สร้างโอกาสทางการศึกษา สร้างรอยยิ้มกว้างที่โรงเรียนบ้านจอหอ
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 46 | คอลัมน์ Giving
โรงเรียนบ้านจอหอ…โรงเรียนขยายโอกาสติดถนนมิตรภาพ ถือเป็นโรงเรียนนอกเมือง ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ 10 กิโลเมตร จึงไม่ใช่โรงเรียนตัวเลือกหลักในการสอบเข้าเรียนต่อ แต่เป็นโรงเรียนทางเลือกรอง สำหรับเด็กที่พลาดโอกาสจากโรงเรียนเป้าหมายในตัวเมืองและเด็กที่ไม่มีทางเลือกอื่น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ให้คณะครูที่นี่ทุ่มสุดกำลังเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพทัดเทียมโรงเรียนในตัวเมืองอยู่เสมอ
“นักเรียน คือสิ่งแรกที่ครูนึกถึง การได้เห็นเขาเติบโตขึ้น มีความสุขในการเรียน ประสบความสำเร็จในชีวิต นับว่าเป็นความสุขและสร้างรอยยิ้มให้ครูทุกคนที่นี่ สิ่งสำคัญที่ครูจะต้องมีก็คือความเข้าใจ และความใส่ใจ เพราะเด็กสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน และเด็กที่นี่ส่วนใหญ่ยังเป็นเด็กที่ไม่ค่อยมีโอกาสมากนัก จึงต้องเป็นหน้าที่ของครูที่ต้องสนใจ” อุทิศ โทแหล่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจอหอเล่าให้ทีมงาน Trust Magazine ฟัง ขณะที่กำลังง่วนอยู่กับการเตรียมเปิดอาคารเรียนหลังใหม่
กระบวนการสอนที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ โรงเรียนบ้านจอหอเน้นทักษะการอ่านออกเขียนได้ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการใน 8 กลุ่มวิชาสาระ ประกอบด้วย คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา สุขศึกษา พละศึกษา และศิลปะ แบ่งเป็นหลักสูตรปฐมวัยและมัธยม แต่ที่โดดเด่นคือที่นี่จะเน้นวิชาการเชิงบูรณาการ เพื่อให้เด็กได้คิดและลงมือทำจริงในสิ่งที่พวกเขาสนใจ
แค่ 8 วิชาสาระยังไม่พอ
ในด้านวิชาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจอหอเล่าว่า จำเป็นต้องวางพื้นฐานให้แน่น ตั้งแต่ช่วงชั้นประถม 1-3 จะเน้นการอ่านออกเขียนได้ คัดลายมือสวย คิดเลขเร็ว เพราะถ้าพื้นฐานตรงนี้แน่น การพัฒนาอีกสเต็ปก็ทำได้ง่ายขึ้น เห็นได้จากชั่วโมงแรกของการเรียนในแต่ละวันจะให้เด็กทำข้อสอบ โดยหยิบโจทย์ขึ้นมาให้เด็กทำแล้วจับเวลา แต่ละวันจะมีโจทย์ใหม่เรื่อยๆ แล้ววนกลับมาที่โจทย์อันเดิม เพื่อให้รู้พัฒนาการของเขาว่าดีขึ้นแค่ไหนเมื่อเทียบกับจุดเริ่มต้น ส่วนประถม 4-6 และมัธยม 1-3 จะเน้นให้ทำข้อสอบระดับชาติ
“ถ้าจะให้เด็กที่นี่ไปแข่งขันทางวิชาการโดยตรงก็คงจะลำบาก เพราะผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยรวมของเราไม่ได้โดดเด่น แต่ก็ไม่เคยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ แนวทางที่เราเลือกคือการสร้างประสบการณ์ชีวิตให้เด็กกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าลงมือทำ ภายใต้บรรยากาศที่เด็กก็ต้องอยากมาเรียนด้วย เพราะเราไม่ได้อยากสอนให้เขาแค่รู้หนังสือ แต่อยากให้เขานำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง”
