเหลือสังคมได้ผ่านการใช้ชีวิตประจำวันอย่าง สนุกสนาน โดยสามารถช้อปสินค้าและบริการในราคาที่ดีที่สุด พร้อมกับสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ในทางอ้อมนี่คือความแตกต่างของการเลือก
ช้อปกับ Socialgiver ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มนี้ ราว 10,000 ราย
“เราพยายามเชื่อมต่อ ‘การให้’ เข้ากับ ‘ไลฟ์สไตล์’ ของคน ทุกครั้งที่อยากทานข้าวทุกครั้งที่อยากท่องเที่ยว
ทุกครั้งที่อยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ ทำคุณสามารถทำและสร้างประโยชน์ต่อสังคมไปพร้อมๆ กันได้
ในโลกที่ความเหลื่อมล้ำขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ Socialgiver จะเชื่อมโยงคนสองกลุ่มที่ต่างกันสุดขั้วเข้าด้วยกัน คือคนที่สามารถใช้จ่ายเป็นแสนต่อการท่องเที่ยว เป็นหมื่นต่อการพัก หรือหลักพันต่อการทานข้าว กับคนที่ไม่มีแม้แต่เงินมากพอที่จะซื้อข้าวกิน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถูกทิ้งให้อยู่ไกลสุดในสังคม ในระยะ ยาวผมหวังว่าการจับจ่ายที่มีคุณภาพ จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้ เพิ่มคุณภาพชีวิต ของผู้คนในสังคม และหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น”
เราพยายามเชื่อมต่อ ‘การให้’ เข้ากับ ‘ไลฟ์สไตล์’ ของคนทุกครั้งที่อยากทานข้าวทุกครั้งที่อยากท่องเที่ยว ทุกครั้งอยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ ทำคุณสามารถทำและสร้างประโยชน์ต่อสังคมไปพร้อมๆกันได้
สนับสนุนโครงการที่สร้างผลกระทบต่อสังคม
ในขณะที่การคัดเลือกโครงการเพื่อสังคมนั้น คุณอาชว์จะมีพาร์ทเนอร์และทีมที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในภาคสังคม คอยช่วยคัดกรองโครงการเพื่อสังคมทั้งของไทยและต่างประเทศในระดับหนึ่งก่อน จากนั้นเขาจะทำการคัดเลือกอีกที โดยเขาให้ความสำคัญกับโครงการที่ทำสิ่งใหม่ๆ ไม่เหมือนใคร ตลอดจนโครงการที่สร้างผลกระทบต่อสังคมในระยะยาว
เขายกตัวอย่างโครงการ Zy Movement Foundation ที่ระดมเงินบริจาคผ่าน Socialgiver ไปช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมนักบำบัดวอยต้า (Vojta) เพื่อฟื้นฟูเด็กที่แขนขาพิการมาแต่กำเนิด หรือสมองพิการให้พวกเขาเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วนักบำบัด 1 คน สามารถดูแลผู้ป่วยได้สูงสุด 40 คนต่อปี ที่มากไปกว่านั้นนักบำบัดยังสร้างการมีส่วนร่วมจากครอบครัวด้วยการฝึกสอน แก่คนในครอบครัวเพื่อให้เป็นอีกกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนากล้ามเนื้อ และเสริมทักษะของเด็กอย่างต่อเนื่อง เด็กเหล่านั้นจึงสามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี พร้อมที่จะใส่แขนขาเทียมออกไปใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ แทนที่จะต้องนั่งรถเข็นหรืออยู่ในบ้านไปตลอดชีวิต
“เวลานี้เราให้การสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมประมาณ 30 โครงการ โดยภาคธุรกิจจะเป็นผู้เลือกว่าจะช่วยเหลือโครงการใดบ้างส่วนภาคประชาชนยังคงเข้าไปช้อปเพื่อช่วยสังคมอย่างเดียว แต่ในอนาคตเราตั้งใจจะให้คนที่ใช้จ่ายเงินได้เป็นผู้เลือกด้วย