สะเต็มศึกษา (STEM = Science Technology Engineering Mathematics) เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ ผู้อำนวยการ หยิบยกขึ้นมาเพื่ออธิบายให้เห็นภาพ “เราให้นักเรียนผลิตจรวดพับแล้วให้พุ่งไปในอากาศ โดยตั้งโจทย์ในแต่ละวันไม่เหมือนกัน เช่น จะทำอย่างไรให้จรวดบินไปไกลที่สุด บินได้สูงที่สุด หรืออยู่บนอากาศได้นานที่สุด ทำให้นักเรียนต้องออกแบบและประดิษฐ์จรวดปรับเปลี่ยน แก้ปัญหา ลองผิดลองถูก เพื่อให้ไปในจุดหมายที่ต้องการ ที่สำคัญคือพวกเขาได้สนุกกับการเรียนรู้ ได้แสดงความคิดเห็น เกิดกระบวนการความคิด กระบวนการกลุ่ม ได้พรีเซ็นต์หน้าห้อง สุดท้ายครูจะเป็นผู้สรุปและคลายคำถามที่นักเรียนสงสัย เมื่อเขาสนุก มีความสุขในการเรียน เขาจะจำได้นาน”
ด้วยความที่เด็กที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนพิเศษ หลังเลิกเรียนเวลาส่วนใหญ่เลยถูกใช้ไปกับการรอผู้ปกครองที่ทำงานอยู่ตามโรงงาน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารต่างๆ เป็นเหตุให้ผู้อำนวยการต้องเรียกประชุมคุณครู ผู้ปกครอง ผู้นำหมู่บ้าน 15 แห่งในบริเวณใกล้เคียง เพื่อช่วงชิงตัวเด็กจากพื้นที่เสี่ยง “โครงการบ้านหลังเรียน” จึงเกิดขึ้น
“เวลาที่เด็กกลับบ้านค่ำมืดก็มีความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งเรื่องมั่วสุม ยาเสพติด ถูกล่อลวง ติดเกม เราเลยหาทางนำเด็กมารวมกัน และให้เขาเลือกทำกิจกรรมในสิ่งที่เขาสนใจ โดยให้ครูอาสาแวะเวียนกันดูแลเขา จนกว่าผู้ปกครองจะมารับ”
จากการสำรวจความต้องการของเด็ก ผลที่ออกมา มี 3 กิจกรรมที่อยู่ในความสนใจ นั่นคือ “ศิลปะ ดนตรี กีฬา” กิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่แค่ดึงความสนใจของเด็ก แต่ยังสามารถสร้างชุมชนที่หล่อหลอมเยาวชนคุณภาพได้ โครงการนี้จึงกลายเป็นตัวชูโรงที่ทำให้โรงเรียนทั่วประเทศต้องหันมามองโรงเรียนบ้านจอหอแห่งนี้ เพราะโรงเรียนจะส่งเด็กๆ เข้าประกวดแทบจะทุกสนาม และเด็กๆ ยังสามารถคว้ารางวัลมาได้เกือบทุกสนามแข่งขัน จนเป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนและยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงเรียนดีศรีโคราช” อีกด้วย
อาคารเรียนใหม่สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการเรียนรู้
โรงเรียนบ้านจอหอในวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยสามารถดึงดูดให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาต่อจนมีจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาที่ตามมา คือ อาคารเรียนไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนเกือบ 800 คน อีกทั้งยังมีความเก่าทรุดโทรม ฐานรากผุกร่อนตามกาลเวลา “แรกเริ่มเราพยายายามเสนอเรื่องของบประมาณตามขั้นตอน ปีแล้วปีเล่า เราทำได้แค่รอคิวในการจัดสรร” ผู้อำนวยการ เล่า