ปัจจุบันมี 10 โครงการ ที่ได้รับเงินบริจาคเพียงพอแล้วอีก 20 โครงการที่เหลือยังคง ระดมเงินบริจาคอยู่บนหน้าเว็บไซต์ โดยแต่ละโครงการจะเสนอเข้ามาว่าจะเอาเงินไปทำอะไรในแต่ละระดับอย่างทุก 4,270 บาท ที่สนับสนุนโครงการ 4DekDoi จะนำไปช่วยค่าอุปกรณ์การเรียนและอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนบน ดอย 1 คน ต่อ 1 ปีการศึกษา ซึ่งทางโครงการก็พอใจในสิ่งที่เราทำมาก ถึงขนาดส่งรูปภาพที่เด็กๆ วาดมาให้เป็นกำลังใจส่วนโครงการต่างประเทศนั้น เราจะช่วยเหลือในกรณีที่มีภัยพิบัติหรือล่าสุดเรากำลังช่วยพี่น้องผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอยู่”
อย่างไรก็ดี มีบางโครงการที่ทาง Socialgiver เข้าไปช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีการอื่นๆ นอกเหนือจากการระดมเงินบริจาค เช่น เขียนคอนเทนต์ให้ หรือส่งอาสาสมัครไปช่วยในเรื่องของการสื่อสาร เนื่องจากโครงการเพื่อสังคมส่วนมากมักมีปัญหาเรื่องการสื่อสารทำอย่างไรให้คนรู้จักโครงการที่ทำดีเหล่านี้มากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ของสังคมยังไม่ยอมรับกับการที่มูลนิธิต่างๆ จะนำเงินไปทำมาร์เก็ตติ้ง ทั้งที่เป็นวิธีการใช้เงินที่ไม่ผิด หากสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่า
การทำดีและหวังผลอาจดีต่อสังคมมากกว่าเพราะเราได้ความโปร่งใส ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น ในภาคสังคมในอนาคตผมอยากจะเห็นโลกที่ทุกธุรกิจจะอยู่ได้ต้องสร้างประโยชน์ต่อ สังคม
สร้างกระแสทำดี หวังผลและไม่ต้องปิดทองหลังพระ
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำ SocialEnterprise ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างคุณอาชว์ตระหนักดีว่า หากคิดจะแก้ไขปัญหาสังคมจำเป็นต้องทำเป็นกลุ่มและต้องจริงจังไม่ยอมแพ้ต่อปัญหานอกจากนี้ ภาคสังคมจะแข็งแรงได้จะต้องรู้จักรักษาสมดุลระหว่างการทำธุรกิจและการทำเพื่อการกุศลไปพร้อมกัน เพื่อมิให้เกิดข้อครหาว่าเอาปัญหาสังคมมาบังหน้าหากิน ทั้งที่โมเดลดังกล่าวเป็น Non-profit และทุกภาคส่วนล้วนเต็มใจที่จะให้ เขาชี้ว่านี่เป็นปัญหาของสังคมไทยที่ทำให้คนทำดีได้ยาก ส่งผลให้คนไม่อยากทำดีหรือหากอยากจะทำดีก็ต้อง…ปิดทองหลังพระ
“แต่ปัญหาคือ หากเราปิดทองหลังพระไม่มีการแชร์ให้คนอื่นเห็น ก็จะไม่เกิดแรงบันดาลใจอย่างเพื่อนเราไปทำดีมา เราก็อยากไปทำบ้างหรือควรจะไปทำด้วย ผมมองว่านี่คือสิ่งที่ขาดหายไปจากสังคมไทย ล่าสุดเราเพิ่งจะเปิดตัวโครงการ ‘แรดทำดี’ เราอยากให้คนทำดีอย่างเปิดเผย ทำดีด้วยความมั่นใจทำดีแล้วแชร์ว่าเขาทำนะ หรือแฮชแท็ก #แรดทำดี โปรโมตให้ทุกคนมาทำสิ่งดีๆ ผมหวังจะสร้างกระแสใหม่ให้ทุกคนในสังคมกล้าทำความดี ไม่ใช่แค่คนไม่กี่คนในสังคมที่ทำหรือไม่ใช่ทำเพียงแค่นิดหน่อยแล้วพอ ทุกคนควรจะแรดอย่างเต็มที่ในเรื่องของการทำดี”
อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันของฝั่งเอ็นจีโอที่เขามองเห็น คือ การไม่คิดเผื่อธุรกิจและไม่คิดเผื่อผู้ให้ ที่ต้องการ win-win เช่นกันแน่นอนว่าอาจขัดกับความเชื่อดั้งเดิมของคนไทยที่ปลูกฝังกันมา ตลอดว่าเวลาทำดี…อย่าหวังผล กระทั่งผู้ที่รับนำเงินไปทำอะไรต่อก็ไม่เกี่ยวข้องกับเรา
“ผมมองอีกมุมหนึ่งว่า การทำดีและหวังผลอาจดีต่อสังคมมากกว่า เพราะเราได้ความโปร่งใสได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้นในภาคสังคม ในอนาคตผมอยากจะเห็นโลกที่ทุกธุรกิจจะอยู่ได้ต้องสร้างประโยชน์ต่อสังคมหมายความว่าทุกธุรกิจต้องทำดีและทำธุรกิจไปพร้อมๆ กันประชาชนทุกคนต้องร่วมกันเลือกสนับสนุนธุรกิจที่ดีต่อสังคมเป็นหลัก เช่นเลือกซื้อสินค้าที่เป็น Eco – friendly เลือกใช้บริการกับโรงแรมหรือร้านอาหารที่สร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม มันเหมือนเป็นการโหวตอย่างหนึ่งว่าเราอยากเห็นสังคมส่วนรวมของเราดีขึ้น หากเราเลือกสนับสนุนธุรกิจที่ทำดี เมื่อนั้นบริษัทที่ทำไม่ดี ก็จะอยู่ไม่ได้ ผมเชื่อว่าการทำดีแล้วหวังผลจะทำให้สังคมของเราอยู่รอดได้ และเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง”
เป้าหมายสร้างสังคมแห่งการให้ที่แข็งแกร่ง
ถึงวันนี้โมเดลของ Socialgiver ยังคงได้รับการพัฒนาและขยายฐานผู้ใช้งานต่อไปไม่หยุดยั้ง หากจะมองเป้าหมายไปไกลกว่านั้นคุณอาชว์เผยว่า เขากำลังสนใจนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มของ Socialgiver ผ่านการระดมทุนด้วย ICO หรือ Initial Coin Offering เพื่อหวังสร้างพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมและเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากขึ้น
การระดมทุนรูปแบบใหม่นี้จะช่วยขับเคลื่อน Community Ownership โมเดลใหม่ให้เติบโตโดยไม่จำเป็นต้องสร้างผลกำไรเหมือนกับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน โฟกัสอย่างเดียวคือการขยาย Community ไปเรื่อยๆ เนื่องจากมูลค่าของ Token ของ Socialgiver จะขึ้นอยู่กับการที่มีคนเข้ามาใช้และถือ Token จำนวนมากนั่นเอง
เมื่อธุรกิจไม่จำเป็นต้องมีกำไรและกลายเป็นโมเดล Non-profit ที่มุ่งเน้นจะสร้างประโยชน์ต่อผู้ที่มีส่วนร่วมทุกคน ก็จะยิ่งสร้างสังคมแห่งการให้ที่แข็งแกร่ง ที่ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนและภาคสังคม Win-win-win ไปด้วยกันในการทำดี และสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่สนใจสนับสนุนการช่วยเหลือสังคมผ่านการ ‘ช้อป’ กับ Social-giver สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://th.socialgiver.com/
มุมมองจาก Partner
“การให้” เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เสมอ การแบ่งปันไม่ใช่แค่ผู้รับจะได้ประโยชน์ แต่ในความเป็นจริง ผู้ให้นั้นแหละได้ประโยชน์ ได้ทั้งความสุขใจจากการช่วยคนอื่น และการฝึกให้ลดความเห็นแก่ตัวลง พอเราได้เจอองค์กรอย่าง Socialgiver ที่ไม่ได้ทำเฉพาะเรื่องการให้ แต่ยังสร้างความยั่งยืนให้กับการให้ เราจึงขอมีส่วนร่วมในการให้นี้ครับ”
คุณพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือดีวาน่าสปา