จากวันนั้นจนถึงตอนนี้ ในวันเปิดอาคารเรียนหลังใหม่ ครูแอ๊ด พรพนา ช่างเกวียนศิษย์เก่าและอดีตครูโรงเรียนบ้านจอหอเล่าใหัฟังด้วยความปลาบปลื้ม “ธนาคารทิสโก้เข้ามาสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ให้เรา ที่นี่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นโรงเรียนขยายโอกาส นักเรียน 80% มาจากครอบครัวยากจน 50% เป็นเด็กกำพร้า การเข้ามาสร้างอาคารทิสโก้ร่วมใจ 6 จึงเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนในอาคารเรียนที่มีมาตรฐาน ครูเชื่อว่าจะทำให้เขาอยากมาโรงเรียน อยากเข้าเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอนก็มีครบ ครูก็เพิ่มเทคนิคในการสอนได้ ส่งผลดีต่อผลการเรียนของเด็ก เห็นได้ชัดเลยว่า จากเดิมมีเด็กส่วนหนึ่งต้องไปเรียนในอาคารเรียนชั่วคราวไปตามสภาพ ผลการเรียนเขาก็ตก แต่พอได้ขึ้นมาเรียนในอาคารใหม่ เราเห็นใบหน้า หน้าตา ที่มีแต่รอยยิ้ม เขามีความสุข เวลาเรียนเขาก็ตั้งใจฟังครู”
ด้วยความพร้อมของอาคารเรียนทิสโก้ร่วมใจ 6 ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น ขนาด 18 ห้องเรียน ที่กลุ่มทิสโก้ ร่วมกับพันธมิตรและผู้มีจิตศรัทธา มอบให้โรงเรียนบ้านจอหอแห่งนี้ ได้ช่วยให้เด็กในชุมชนใกล้เคียงสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นโครงการต่อเนื่องโครงการหนึ่งภายใต้กรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของกลุ่มทิสโก้ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม ด้วยการมอบโอกาสทางการศึกษาอันเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน
ซึ่งกลุ่มทิสโก้ยังคงเดินหน้าโครงการ เพื่อสร้างรอยยิ้มและคุณภาพชีวิตให้แก่นักเรียน ครู และบุคลากรของโรงเรียนที่ยังรอคอยโอกาสและการสนับสนุนกันอีกต่อไป
คุณวิเชียร จันทรโนทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
“ผมเคยมาเยี่ยมที่นี่เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน หลังจากนั้นได้ติดตามความคืบหน้า ความก้าวหน้าในการจัดการศึกษา พบว่าโรงเรียนแห่งนี้ประสบความสำเร็จในการจัดระบบการศึกษาอย่างดียิ่ง วัดจากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นทุกปี นั่นหมายถึงความไว้วางใจจากผู้ปกครอง เพราะการที่เป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้เมืองแบบนี้ ถ้าพิสูจน์ให้ผู้ปกครองเห็นไม่ได้ว่าเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพ ผู้ปกครองก็จะนำบุตรหลานไปเรียนในเมืองซึ่งอยู่ไม่ไกล เด็กที่นี่เก่ง กล้าแสดงออก โดดเด่นทั้งศิลปะ ดนตรี กีฬา การที่เราขาดเหลือ (อาคารเรียน) แล้วท่านได้มาเติมเต็ม จะยิ่งสร้างกำลังใจให้ครูทุกคนที่นี่พัฒนาการเรียนการสอนที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป”
คุณอนันต์ กิตติวิทยากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ L&E
“เหตุผลที่เราเข้าร่วมสนับสนุนการสร้างอาคารเรียนกับกลุ่มทิสโก้ เพราะ 3 ปัจจัยคือ
- มองว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
- คุณภาพชีวิตเป็นเรื่องสำคัญมาก เราทำธุรกิจเกี่ยวกับแสงสว่าง ถ้ามีอาคารเรียนใหม่แต่แสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่ดีพอ หรือไม่ถูกจุด ก็ทำให้เด็กสายตาเสียได้ ทีม L&E จึงทำงานร่วมกับทีมวิศกรของทิสโก้อย่างใกล้ชิด และ
- เป็นเรื่องของผลพลอยได้ ทั้งการปลูกฝังให้เด็กรู้จักประหยัดพลังงานและภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร”